“S.A.T.I.” พลิกโฉมเกษตร บุกศูนย์ช็อปปิ้ง ‘โดรน!’

วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

“S.A.T.I.” พลิกโฉมเกษตร  บุกศูนย์ช็อปปิ้ง  ‘โดรน!’


โดน เมด อิน ไทยแลนด์ผงาด กลุ่ม S.A.T.I. ผุด ปัญญาโดรนชูมาตรฐานระดับสากลแต่ราคาถูกกว่า20-30% หวังพลิกโฉมเกษตรกรไทยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต จับมือพันธมิตรเปิดช็อปกระจายทุกภูมิภาคเป็นทั้งศูนย์จำหน่ายโดรน, ศูนย์ฝึกอบรมการบินให้กับเกษตรกร, รับซ่อมโดรน, บริการหลังการขายรวมทั้งจัดการลงทะเบียนสมาชิกทั้งหมด รับกระแสสมาร์ทฟาร์เมอร์ฮิต คาดมูลค่าทั่วโลกแต่ 4.5ล้านล้านบาทภายในปี 2563 เนื่องจากถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ตั้งแต่รดน้ำ พ่นปุ๋ย พ่นยา หว่านเมล็ดพันธุ์หนุนตลาดโตมากกว่า 10% ต่อปี จากกลุ่มลูกค้าที่เพิ่งจบการศึกษารวมถึงมนุษย์เงินเดือนที่หันไปทำเกษตรยุคใหม่

ปัจจุบันกระแสสมาร์ทฟาร์เมอร์กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงโดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนทำงานประจำที่หันไปทำการเกษตรกันมากขึ้นโดยมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงและสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มมูลค่าผลผลิตได้ตามต้องการซึ่งกลุ่มลูกค้าที่มาซื้อโดรนไม่ใช่เกษตรกรรายเดิมๆ ที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว แต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษากลุ่มพนักงานประจำที่หันไปทำเกษตร รวมถึงกลุ่มอื่นๆ เช่นกลุ่มผู้ขายปุ๋ยขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ต้องการนำโดรนไปรับจ้างบริการฉีดพ่นปุ๋ยให้กับลูกค้าในพื้นที่S.A.T.I.พลิกโฉมเกษตร

นายจตุพงศ์ โตวรรธกวณิชย์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส.เอ.ที.ไอ.แพลต ฟอร์ม จำกัด ผู้ผลิตปัญญาโดรนและตัวแทนจำหน่ายโดรนการเกษตรนำเข้า กล่าวว่า บริษัทเริ่มต้นธุรกิจด้วยการเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายโดรนการเกษตร DJIซึ่งเป็นโดรนมาตรฐานระดับโลกจากจีน ซึ่งต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ 3-4 ปี  โดรนยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่นับจากปี2017 ภาค การเกษตรเริ่มตื่นตัวมากขึ้นเพราะภาครัฐและบริษัทที่ทำด้านการเกษตรมีการประชาสัมพันธ์และนำไปทดลองใช้ เช่น  มีการซื้อโดรนเพื่อไปทดสอบในการหว่านปุ๋ยทำให้เกษตรกรมองเห็นว่าประสิทธิภาพของโดรนช่วยลดเวลาและต้นทุนทางการเกษตรแต่ด้วยราคาของโดรนในช่วงนั้นยังค่อนข้างแพง จึงมีเกษตรกรบางรายเท่านั้นที่เข้าถึงได้แม้โดรนจากประเทศจีนจะมีราคาถูกกว่าโดรนจากยุโรปและคุณภาพค่อนข้างดีแต่ก็ยังถือว่ามีราคาสูงสำหรับกลุ่มเกษตรกร บริษัทจึงคิดว่าถ้าเราสามารถนำประสบการณ์ที่เคยเรียนรู้ในการนำเข้าโดรนจากต่างประเทศมาพัฒนาโดรนของตัวเองได้ก็น่าจะทำให้เกษตรกรเข้าถึงได้มากขึ้นเนื่องจากโดรนที่ผลิตในเมืองไทยจะมีราคาถูกกว่าโดรนนำเข้าประมาณ 20-30% จึงเป็นที่มาของ ‘ปัญญาโดรน’

ซีอีโอ บริษัท เอส.เอ.ที.ไอ. กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ใช้ชื่อปัญญาโดรนเพราะคำว่า เอส.เอ.ที.ไอ.ที่เป็นชื่อบริษัทอ่านเป็นภาษาไทยคือ ‘สติ’ เมื่อสติมาทำให้ ‘ปัญญา’ เกิดถือเป็นคอนเซปต์ของบริษัททีต้องการมอบสิ่งดีๆ ให้กับเกษตรกรโดยในปีนี้มีแผนจะเปิดช็อปเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10 ช็อปกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศด้วยการจับมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพและจุดยืนเหมือนกัน โดยช็อป ดังกล่าวจะเป็นทั้งศูนย์จำหน่ายโดรน,ศูนย์ฝึกอบรมการบินให้กับเกษตรกรเพื่อขึ้นทะเบียน, รับซ่อมโดรน, บริการหลังการขายรวมทั้งจัดการลงทะเบียนสมาชิกทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีบริการรับฉีดพ่นให้กับเกษตรกรที่ไม่มีโดรนแต่อยากใช้บริการโดรนไปพ่นปุ๋ย พ่นยา ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว ไร่อ้อย ไร่มันซึ่งศักยภาพของโดรนสามารถพ่นปุ๋ยพ่นยาได้ถึง 100 ไร่ในวันเดียวในส่วนของกฎหมายการใช้โดรนปัจจุบันเปิดกว้างเพื่อสนับสนุนการใช้โดรนภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อห้ามที่จำเป็น คือ 1.ห้ามทำการบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายทรัพย์สินและรบกวนความสงบสุขของบุคคลอื่น 2.ห้ามทำการบินเข้าไปในบริเวณเขตหวงห้าม เขตจำกัดและเขตอันตรายตามที่ประกาศในเอกสารการบินของประเทศไทย (Aeronautical InformationPublication–Thailand หรือ AIP– Thailand) รวมทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาลเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ 3.แนวการบินขึ้นลงของอากาศยานจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง 4.ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทำการบินและห้ามทำการบังคับอากาศยานโดยอาศัยชุดกล่องบนอากาศ ยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง 5.ต้องทำการบินในระหว่างเวลาพระ อาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน 6.ห้ามทำการบินเข้าใกล้หรือเข้าไปในเมฆ 7.ห้ามทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตร (5 ไมล์ทะเล)จากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราว

8.ห้ามทำการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตร (300 ฟุต) เหนือพื้นดิน 9.ห้ามทำการบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชนหรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่ 10. ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น 11.ห้ามทำการบินโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความรำคาญแก่ผู้อื่น 12.ห้ามส่งหรือพาวัตถุอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรืออุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ติดไปกับอากาศยาน 13.ห้ามทำการบิน โดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง อาคาร ที่ไม่เกี่ยวข้อง

การใช้โดรนเพื่อการเกษตรสามารปฏิบัติได้ตามข้อห้ามทั้งหมด ยกตัวอย่างห้ามทำการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90เมตรเหนือพื้นดิน ซึ่งโดรนของเรากำหนดความสูงไว้แค่ 30 เมตรหรือการห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น พื้นที่เกษตรทั้งหมดล้วนมีอาณาเขตที่แน่ชัด จึงไม่มีการล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่อื่นแน่นอน นายจตุพงศ์ กล่าว

*** ตลาดโดรนอนาคตสดใส

นายเจีย ดง ซุน หัวหน้าฝ่ายธุรกิจด้านการเกษตร DJI ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ผู้ผลิตโดรนชั้นนำในจีน กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ DJI เข้ามาทำตลาด เนื่องจากการเกษตรเป็น 1 ใน 3อุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีพื้นที่การเกษตรกว่า 62 ล้านไร่ สร้างรายได้ต่อจีดีพีคิดเป็น 10-12%ขณะที่กฎหมายการลงทะเบียนโดรนจะช่วยให้การพัฒนานวัตกรรมกับการใช้งานแพร่หลายและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ในขณะที่ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นทุกปีซึ่งโดรนจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร เพิ่มมูลค่าผลผลิต ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง เกษตรกรในจีนญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างประสบความสำเร็จในการใช้โดรนทำการเกษตรโดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ต้องการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งประเทศไทยก็ไม่ต่างกันโดรนจึงถือเป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการเกษตร

*** ลดต้นทุนผลิต 6 พันล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในฐานะเครื่องมือทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งกำลังมาแรงในยุคเกษตร 4.0ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิตประหยัดเวลา และประหยัดการใช้แรงงานคน ท่ามกลางภาวะที่แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีกทั้งโดรนเพื่อการเกษตรยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตของสินค้าเกษตรได้อย่างแม่นยำโดยคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ราว 6,000 ล้านบาท ภายในปี 2564ภายใต้เงื่อนไขพื้นที่นาแปลงใหญ่ที่เป็นไปตามเป้าหมายของภาครัฐ นอกจากนี้หากภาครัฐมีการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีอย่างเช่นโดรนเพื่อการเกษตรมากขึ้นตลอดจนกลุ่มทุนมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องรวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นและมีราคาถูกลงก็จะช่วยให้ภาคเกษตรไทยสามารถยกระดับการพัฒนาขึ้นไปได้อีกขั้น

*** คาด 3 ปีราคาโดรนลด 20-25%

แม้ปัจจุบันการใช้โดรนเพื่อการ เกษตรในประเทศไทยจะยังน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่การเกษตรแต่คาดว่าในอนาคตด้วยราคาโดรนเพื่อการเกษตรที่ถูกลง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตโดรนมีการแข่งขันกันหลายบริษัทผนวกกับความนิยมใช้โดรนของเกษตรกรและผู้ประกอบการที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้จำนวนการใช้โดรนเติบโตแบบก้าวกระโดดรวมทั้งเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มักจะมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่าภายในปี 2565 ราคาโดรนเพื่อการเกษตรอาจลดลงราวร้อยละ 20-25 ต่อปี อยู่ที่ 67,000-106,000 บาท จากราคาเปิดตัวในปี 2558 ที่ราว 300,000-500,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีการทำเกษตรแบบแปลงเล็กทำให้การลงทุนเทคโนโลยีดังกล่าวไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้นเกษตรกรอาจพิจารณาการรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ตามแนวทางของภาครัฐที่วางไว้ในขณะที่ภาครัฐควรสร้างความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรยอมรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาในระบบการผลิต โดยระยะแรกการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เกษตรกรอาจจะต้องเตรียมความพร้อมและลงทุนเบื้องต้น เช่นการประเมินสภาพดิน/น้ำ ปรับพื้นที่แปลง เป็นต้น รวมทั้งจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำแก่เกษตรกรซึ่งอาจเป็นความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนอันจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ภาครัฐสนับสนุนได้ง่ายยิ่งขึ้น

*** คาดมูลค่าทั่วโลกแตะ 4.5 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนกำลังเข้ามามีอิทธิพลกับหลายๆ อุตสาหกรรมเนื่องจากสามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้เป็นอย่างดีจึงทำให้โดรนถูกนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายงาน Clarity from aboveที่ทำการศึกษาเทคโนโลยีโดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles : UAVs)เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานในเชิงพาณิชย์คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 127,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 4.54 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 เนื่อง จากศักยภาพอันหลากหลายของโดรนทำให้ผู้ประกอบการในหลายๆ อุตสาหกรรมพัฒนาและนำมาต่อยอดบริการเชิงพาณิชย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาหรืออุดช่องโหว่การให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันโดรนถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่การจัดส่งพัสดุการตรวจสอบความเสียหายและประเมินความเสี่ยงพื้นที่ที่อาจเกิดภัยพิบัติในธุรกิจประกันภัยไปจนถึงการใช้โดรนในการรดน้ำ พ่นปุ๋ย หรือหว่านเมล็ดพันธุ์พืชในฟาร์มเกษตรต่างๆ

*** ลดต้นทุน 85% ช่วยบริหารความเสี่ยง

ส่วนวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ วิเคราะห์ว่าโดรนในธุรกิจการเกษตรที่ใช้ทำหน้าที่หว่านเมล็ดพันธุ์ ฉีดพ่นปุ๋ยและสารเคมีต่างๆได้รวดเร็วและแม่นยำกว่าการใช้แรงงานคน ส่งผลให้เกษตรกรลดต้นทุนในการปลูกพืชได้ถึง 85% ขณะเดียวกันโดรนยังช่วยบริหารความเสี่ยงภาคเกษตร ด้วยการถ่ายภาพมุมสูงของพื้นที่การเกษตรเก็บข้อมูลความชื้นและความกดอากาศ แล้วนำมาประมวลผลเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเพาะปลูกซึ่งช่วยให้เกษตรกรเตรียมวางแผนรับมือปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นได้ตรงจุดและทันท่วงที

*** นวัตกรรมเปลี่ยนโลกธุรกิจ

ปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าโดรนเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีมาแรงที่ทั่วโลกต่างจับตามองด้วยการทำงานที่สามารถใช้การควบคุมจากระยะไกล หรือทำงานแบบอัตโนมัติโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ภายใน แทนการใช้นักบินเป็นผู้ควบ คุมอากาศยาน Solarplaza บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของเนเธอร์แลนด์ใช้โดรนบินสำรวจแผ่นโซล่าร์เซลล์ ซึ่งภายในเวลา 1 นาที โดรนสามารถตรวจสอบแผ่นโซล่าร์เซลล์ได้ราว 800 แผ่น เทียบกับการใช้แรงงานคนที่ตรวจสอบได้เพียง 1 แผ่นในเวลาเท่ากัน ธุรกิจขนส่งใช้โดรนทำหน้าที่ส่งสินค้าแทนรถบรรทุกเพื่อร่นระยะเวลาและลดค่าใช้จ่ายซึ่งที่ผ่านมาหลายบริษัทเริ่มนำโดรนมาใช้ในการขนส่ง อาทิ Amazon เว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์พัฒนาโดรนชื่อ “Amazon Prime Air” สามารถส่งสินค้าไปถึงมือผู้รับภายใน 30 นาทีและลดต้นทุนค่าขนส่งได้ราว 20-80 เท่า เมื่อเทียบกับการขนส่งภาคพื้นดินแบบเดิมธุรกิจประกันภัยใช้โดรนสำรวจที่เกิดเหตุประเมินความเสียหายสามารถส่งข้อมูลความเสียหายกลับไปยังสำนักงานได้ในทันที ทั้งนี้ Tata Consultancy Service

บริษัทชั้นนำด้านไอทีประเมิน ว่า โดรนสามารถสำรวจความเสียหายในกรณีเกิดเหตุต่างๆ ได้ภายในเวลาราว 1ชั่วโมง เทียบกับการใช้เจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ต้องใช้เวลาถึง 2.5 ชั่วโมงสำหรับประเทศไทย มีหลายธุรกิจที่นำโดรนมาใช้ในการดำเนินงาน อาทิ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์จำกัด พัฒนาโดรนรุ่นพิเศษที่มีระบบความปลอดภัยและทนต่ออุณหภูมิสูงช่วยให้การตรวจสอบความปลอดภัยของปล่องไฟในโรงงานทำได้ง่ายและบ่อยครั้งขึ้นจากเดิมที่สำรวจเฉพาะช่วงหยุดโรงงาน เพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ทุกๆ 5-6 ปีเท่านั้น บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด ผู้ผลิตหินก่อสร้าง ใช้โดรนสำรวจพื้นที่เหมืองแร่เพื่อสร้างแผนที่เหมืองที่สามารถบอกชั้นความสูงและความชันได้อย่างละเอียดโดยใช้เวลาสำรวจเพียงไม่กี่ชั่วโมงจากเดิมที่ต้องสำรวจนานถึง 10 วัน รวมทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของคนงานในการสำรวจในพื้นที่อันตราย

เป็นที่น่าสังเกตว่าการนำโดรนมาใช้ในภาคธุรกิจทั้งของไทยและต่างประเทศไม่เพียงสะท้อนความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในโลกธุรกิจเท่านั้นแต่ยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาด้านแรงงานที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้การใช้โดรนจึงเป็นหนึ่งในทางออกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวของภาคธุรกิจเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ที่เน้นขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ