“อธิรัฐ” สั่งกรมเจ้าท่ายึดกรอบ 8 ด้าน เตรียมของบ 3 พันล. แก้ปัญหาภัยแล้ง

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562

“อธิรัฐ” สั่งกรมเจ้าท่ายึดกรอบ 8 ด้าน เตรียมของบ 3 พันล. แก้ปัญหาภัยแล้ง


จากนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำของกรมเจ้าท่า (จท.) จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (2561-2580) และแผนพัฒนาด้านคมนาคม ระยะ 8 ปี ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ได้ให้บูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมเจ้าท่าบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยกรมเจ้าท่าจะต้องช่วยขุดลอกคูคลอง ลำน้ำที่ตื้นเขิน และขยายลำน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งได้

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้กรมเจ้าท่า (จท.) ดำเนินการตามกรอบนโยบาย 8 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านความปลอดภัยทางน้ำ เน้นความปลอดภัยในทุกด้านเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้บริการทางน้ำ เพิ่มมาตรฐานการดูแลความปลอดภัยทางน้ำทางทะเล ทั้งท่าเรือ เรือ อุปกรณ์ช่วยชีวิตได้มาตรฐานสากล ควบคุมตรวจตราให้เรือทุกลำที่อยู่ในน่านน้ำไทยต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย คนประจำเรือต้องมีมาตรฐานในแต่ละประเภท มีระบบตรวจสอบและติดตามเรือ กองเรือไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกำหนด

                2. ด้านการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทางน้ำกับการขนส่งรูปแบบอื่นและการพาณิชยนาวี พัฒนาการคมนาคมทางน้ำให้เป็นการเดินทางและขนส่งทางเลือกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เชื่อมโยงกับระบบการขนส่งอื่นอย่างไร้รอยต่อ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเมือง โดยมีนโยบายเร่งด่วนเรื่องการยกระดับท่าเรือสาทรเป็นสถานีเรือต้นแบบ และพัฒนาท่าเรือบางสะพานเพื่อขนส่งรถไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะต้องปรับปรุงพื้นที่หลังท่าเรือ บูรณาการกับกรมทางหลวงเพื่อปรับปรุงเส้นทางเข้าออกทางให้มีความสะดวก

3.ด้านการดูแลรักษาสภาพลำน้ำ ให้ จท. พัฒนาลำน้ำและแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ในความดูแล โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ป้องกันอุทกภัย ดูแลสภาพลำน้ำ จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการขุดลอกในพื้นที่วิกฤติเร่งด่วน

4.ด้านการพัฒนากฎหมายทางน้ำ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของ จท. โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และกฎหมายว่าด้วยเรือไทย เพื่อยกระดับกองเรือไทย ท่าเรือไทย คนประจำเรือไทย และการเดินเรือของไทย รวมทั้ง มาตรการสอบสวนและป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำมาตรการป้องกันและรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำเป็นมาตรฐานสากล ให้การเดินเรือมีความปลอดภัยรองรับการตรวจประเมินของ IMO ในปี 2564 และการจัดระเบียบเรือ ท่าเรือ โดยให้ดำเนินการด้วยความละมุนละม่อม

5.ด้านการพัฒนาโครงสร้างองค์กรและการบริหารจัดการ จัดรูปแบบองค์กรใหม่ให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัวและเหมาะสม จัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างและภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่อยู่ในภูมิภาคให้มีโครงสร้างองค์กรที่สอดคล้องกับภารกิจในการให้บริการประชาชน

6.ด้านการบริหารท่าเทียบเรือที่ก่อสร้างโดย จท. เร่งรัดการหาผู้บริหารท่าเทียบเรือ โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการสรรหาผู้เข้าบริหารท่าเทียบเรือตามผลการศึกษา อาทิ ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด ท่าเทียบเรือประหยัดพลังงาน ตำบลศาลาลอย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่าเทียบเรือคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

7.ด้านการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเร่งรัดให้มีการทำงานตามสัญญาและงวดงาน เบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้จัดทำแผนการปฏิบัติการ แผนงาน โครงการที่สำคัญ โดยจัดทำรายงานความคืบหน้าเสนอกระทรวงฯ เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผน

8.การบริหารราชการด้วยระบบการสื่อสาร ระบบดิจิทัลและการพัฒนานวัตกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมาใช้ในการบริหารราชการภายใน จท. พัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (BigData) ในการบริหารราชการของ จท. ที่มีระบบการวิเคราะห์ และแบ่งปันข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมฯ เตรียมของบประมาณ จำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขุดลอกคลองในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้ ยังมีปัญหาการรุกล้ำลำน้ำกว่า 50,000 ราย แต่สามารถแก้ไขไปได้แล้วกว่า 90% ส่วนที่เหลือจะเร่งแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 นี้

สำหรับการพัฒนาท่าเรือโดยสารเป็นสถานีเรือ ยกระดับการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีมาตรฐานปลอดภัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นอย่างไร้รอยต่อ ปัจจุบันได้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ จำนวน 16 ท่า และอยู่ระหว่างพัฒนาท่าเรือเป็นระบบปิด โดยมีโครงการนำร่อง จำนวน 3 ท่า ประกอบด้วย ท่าสาทร ท่าช้าง และท่าเตียน รวมงบประมาณในการปรับปรุงท่าเรือเป็นระบบปิดทั้งหมด 19 ท่า จำนวน 800 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงท่าเรือเป็นระบบปิดที่สาทร ใช้งบประมาณจำนวน 14 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2564



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ