รัฐบาล‘ชุดสูทลายพราง’.. ‘ต้นทุน’ไม่มากแค่‘ปริ่มน้ำ’

วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

รัฐบาล‘ชุดสูทลายพราง’..  ‘ต้นทุน’ไม่มากแค่‘ปริ่มน้ำ’


 

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 จะครบบริบูรณ์ทุกองคาพยพ โดยหลังจากนี้รัฐบาลก็จะถอดชุดฟอร์มเครื่องแบบออกหันมาใส่สูทลายพรางแทน ด้วยตาม “บทเฉพาะกาล” ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บัญญัติเกี่ยวกับการ “สิ้นสภาพ” ของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.” ที่มาจากการยึดอำนาจ โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี และครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 5 ปี

“คสช.” จะล้มหายตายจากไปพร้อมด้วย “มาตรา 44” โดยอัตโนมัติ เป็นไปตามมาตรา 264 ที่ระบุว่า “..ให้อยู่จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่..” 

ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ อดีตหัวหน้า คสช. ได้ร่อนสารแถลงอำลาตำแหน่ง “หัวหน้า คสช.” ช่วงหนึ่งว่า..“บัดนี้ ประเทศไทย ได้เข้าสู่ขั้นตอนการปกครองระบอบประ-ชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์ มีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการ เลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของรัฐสภา สิทธิเสรีภาพต่างๆ ได้รับหลักประกันคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขตามกฎเกณฑ์ปกติในระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มี “อำนาจพิเศษ” ใดๆ อีกต่อไป

แม้รัฐบาลใหม่จะดูเหมือนว่ามีที่มาเป็นไปตาม “ครรลอง” ระบอบประชาธิปไตย หากแต่ดูเหมือนว่าพลเอกประยุทธ์พยายามที่จะ “ตีกิน” ในเรื่องของการสืบทอดอำนาจมากกว่า เพราะเมื่อพิจารณาถึงที่มาของสมาชิกรัฐสภาที่เทคะแนนให้พลเอกประยุทธ์ตามการเสนอของพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ถึง 250 เสียง ยังไม่นับถึงกติกาที่ร่างขึ้นมา “เพื่อพวกเรา” ทำให้วันนี้พลเอกประยุทธ์สามารถถอดเครื่องแบบยูนิฟอร์มและหันมาใส่ “สูทลายพราง” ได้แบบสบายใจ

แต่หากลองพิจารณารายชื่อ “ครม.ประยุทธ์2/1” ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นรองนายกฯ “วิษณุ เครืองาม” เป็นรองนายกฯ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข

“เทวัญ ลิปตพัลลภ” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรมว.กลาโหม “พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล” เป็นรมช.กลาโหม “อุตตม สาวนายน” เป็นรมว.คลัง “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง “ดอน ปรมัตถ์วินัย” เป็นรมว.การต่างประเทศ

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา “จุติ ไกรฤกษ์” รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” เป็นรมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, มนัญญา ไทยเศรษฐ์, ประภัตร โพธสุธน เป็นรมช.เกษตรฯ

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เป็นรมว.คมนาคม “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ-ถาวร เสนเนียม” เป็นรมช.คมนาคม “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” เป็น รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “วราวุธ ศิลปอาชา” เป็นรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เป็นรมว.พลังงาน

“วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รมช.พาณิชย์ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” เป็นรมว.มหาดไทย “นิพนธ์ บุญญามณี-ทรงศักดิ์ ทองศรี” เป็นรมช.มหาดไทย  “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นรมว.ยุติธรรม “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” เป็นรมว.แรงงาน “อิทธิพล คุณปลื้ม” เป็นรมว.วัฒนธรรม “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” เป็นรมว.ศึกษาธิการ “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช-กนกวรรณ วิลาวัลย์” เป็นรมช.ศึกษาธิการ “สาธิต ปิตุเตชะ” เป็นรมช.สาธารณสุข และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นรมว.อุตสาหกรรม ทั้งหมดรวม  36 คน 39 ตำแหน่ง ประกอบเป็นทีมงาน “เรือเหล็ก” ภายใต้การคุมหางเสือของ “แป๊ะ” คนเดิม

“ครม.ประยุทธ์ 2” เรียกเสียงวิจารณ์ดังกระหึ่มทั่วทุกมุมเมือง ว่าเป็นการสะท้อนถึงการ “สืบทอดอำนาจ” ผสมการ “ย้อนยุค” ประชาธิปไตยครึ่งใบ เหมือน  ในสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ล่วงลับ เห็นชัดจากการที่กระทรวงด้านความมั่นคงยังเป็นโควตา คสช.ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่า รมว.กลาโหม ที่พล.อ. ประยุทธ์ นายกฯ นั่งควบเอง โดยมีบิ๊กทหารคนใกล้ชิดเป็น รมช.กลาโหม รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง รมว.มหาดไทย ก็ยังเป็นคนเดิมอยู่ยาวมาตั้งแต่ “ประยุทธ์ 1” รองนายกฯ เนติบริกร รมว.การต่างประเทศก็ยังเป็นคนนอกหน้าเก่าในโควตา คสช.

นอกจากการเป็นรัฐบาลผสม 19 พรรค ที่มีปัญหาในตัวเอง ไม่รู้จะเกิด “สนิมเนื้อใน” เมื่อไหร่ ในจำนวนรัฐมนตรี 36 คน ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งภายใต้ความรับผิดชอบของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้กลั่นกรองขั้นสุดท้ายก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้น จากการตรวจสอบของทีมงานฝ่ายค้าน 7 พรรค พบมี 6-7 คนเป็นอย่างน้อย ที่มีข้อ “คลางแคลงใจ” ในแง่คุณสมบัติตามกฎหมาย รวมถึงคดีความฟ้องร้องต่างๆ ที่ติดตัวมาตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบันยังเคลียร์ไม่ออก

ทั้งกรณีของ “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รมช.พาณิชย์ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเคยถูกศาลตัดสินกรณีสร้างโรงงานบุกรุกที่ดินส.ป.ก.จำนวน 1,200 ไร่ ว่ามีความผิดและให้ดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้ ยังถูกร้องให้ตรวจสอบกรณีการออกโฉนดที่ดินโรงงานด้วย “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรฯ พรรคภูมิใจไทย เกี่ยวกับโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย จ.อุทัยธานี สมัยที่เป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี มีปัญหาส่งมอบงานไม่ได้ จน สตง. สั่งยุติโครงการ และสอบสวนการใช้งบประมาณ

กรณี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร กรณีเคยตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีสินบน โรลส์รอยซ์ ช่วงเป็นรองนายกฯ และรมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลไทยรักไทย

“อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารแบงก์กรุงไทย มีส่วนพัวพันลงนามรายงานการประชุมเห็นชอบอนุมัติสินเชื่อ 9,900 ล้านบาทให้เครือกฤษดา มหานคร เมื่อปี 2546 ซึ่งต่อมาศาลฎีกาฯ ชี้ว่าเป็นการอนุมัติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ลงโทษจำคุก 3 กรรมการบริหาร แต่อุตตม รอดคนเดียว

หรือกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ที่คลุกคลีอยู่ในยุทธจักร ผู้มีอิทธิพลมายาวนาน จนมีประวัติเคยต้องคดีร้ายแรงหลายคดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นหลายมิติ ตอกย้ำให้เห็น “ต้นทุน” รัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากรัฐบาลนี้ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. เป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองในช่วงเชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลทหารกับรัฐบาลเลือกตั้ง

เป็นการเชื่อมต่อในช่วงที่ประชาชนเริ่ม “เสื่อมศรัทธา” ต่อการยึดอำนาจ และต้องการ “รัฐบาลชุดใหม่” ที่สามารถสร้างความหวังให้เกิดขึ้นได้ ขณะที่โฉมหน้า “รัฐบาลชุดใหม่” ดังที่เห็นกลับไม่สามารถสร้างความหวัง

รัฐบาลชุดใหม่จึงมี “ต้นทุน” ไม่มากนัก ในเบื้องต้นถือว่ามีต้นทุนแค่ปริ่มน้ำพอๆ กับเสียงส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในสภา



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ