อัด 1 ล้านล.อุ้ม ศก. ดัน ‘เมด อิน ไทยแลนด์’ กู้ชาติ!

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2562

อัด 1 ล้านล.อุ้ม ศก. ดัน ‘เมด อิน ไทยแลนด์’ กู้ชาติ!


เศรษฐกิจโลกส่อเค้าซึมยาวหลังจีนลดค่าเงินหยวนเอาคืน มะกันขึ้นภาษีล็อตใหม่ 3 แสนล้าน กระทบส่งออกไทยวิกฤติหนักจนอาจถึงขั้นติดลบในปีนี้ รัฐบาลเร่งผ่านงบประมาณปี 63 กว่า 3 ล้านล้านหวังกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายให้จีดีพีโต 3-4% ประกันราคา 5 พืชเศรษฐกิจ ตรึงราคาพลังงาน ขึ้นทะเบียนผู้รายได้น้อย ส.อ.ท.ยกโมเดล เมด อิน ไทยแลนด์กู้ชาติ เน้นกระตุ้นการบริโภคภายใน ก่อนขยายตลาดสู่ CLMV

ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยกำหนดกรอบวงเงินรายจ่ายจำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.7% โดยงบประมาณปี 2563 แบ่งออกเป็น 1.รายจ่ายประจำ 2,393,120.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120,463.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.3% 2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท 3.รายจ่ายลงทุน 655,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,861.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.9% 4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 89,170.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10,964.9 ล้านบาท หรือ 14% โดยรัฐบาลมีรายได้สุทธิ 2,731,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 469,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.2% ทั้งนี้ ในการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ มาจากการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 ขยายตัวระหว่าง 3.-4% เงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.8-1.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

>>> อัด 1 ล้านล้านเข้าสู่ระบบ

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า รัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระแรก ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ และคาดว่าจะใช้งบประมาณได้ภายในปลายเดือน ม.ค. หรืออย่างช้าเดือน ก.พ.2563 โดยช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีปฏิทิน 2562 (ต.ค.-ธ.ค.) นี้ จะมีงบประมาณที่นำออกมาใช้และนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้กว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ไม่ให้ทรุดลงไปได้

>>> ประกันรายได้พืช 5 ชนิด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมมอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์อย่างเป็นทาง การ เป็นการหารือร่วมกันกับผู้บริหารเพื่อกำหนดเป็นทิศทาง โดยได้ข้อสรุปแนวนโยบายมอบผู้เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันในการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นคือการประกันรายได้เกษตรกร พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด เริ่มต้นเคาะประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มกิโลกรัมละ 4 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ จ่ายผ่านบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส.ทุก 3 เดือน

>>> นำร่อง ปาล์ม-ยาง

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่าการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันทั้งระบบโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 100 คนทั้งกระทรวงพาณิชย์ เอกชน และตัวแทนเกษตรกร ทั้ง 3 ฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันว่าจะมีการดำเนินการตามนโยบายประกันรายได้ชาวสวนปาล์มของรัฐบาล กำหนดรายได้ประกันกิโลกรัมละ 4 บาท ที่น้ำมัน 18% โดยจัดประกันรายได้ให้ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ ทั้งนี้ ในเรื่องของการคิดคำนวณส่วนต่างที่จะโอนผ่านบัญชีของธนาคาร ธ.ก.ส.โอนให้เกษตรกรนั้น คิดคำนวณจากรายได้ที่ประกันกิโลละ 4 บาทลบด้วยราคาตลาด ณ ช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งจะคำนวณทุก 15 วัน มีอนุกรรมการ ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นเป็นผู้คำนวณ ส่วนในเรื่องของการโอนเงินส่วนต่างนั้นจะโอนให้ปีละ 4 ครั้งหรือที่เรียกว่าจะโอนให้ทุก 3 เดือน เข้าบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นบัญชีโดยตรง

ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ปชป. จ.ตรัง กล่าวถึงการเดินหน้าประกันรายได้ยางและปาล์ม โดยระบุว่า การประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ได้หยิบยกการประกันรายได้ ยาง ปาล์ม ตามสัญญา ซึ่งตนได้นำเสนอในที่ประชุมว่าต้องทำตามสัญญา คือการประกันรายได้ปาล์มที่กิโลละ 4 บาท ยางพาราที่กิโลละ 60 บาท ครัวละไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่งรมว.พาณิชย์ และ รมว.เกษตร ยืนยันพร้อมเดินหน้าแน่นอน

>>> อุตฯเคาะราคาอ้อย ต.ค.นี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลัง นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะสมาคมชาวไร่อ้อย จาก 36 สมาคม 4 องค์ กร เข้าพบที่กระทรวงอุตสาหกรรมว่า ตัวแทนชาวไร่อ้อยต้องการให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี2562/63 คุ้มต้นทุนการผลิต ซึ่งเบื้องต้นได้มอบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไปพิจารณาดูมาตรการช่วยเหลือต่อไปเพื่อให้ทันเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในตุลาคมนี้ ซึ่งชาวไร่อ้อยอยากได้ระดับราคา 1,000 บาทต่อตัน แต่ยอมรับว่าเท่าที่ดูเบื้องต้นน่าจะได้แค่ระดับ 900 บาทต่อตัน เพราะราคาตลาดโลกตกต่ำจึงให้สอน.ไปดูรายละเอียดอีกครั้ง โดยมาตรการช่วยเหลือจะไม่ขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก

>>> ตรึงราคาพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเร่งด่วน โดยจะดูแลราคาพลังงานไม่ให้เป็นภาระของประชาชน ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานได้มีมาตรการออกมาแล้วคือ การตรึงค่าครองชีพ ค่าอาหารและค่าโดยสารรถสาธารณะ ประกอบด้วย การช่วยเหลือราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ แผงลอย ร้านข้าวแกงต่างๆ จะได้รับประโยชน์ประมาณ 1.7 แสนกว่ารายทั่วประเทศ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงพลังงานสามารถซื้อก๊าซหุงต้มในราคาถูกกว่าปกติ ขณะเดียวกันก็ได้ยืดเวลาในการอุดหนุนราคาก๊าซเอ็นจีวีให้รถแท็กซี่ รถตู้ร่วมขสมก. รถสามล้อ รถโดยสารร่วม ขสมก. บขส. และรถตู้ร่วมบสข.รวมๆ แล้วถึง 8 หมื่นราย สามารถเติมเอ็นจีวีได้ราคาต่ำกว่าปกติเช่นเดียวกัน มาตรการทั้งสองส่วนนี้จะมีผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงถึง 2.5 แสนราย ซึ่งกระทรวงพลังานไม่ใช่แค่ต้องการช่วยเหลือแม่ค้า หาบเร่แผงลอย และผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะต่างๆ เท่านั้น แต่ประโยชน์ที่แท้จริงที่ผมต้องการคือดูแลต้นทุนชีวิตของคนเล็กคนน้อย ทำ ให้ค่าใช้จ่ายประจำวันที่จำเป็นของพี่น้องประชาชนไม่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณา ยกระดับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ดีขึ้นเพื่อตอบโจทย์การช่วยเหลือด้านพลังงานอย่างชัดเจน อาทิ เรื่องของค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับคนรายได้น้อย รวมถึงค่าใช้จ่ายพลังงานอื่นๆ เป็นต้น

>>> เข้มขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอรัฐบาล เปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนใหม่ภายในปีนี้ พร้อมกับสวัสดิการใหม่ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะมาลงทะเบียน ให้นำรายได้และทรัพย์สินของครอบครัว อาทิ รถยนต์ เข้ามาอยู่ในเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติ ซึ่งในรอบนี้จะมี การตรวจสอบเข้มงวดมากกว่าเดิม โดยตั้งคณะกรรมการท้องถิ่นเข้ามาช่วยตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อให้การแจกบัตรคนจนได้ตรงจุดมากขึ้น พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาคนที่มีฐานะดี แต่ได้รับสิทธิบัตรคนจน สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่ของบัตรคนจน สศค.จะ นำรายได้ครอบครัวมาพิจารณาด้วย ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวมีสมาชิก 4 ราย แต่คนหารายได้มีเพียง 1 คน คือพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว ดังนั้นหากรายได้ครอบครัวอยู่ที่ 400,000 บาทต่อปี พิจารณาตามจำนวนสมาชิก ก็มีสิทธิ์ได้รับบัตรคนจน ทั้งนี้ จากเกณฑ์เดิมกำหนดคุณสมบัติบัตรคนจน ดังนี้ 1.รายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 100,000 บาท 2.มีบ้านขนาดบ้านไม่เกิน 25 ตารางวา (ตร.ว.) และคอนโดฯ ขนาดไม่เกิน 35 ตารางเมตร (ตร.ม.) และ 3.มีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเองไม่เกิน 1 ไร่ และมีที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 10 ไร่

>>> หนุน เมด อิน ไทยแลนด์กระตุ้นบริโภค

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงข้อเสนอ เมด อิน ไทยแลนด์ ที่เสนอต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เพื่อให้ภาครัฐเป็นผู้นำร่องใช้สินค้าไทยจากผู้ผลิตคนไทย ในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพึ่งพาการบริโภคในประเทศ จากปัจจุบันรายได้ของประเทศส่วนใหญ่มาจากการส่งออก สำหรับแนวทางที่เอกชนเตรียมเสนอคือการเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้ได้การรับรอง อาทิ มาตรฐานไอเอสโอ มอก. ฮาลาล ฉลากเขียว รวมทั้งสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมขึ้นจดทะเบียนบัญชีนวัตกรรมให้มากขึ้น และช่วยเหลือเรื่องการขอเงินกู้จากภาครัฐ นอกจากนี้จะจัดประกวดสินค้าคุณภาพเพื่อให้ยอมรับสินค้าในกลุ่มเมด อิน ไทยแลนด์ และพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าหาสินค้าที่น่าสนใจและตรวจสอบข้อมูล เพื่อบ่งบอกแหล่งผลิต มาตรฐานการผลิต และประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้ ซึ่งแนว ทางทั้งหมดต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เพื่อให้สินค้าของคนไทยได้รับการยอมรับ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

 

“ในอดีตสินค้าไทยอาจยังไม่ค่อยได้มาตรฐาน แต่ขณะนี้อุตสาหกรรมไทยปรับตัว มีความแข็งแกร่ง ได้มาตรฐานระดับสากล ขณะที่ปัญหาสงครามการค้าทั่วโลกเริ่มรุนแรงขึ้น มีมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบต่างๆ จึงอยากให้รัฐบาลฟื้นเรื่องเมดอิน ไทยแลนด์ขึ้นมา ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการไทยจะอยู่ไม่ได้”

>>> ยืนยันไม่ขัด WTO

ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้ทำการศึกษามาตรการและแนวทางเพื่อการส่งเสริมการใช้สินค้าไทย หรือ เมด อิน ไทยแลนด์ เพื่อเป็นวาระแห่งชาติที่จะไม่ขัดกับระเบียบองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อนำเสนอรัฐบาลพิจารณาและให้การสนับสนุนต่อไป เนื่องจากปัจจุบันการค้าโลกเปลี่ยนไป มีสงครามการค้าเกิดขึ้นที่อาจทำให้สินค้าต่างชาติไหลบ่าเข้าไทย ซึ่งสินค้าที่ผลิตได้จากประเทศไทย ส่วนใหญ่มีมาตรฐานไทย ควรสนับสนุนการใช้ในประเทศเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับเศรษฐกิจไทย แม้ว่าปัจจุบันจะมี พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างที่มีข้อกำหนดส่งเสริมการใช้สินค้าไทยอยู่แล้ว เช่น หากมีผู้ยื่นเสนอขายสินค้าให้กับรัฐที่เป็นของไทยเกิน 3 ราย หากมีราคาสูงกว่าต่างชาติไม่เกิน 10% และมีมาตรฐานตรงตามที่กำหนดจะต้องใช้สินค้าไทย แต่ที่ผ่านมามีการดำเนินการตามแนวทางนี้น้อยมาก

ดังนั้น อยากให้รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดและออกมาตรการใหม่ๆ ส่งเสริมการใช้สินค้าไทยที่ไม่ขัดกับกติกาของ WTO โดยระยะแรก อาจจัดทำซอฟต์แวร์หรือแอพ พลิเคชั่น พร้อมจัดทำเรตติ้งของบริษัท ผู้ผลิตสินค้าของคนไทยว่าได้รับความนิยมมากเพียงใด และมีการรีวิวสินค้าจากผู้ใช้ เพื่อให้หน่วยงานราชการและเอกชนเข้ามาเลือกซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น และรับรู้รายละเอียดต่างๆ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้ขายสินค้าของคนไทยเข้าถึงผู้ซื้อทั้งภาครัฐและเอกชนได้มากขึ้น ซึ่งมาตรการสนับสนุนให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเติบโต และพัฒนาสินค้าได้เร็วขึ้น เพราะรัฐบาลมีงบประมาณ รายจ่ายกว่า 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นการจัดซื้ออุปกรณ์ ครุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งหากเม็ดเงินจำนวนนี้ตกไปอยู่กับผู้ประกอบการคนไทย ก็จะช่วยพัฒนา ยกระดับอุตสาหกรรมได้มาก โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ส่วนใหญ่ไม่เคยผลิตภายในประเทศ ซึ่งหาก มีผู้ประกอบการไทยเข้ามาผลิตในอุตสาห-กรรมเหล่านี้ ก็ควรให้การสนับสนุนเต็มที่

>>> ชู ญี่ปุ่น-เกาหลีตัวอย่าง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ความสำเร็จของจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศมีนโยบายส่งเสริมให้ภาคราชการใช้สินค้าในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจมีเม็ดเงินเข้าไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้รวดเร็ว โดยเฉพาะจีนที่สามารถผลิตรถ ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง จากเริ่มต้นต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากเยอรมนี ภาครัฐก็ให้การสนับสนุน ทำให้โครงการรถไฟฟ้าทั้งประเทศล้วนแต่ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตในจีน และกลายเป็นผู้ส่งออกรถไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก ส่วนในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ภาครัฐและเอกชนก็ช่วยซื้อรถยนต์ที่ผลิตในประเทศในระยะแรก แม้ว่าคุณภาพจะสู้ต่างประเทศไม่ได้ แต่ปัจจุบันค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ประเทศนี้ก็มีความแข็งแกร่งเป็น ผู้ส่งออกชั้นนำของโลก

“รัฐบาลในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ควรเข้ามาช่วยซื้อสินค้าของคนไทยให้เป็นแบบอย่างก่อน เพื่อช่วยประคองธุรกิจคนไทย โดยเฉพาะการผลิตสินค้าใหม่ๆ ซึ่งหากรัฐบาลเริ่มใช้ ภาคประชาชนก็จะค่อยๆซื้อตามมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันสินค้าไทยมีมาตรฐานสูงคุณภาพดี เห็นได้จากผู้ซื้อในอาเซียน ต่างก็ให้ความเชื่อมั่นสินค้าไทย” นายเกรียงไกร กล่าว

>>> ต่อยอดสู่ CLMV

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน กล่าวว่า ตนได้รับเชิญจากสมาคมธุรกิจเอสเอ็มอีในเกาหลีใต้ ให้ไปเป็นที่ปรึกษากับนักธุรกิจเกาหลีใต้กลุ่มหนึ่งในเมืองเล็กๆ เพื่อออกแบบสินค้ามาเจาะตลาดเมืองไทย สาเหตุที่นักธุรกิจเหล่านั้นต้องการโฟกัสการเจาะตลาดเมืองไทย เพราะคนไทยมีทัศนคติที่ดีต่อแบรนด์เกาหลี ตั้งแต่สินค้าไฮเทคไปจนถึงเครื่องสำอาง แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ หากเจาะตลาด เมืองไทยได้สำเร็จเท่ากับได้ตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) มาเป็นของแถม เนื่องจากคนใน 4 ประเทศ เดินตามไลฟ์สไตล์คนไทย

สอดคล้องกับ นายเลิศรัชต์ อัครพัศพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรัทธาทัวร์ นักธุรกิจผู้มีประสบการณ์เปิดร้านอาหาร ‘สบาย..สบาย’ ในเมียนมากว่า 30 ปี ที่กล่าวว่า คนเมียนมาชอบสินค้าไทย ถ้าพอใจ โดนใจ ติดยาวเลย ยกตัวอย่างไก่ย่าง 5 ดาวของซีพี เปิดขายข้างถนน ตอนนี้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในเมียนมา ตัวละประมาณ 300 บาท ขายดีมาก คนเมียนมาไม่เคยกินส้มตำ เดี๋ยวนี้ชอบมาก มีขายตามตลาด กะปิก็เป็นอะไรที่โดนใจ แม้คนเมียนมาจะกินอยู่แล้วแต่รสชาติกะปิเมียนมาออกเค็มไม่เนียนเหมือนของเรา อาหารขาดความหลากหลาย เนื่องจากอิทธิพลของอาหารอินเดียที่เข้าไปในสมัยอังกฤษปกครอง แกงกะหรี่ไก่ กะหรี่เนื้อ กะหรี่หมู กะหรี่กุ้ง กะหรี่ไข่ ทุกอย่าง curry หมด พอมาเจออาหารไทย ได้กินอาหารไทย เป็นอะไรที่สุดยอด ชอบสมุนไพรไทยเพราะสมุนไพรของเขาสู้ของเราไม่ได้ การนวดก็ชอบนวดแบบไทย นวดแบบเมียนมาไม่เอา แม้กระทั่งหนังไทยดังอย่างไม่น่าเชื่อใน เมียนมา ดูคนละ 3-4 รอบเป็นอย่างต่ำ ‘พี่มากพระโขนง’ อาจเป็นเพราะโลเกชั่นในหนังเหมือนกับเมียนมาในอดีต หรือตามชนบทในปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นบรรพบุรุษของเราปูพื้นไว้หมดแล้ว เราเพียงแต่สานต่อ ส่วนจะเข้าอย่างไร ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับข้อมูล ซึ่งจะทำให้เรารู้จักเขาดียิ่งขึ้น ถ้าเรานำของใหม่ๆ เข้าไปก็จะได้รับความนิยม ถ้าเข้าได้ สินค้าไปไกลแน่นอน

>>> ส่งออกเพื่อนบ้านโตต่อเนื่อง

นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2562 (มกราคม-มิถุนายน) การส่งออกของประเทศไทยไปยัง CLMV ยังคงเติบโตใกล้เคียงกับปี 2560 และปี 2561 โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.33 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 4.36 แสนล้านบาท และปี 2560 มีมูลค่า 4.11 แสนล้านบาท โดยประเทศที่มูลค่าการส่งออกของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องได้แก่ เวียดนาม โดย 6 เดือนแรกของปี 2560, 2561 และ 2562 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.8, 1.85 และ 1.93 แสนล้านบาทตามลำดับ และกัมพูชา มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท 1.07 แสนล้านบาท และ 1.09 แสนล้านบาทตามลำดับ โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการในกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันและเชื้อเพลิงเครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งถือว่ายังมีมูลค่าการส่งออกเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ