THAI Smile Safety Symposium 2019 เพราะการบินปลอดภัย คือความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562

THAI Smile Safety Symposium 2019 เพราะการบินปลอดภัย คือความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง


เหตุผลของคนไปงานสัมมนา อาจเพราะเป็นเรื่องที่เขาสนใจ เป็นเรื่องใกล้ตัว สาระข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับงาน THAI Smile Safety Symposium 2019 ที่สายการบินไทยสมายล์จัดขึ้นมา ต้องยอมรับว่าฉีกกฎงานสัมมนาทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เพราะงานนี้คิดและทำเพื่อ “ทุกคน” โดยเฉพาะผู้โดยสารบนเครื่องบินให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุดนั่นเอง  

THAI Smile Safety Symposium 2019 เกิดขึ้นจากความตั้งใจของผู้บริหารของบริษัทฯ และทางฝ่ายความปลอดภัยและความมั่นคงการบินของไทยสมายล์ที่ต้องการตอกย้ำ “มาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน คือหัวใจในการทำงานของธุรกิจ” จึงเชิญชวนบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวงการธุรกิจการบิน ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุในราชอาณาจักร บริษัทท่าอากาศยานไทย กรมท่าอากาศยาน บริษัทวิทยุการบิน และ สายการบินต่าง ๆ มาร่วมกันรับฟังและระดมความคิดในเรื่องระบบการบริหารจัดการความปลอดภัย (Safety Management System: SMS) ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานที่ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เน้นย้ำมาโดยตลอด และยังมุ่งหวังให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในอุตสาหกรรมการบินในประเทศ พร้อมปูทางไปสู่ข้อกำหนดขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้สำเร็จในเร็ววัน

ระบบการบริหารจัดการความปลอดภัย (SMS) มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะองค์ประกอบที่ 4 เรื่อง Safety Promotion ในหัวข้อสัมมนาที่ต้องยกนิ้วให้ “Safer Thai Smile Safer Thailand” ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เกิดระบบความปลอดภัยที่ดีแก่องค์กร งานนี้ถูกจัดในรูปแบบการบรรยายและการเสวนา โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ มาให้ความรู้ เริ่มกันที่ Session1 :THAI Smile SMS, Safety Policy and Cultures  โดย “นาวาอากาศเอกสุรเชษฐ์ สุระกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยและความมั่นคงการบิน “เกษมสันติ์ บริบูรณ์สมสิน” ผู้จัดการแผนกความปลอดภัยการบิน ขอใช้พื้นที่นี้ปรับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจทุกคนกันก่อน โดยมีผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย “ชาริตา ลีลายุทธ” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “กัปตันอภิธัช ลิมปิสวัสดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด รวมถึง “กัปตันเจตน์ เมืองครุธ” ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยด้านการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมเผยถึงความมุ่งมั่นว่าจะยึดถือการบินไทยเป็นต้นแบบ เน้นพิจารณาการลงทุนที่เหมาะสม และประกาศความพร้อมสนับสนุนทรัพยากรเงินทุน บุคลากร และการอบรมต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานทุกภาคส่วนเกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความปลอดภัย ตลอดจนตอกย้ำวัฒนธรรม Just Culture ที่ไทยสมายล์ยึดถือมาโดยตลอด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ไม่มีบทลงโทษ หากแต่การกระทำนั้นต้องไม่ได้เกิดจากการตั้งใจในการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อส่งต่อความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของพนักงานทุกคนในองค์กร

Session 2: Aviation Medicine Procedures and THAI Smile Case Study for Sharing โดย พล.อ.ต.นายแพทย์บัณฑิต วงษ์เจริญธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์การบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้มาชี้ให้เห็นความสำคัญขั้นตอนการตรวจทางด้านเวชศาสตร์การบินทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติ เพื่อให้เกิดความพร้อมมากที่สุดในการกลับไปปฏิบัติหน้าที่การบินด้วยความปลอดภัย ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน

Session 3 : Thailand Aviation Safety Roadmap โดย CAAT ซึ่งดร.ไพสิฐ เหราบัตย์ ผู้จัดการฝ่ายนิรภัยการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เผยถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ICAO และวางรากฐานของระบบ Reporting System เพื่อเป็นฐานข้อมูลของการพัฒนาทางด้านความปลอดภัย นอกจากนั้น ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ยังได้ร่วมเสวนาบอกเล่าข่าวดีในการเตรียมความพร้อมการผลักดันให้เกิดแผนนิรภัยแห่งชาติที่สมบูรณ์ตามแผน Effective Implementation SSP ให้ลุล่วงตามกรอบแผนงานภายในปี ค.ศ. 2025 ตลอดจนเร่งศึกษาและกำหนด Safety Performance Indicators เพื่อเป็นตัวชี้วัดทางด้านความปลอดภัยอีกด้วย

ปิดท้ายกันที่ Session 4 : AAIC Procedures and Coordination โดย AAIC โดย “วีณา นุสดิน” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (AAIC) กระทรวงคมนาคม เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานส่งคำถามเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ส่วนใหญ่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับ Serious Incident ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาเหตุอุบัติการณ์รุนแรงที่ต้องผ่านมติของคณะกรรมการการสอบสวน และความพร้อมของ AAIC ในการรับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ส่วนการออกปฏิบัติการในกรณีเกิดเหตุเร่งด่วนที่จำเป็นที่ต้องให้หน่วยงาน AAIC เร่งเข้าตรวจสอบเพื่อปลดพิทักษ์อากาศยาน หรือในกรณีเกิดความจำเป็นอื่นๆ ก็สามารถประสานงานไปยังหน่วย AAIC เพื่อนำเรื่องเข้าคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตามแต่กรณี นอกจากนั้นยังได้ให้ข้อมูลถึงการตรวจร่างกายหลังจากเกิดเหตุการณ์ว่าบุคคลใดต้องได้รับการตรวจบ้าง และมีกระบวนการตรวจอย่างไร เป็นต้น

ถึงแม้ THAI Smile Safety Symposium 2019 จะจัดขึ้นเฉพาะกลุ่มคนในวงการบินเท่านั้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า สัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการทุกคนจริงๆ เพราะความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนดังคำกล่าว “Together for Safety” ดังนั้นไทยสมายล์และบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินทุกภาคส่วนจึงต้องเดินหน้าผลักดันระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยอย่างจริงจัง ยึดมั่นในมาตรฐานอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และดูแลความปลอดภัยอย่างรอบด้าน สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้โดยสารและผลักดันอุตสาหกรรมการบินของไทยให้มุ่งสู่มาตรฐานสากลอย่างเต็มรูปแบบสูงสุด     



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ