ดัน ศก.‘กระบี่-ภูเก็ต-พังงา-สุราษฎร์’ ฟาสต์ 9 เร็ว แรง ทะลุโลก

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ดัน ศก.‘กระบี่-ภูเก็ต-พังงา-สุราษฎร์’ ฟาสต์ 9  เร็ว แรง ทะลุโลก


ฟาสต์ 9 ดันโลเกชั่นเมืองไทยขึ้นแท่น ‘ฮับ’ แหล่งถ่ายทำภาพยนตร์ยอดนิยม ยึดทำเล ‘กระบี่’ ถ่ายทำ 1 เดือน ต่อด้วยภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี อีก 3 เดือน รวมระยะเวลาถ่ายทำในเมืองไทยนาน 4 เดือน ควักกระเป๋าค่าถ่ายทำ จัดฉาก อุปกรณ์ ฯลฯ กว่า 340 ล้านบาท

ยังไม่นับมูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นสถานที่พัก อาหาร บริการหลังการถ่ายทำ ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ประเทศภายหลังฉากสถานที่ถ่ายทำในไทยปรากฎบนหน้าจอภาพยนตร์อีกมหาศาล กระทรวงท่องเที่ยววางกลยุทธ์ขึ้นแท่นเบอร์ 1 กลุ่มอาเซียน ติดท็อป 5 เอเชียรองจากญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ วางกลยุทธ์ดึงนานาชาติปักกองถ่ายใน 55 เมืองรองส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้นรายได้โต 2 แสนล้านต่อปี ขณะที่หนัง-แอนิเมชั่นไทยอนาคตสดใสไม่แพ้กัน

กระแสหนังที่แรงที่สุดในเมืองไทยตอนนี้คงเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้ นอกจาก ‘ฟาสต์ 9’ ที่เคยสร้างความประทับใจในความมันส์ บู๊สนั่นจอ และฉากการแข่งรถอันลือลั่นสะท้านปฐพีทั้ง 8 ภาคในช่วงที่ผ่านมา ฟาสต์ 9 เลือกโลเกชั่นประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำนานถึง 4 เดือน เริ่มต้นในจังหวัดกระบี่

โดยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ผู้จัดกองถ่าย ‘ฟาสต์9’ ได้เข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ปรึกษาหารือถึงการปักหลักถ่ายทำ ‘Fast & Furious’ ในกระบี่ประมาณ 1 เดือน ณ ศาลากลางจังหวัดกระบี่ โดย พ.ต.ท.หม่อมหลวงกิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายอภิชัย อรัญญิก ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกระบี่ นางสาวจรรยารักษ์ สาธิตกิจ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่ ให้การต้อนรับนายปิยะ เปสตันยี ผู้จัดการกองถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่อง “ฟาสต์ 9” หรือ FF 9 เข้าพบหารือแจ้งรายละเอียดการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวของบริษัท เปสตัน ฟิล์ม จำกัด เป็น ผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่าง ประเทศในไทย FF 9 Pictures Limited สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ เหนือได้ขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องฟาสต์ 9 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1-27 กรกฎาคม 2562 โดยมีสถานที่ถ่ายทำจังหวัดกระบี่เป็นสถานที่แรก ก่อนจะยกกองถ่ายไปในจังหวัดภูเก็ต พังงา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมระยะเวลาการถ่ายทำในประเทศไทยทั้งหมด 4 เดือน

*** ควักกระเป๋า 340 ล้านบาท ส่งเสริมท่องเที่ยวไทย

สำหรับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีการลงทุนในประเทศไทยกว่า 340 ล้านบาท ส่งผลให้มีการจ้างงาน ให้คนไทยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเครือข่าย และพัฒนาบุคลากรในวงการภาพยนตร์รุ่นใหม่ในนานาประเทศอีกด้วย รวมทั้งเป็นการส่งต่อความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทุกคนในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ส่งเสริมภาพลักษณ์การประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้านสถานที่ความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ รวมทั้งส่งเสริมความสวยงามในด้านขนบธรรม-เนียมประเพณีของคนไทย เผยแพร่ให้ชาวต่างชาติได้รับทราบอย่างกว้างขวาง

พ.ต.ท.หม่อมหลวงกิติบดี เปิดเผยว่า ยินดีต้อนรับคณะในฐานะเจ้าบ้าน เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในชุมชน ตลอดจนเน้นย้ำให้ทุกคน ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีอัธยาศัยไมตรีที่ดีงาม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเข้ามาจัดตั้งสำนักงานชั่วคราวเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ในจังหวัดกระบี่ ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย โดยการประสานงานบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยว-ข้อง ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คณะผู้ถ่ายทำ และกิจกรรมดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตร-ฐานด้านการบริการไทยสู่สากลด้วย

สำหรับภาพยนตร์ Fast and Furious เป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ภาค 1-8 มีดารานำชื่อดังอย่าง วิน ดีเซล (Vin Diesel) และดาราร่วมแสดงอีกคับคั่ง สำหรับการถ่ายทำใน จ.กระบี่จะใช้พื้นที่ใน 3 ตำบล คือ ต.เขาทอง ต.หนองทะเล และ ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ รวมถึง จ.พังงา ภูเก็ต และ สุราษฎร์ธานี คาดว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะเข้าฉายในปี 2020

*** อาเซียนชิงโลเกชั่นถ่ายหนังต่างประเทศ

ต้องยอมรับว่าการเข้ามาใช้โลเกชั่นประไทศไทยถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก นอกจากสร้างรายได้จากการถ่ายทำการสร้างงานแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยสู่สายตาชาวโลกอย่างได้ผล จึงไม่แปลกที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะส่งเสริมให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในไทยอย่างต่อเนื่อง จากปี 2557 ที่มีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในเมืองไทย 500 เรื่อง พุ่งขึ้นไปถึง 724 เรื่องภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ทำเงิน เข้าประเทศ เฉพาะมูลค่าการลงทุนถ่ายทำกว่า 3,000 ล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นสถานที่พัก อาหาร บริการหลังการถ่ายทำ (Post production) ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ (Image) ประเทศ ภายหลังฉากสถานที่ถ่ายทำในไทยปรากฏบนหน้าจอภาพยนตร์ ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Lost In Thailand ภาพยนตร์ของจีนที่มีบางฉากถ่ายทำในไทย ปลุกกระแสให้นักท่องเที่ยวจีนแห่เดินทางตามรอยท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 8 ล้านคน

ด้วยอิทธิพลดังกล่าวทำให้หลายประเทศในอาเซียน พยายามดึงกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้าไปใช้โลเกชั่นในประเทศของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ ฯลฯ ด้วยการให้สิทธิพิเศษ อาทิ การคืนเงินค่าใช้จ่ายจากการถ่ายทำภาพยนตร์ในอัตราที่เหนือกว่าไทยในสัดส่วนสูงถึง 30-40% ทำให้ไทยต้องเร่งคลอดมาตรการดึงดูดการลงทุนดังกล่าวกลับมา เช่น สิทธิพิเศษให้บริษัทที่เข้ามาใช้ไทยถ่ายทำภาพยนตร์ได้รับการคืนเงิน 15% สำหรับกองถ่ายที่ใช้งบขั้นต่ำ 50 ล้านบาท และให้คืนเพิ่มอีก 3% เมื่อจ้างงานคนไทยในตำแหน่งสำคัญ รวมถึงให้คืนเพิ่มอีก 2% สำหรับกองถ่ายที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ตามที่ไทยกำหนด เป็นต้น

*** ลุ้นไทยขึ้นอันดับ 1

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเบอร์หนึ่งของสถานที่ (โลเกชั่น) กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ด้วยการใช้กลยุทธ์ดึงดูดกองถ่ายจาก ต่างประเทศ อาทิ การจัดงานเทศกาลภาพ-ยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย (Thailand International Film Desti nation Festival : TIFDF) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ล่าสุดงาน TIFDF 2019 ที่จัดขึ้นในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 7 แล้ว

*** ดึง 55 เมืองรองเข้าฉาก

ปี 2561 ที่ผ่านมา มีกองถ่ายทำภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยจำนวน 714 เรื่อง ถึงแม้จำนวนเรื่องจะน้อยกว่าปี 2560 ที่มีจำนวนเรื่องเข้ามาถ่ายทำ 810 เรื่อง แต่สามารถสร้างรายได้มากกว่าที่ 3,140 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศ ไทย เฉลี่ยการใช้จ่ายในกองถ่ายวงเงินสูงถึง 200-450 ล้านบาท/เรื่อง

ขณะที่ปี 2562 รายงานการขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ในประเทศไทยและที่เกี่ยวข้องประจำปี พ.ศ.2562 ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค. มีทั้งหมด 312 เรื่อง ประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 53 เรื่อง อินเดีย 45 เรื่อง และ จีน 39 เรื่อง ส่วนประเภทภาพยนตร์ที่เข้ามา ถ่ายทำในไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาพยนตร์โฆษณา/ประชาสัมพันธ์ 166 เรื่อง สารคดี 66 เรื่อง และรายการโทรทัศน์ 51 เรื่อง ประเทศที่เข้ามา ถ่ายทำและสร้างรายได้จากการถ่ายทำมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือกว่า 761 ล้านบาท ฮ่องกงกว่า 649 ล้านบาทและสหรัฐอเมริกากว่า 475 ล้านบาท โดยปีนี้กรมการท่องเที่ยวจะเน้นประชาสัมพันธ์ 55 จังหวัดเมืองรองเข้าไปเป็นสถานที่ ท่องเที่ยวที่น่าสนใจด้วย

*** ดันรายได้โต 2 แสนล้าน/ปี

จากข้อมูลการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ครั้งที่ 2/2562 ว่าในปี 2560-2561 ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ จากมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นทั้งขณะการถ่ายทำและภายหลังการถ่ายทำในธุรกิจเกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นสถานที่พัก อาหาร บริการหลังการถ่ายทำ (Post production) ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ (Image) ประเทศ ภายหลังฉากสถานที่ถ่ายทำในไทยปรากฏบนหน้าจอภาพยนตร์ รวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี

*** ยึด ‘ฮับ’ อาเซียน

รัฐบาลโดย “ทีมประเทศไทย” ที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาห- กรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของอาเซียน ทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาห-กรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในกลุ่มอาเซียนโดยอยู่อันดับ 5 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และพร้อมก้าวสู่ระดับโลกอย่างยั่งยืน

*** หนัง-แอนิเมชั่นไทยอนาคตสดใส

นอกเหนือจากการส่งเสริมให้กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยแล้ว การผลิตหนังและ แอนิเมชั่นไทยไปขายในต่างประเทศก็มีอนาคตสดใสไม่แพ้กัน โดย น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ “DITP” กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดหนังและแอนิเมชั่นที่งาน American Film Market & Conferences (AFM) 2018 ณ เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นอนาคตอุตสาหกรรมด้านนี้ของไทยที่มีอนาคต สดใสอย่างยิ่ง เนื่องจากมีนักลงทุน ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกาและนานาชาติ สนใจเข้าร่วมเจรจาการค้ารวมจำนวนกว่า 296 นัดหมาย สร้างมูลค่าการเจรจาการค้ากว่า 1,800 ล้านบาท

ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีนให้ความสนใจกับภาพยนตร์ไทย จากกระแสต่อเนื่องความดังของภาพยนตร์ไทยเรื่องฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius) มาสู่ภาพยนตร์ Homestay ของบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด รวมถึงการตอบรับที่ดีของภาพยนตร์เรื่อง The Lake ของบริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด ส่งผลให้ภาพรวมของภาพยนตร์ไทยได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น จากเดิมภาพยนตร์แนวผี สยองขวัญและบู๊เป็นหนังที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ แต่ปัจจุบันภาพยนตร์ แนวโรแมนติกคอมเมอดี้ นานาชาติก็ให้การตอบรับเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ผลการเจรจาการค้าที่สำคัญที่เกิดขึ้นภายในงานดังกล่าว อาทิ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด สามารถปิดการขาย ภาพยนตร์เรื่อง Homestay กับบริษัท Twin จากประเทศญี่ปุ่นได้ทันทีในวันแรกของการจัดงาน และสามารถปิดการขายกับบริษัท Vie Vision Pictures จากประเทศไต้หวัน หรือภาพยนตร์เรื่อง Friend Zone ที่ขายได้ในต่างประเทศตั้งแต่ยังไม่ได้ออกฉายในเมืองไทย บริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด ได้ร่วมเจรจาการค้ากับบริษัทผู้ลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในการสร้างภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศ ไทยจำนวน 3 เรื่อง และบริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด ได้เจรจาการค้ากับบริษัท Echelon Studios จากประเทศสหรัฐอเมริกา รูปแบบในการทำธุรกิจคล้ายกับ Netflix ซึ่งเป็นกล่อง Set Top Box ชื่อว่า Roku ซึ่งจะมีภาพยนตร์จากต่างประเทศทั่วโลกให้ชม รวมถึงติดต่อขอ ซื้อภาพยนตร์จากบริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด และการร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์อีกด้วย

นับเป็นมิติแห่งความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมธุรกิจบันเทิงไทย ผ่านกิจกรรมการตลาดบนเวทีโลก เพื่อแสดงศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางทางความคิดสร้างสรรค์ที่พร้อมจะดึงดูดนักลงทุนในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ขยายโอกาสในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทย ทั้งการนำกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในเมืองไทย และการนำภาพยนตร์ไทยออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ