จาก ‘เมืองกล้วยไข่’ สู่‘เกษตรอินทรีย์ระดับโลก’

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

จาก ‘เมืองกล้วยไข่’ สู่‘เกษตรอินทรีย์ระดับโลก’


จังหวัดกำแพงเพชรเป็นเมืองเก่าที่นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง เช่น เมืองชากังราว นครชุม ไตรตรึงษ์ เทพนคร และเมืองคณฑี ในปี พ.ศ. 2459 ได้เปลี่ยนเมืองกำแพงเพชรเป็นจังหวัดกำแพงเพชร คำขวัญประจำจังหวัดคือ กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก

เชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ให้สัมภาษณ์ สยามธุรกิจ ในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน “มหกรรม 25 ปีหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉลองก้าวสู่ปีที่ 4 โครงการช่วยเหลือสังคม ทดแทนคุณแผ่นดิน ส่งเสริมเกษตร อินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี” ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ถึงแนวทางการพัฒนากำแพง เพชรสู่เป้าหมายใน 3 ด้านคือ แหล่งผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร แหล่งผลิตพืชพลังงานทดแทนและการท่องเที่ยวมรดกโลก

>>ความรู้สึกของท่านที่มีต่อจังหวัดกำแพงเพชร?

สิ่งแรกที่ผมรู้สึกต่อจังหวัดกำแพง เพชรคือความประทับใจ เนื่องจากจังหวัดกำแพงเพชรมีจุดเด่นที่น่าสนใจ 2 ด้านคือ ด้านการเกษตรและด้านการท่องเที่ยว มีพืชเศรษฐกิจหลักคือข้าว มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน เป็นเมืองแห่งประวัติ ศาสตร์ วัฒนธรรมและธรรมชาติ ป่าเขา น้ำตกอันงดงาม มีอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2534 และยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ นก สัตว์ต่างๆ อาทิ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมความงามอีกด้วย

>>ท่านวางแนวทางการพัฒนาจังหวัดกำแพงเพชรอย่างไร?

จังหวัดกำแพงเพชรได้กำหนด “ตำแหน่งการพัฒนาจังหวัด” หรือ Posi tioning 3 ประเด็นสำคัญได้แก่ 1.แหล่งผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร 2.แหล่งผลิตพืชพลังงานทดแทน และ 3.การท่องเที่ยวมรดกโลก โดยผมวางแนวทางการพัฒนาจังหวัดมุ่งสู่การเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรปลอดภัย ฐานผลิตพืชพลัง- งานทดแทน เมืองท่องเที่ยวมรดกโลกและวิถีชีวิตชุมชน สู่สังคมที่เข้มแข็ง ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่ประโยชน์สุข ของประชาชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการเกษตร ตามแผนปฏิบัติราชการกำแพงเพชรและแผนปฏิบัติราชการของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 5 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 95,308,000 บาท เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขัน โครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตรปลอดภัย เป็นต้น

>>ความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดกำแพงเพชร?

ต้องยอมรับว่าแม้กำแพงเพชรจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่หลายที่ แต่นักท่องเที่ยวยังมองเราเป็นแค่เมืองผ่าน พอผ่านจากนครสวรรค์มาก็ขึ้นเหนือไปสุโขทัย ลำปาง เชียงใหม่ เราจึงต้องใช้การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้คนข้างนอกมองเห็นของดีในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการปรับภูมิทัศน์อัตลักษณ์เมืองมรดกโลก การเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงประวัติ- ศาสตร์ (อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร) ยกระดับของดีเมืองกำแพงเพชรผ่านงานประเพณี “สารทไทยกล้วยไข่และของดีเมืองกำแพง” เผยแพร่กล้วยไข่และกระยาสารท ซึ่งเป็นของพื้นเมืองของจังหวัด ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น โดยงานนี้เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26-27 กันยานยน 2524 ในสมัยคุณจำนง ยังเทียน เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้ชื่อว่างาน “วันกล้วยไข่เมืองกำแพง” เพื่อส่งเสริมการขายกล้วยไข่ เนื่องจากช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกมากที่สุด

ปัจจุบันงานสารทไทยกล้วยไข่และของดีเมืองกำแพง เพชร ประกอบด้วย กิจกรรมนิทรรศการการเกษตร การเดินขบวนรถบุปผชาติจากทั่วทั้ง 11 อำเภอ การประกวดกล้วยไข่ ประกวดธิดากล้วยไข่ การจำหน่ายอาหารคาวหวานโบราณภายใต้บรรยากาศย้อนยุค การออกร้านสินค้าพื้นเมือง การแสดงศิลปวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ในขณะเดียวกัน การที่เราจะให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัด ระบบคมนาคมขนส่งต้องดี ซึ่งเราได้จัดทำแผนจังหวัดยกระดับมาตรฐาน และเพิ่มประสิทธิภาพเส้นทางงบประมาณ 60 ล้านบาท ก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 101 ตอน

กำแพงเพชร-สุโขทัย ระยะทาง 1.225 กิโลเมตร ขยายช่องจราจรจากเดิม 7 เมตรเป็น 11 เมตร ทางหลวงหมายเลข 1072 ตอน เขาชนกัน-มอตะแบก ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร โครงการพัฒนาทางหลวงให้ได้มาตรฐาน จำนวน 25 สาย งบประมาณ 37 ล้านบาท เป็นต้น

>>ปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญกับ Smart Farmer จังหวัดดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

เราได้ดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรปราดเปรื่อง Smart Farmer ผ่านหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer เพื่อเตรียมความพร้อมของเกษตรกรต่อการเปลี่ยน แปลงซึ่งปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็ว ให้เกิดเป็นเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ เข้มแข็งในระดับอำเภอทั้ง 11 อำเภอ เรามีนโยบายเพิ่มความเชี่ยวชาญพัฒนาสู่การเกษตรมืออาชีพ แลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิค เทคโนโลยี ในการทำเกษตรแบบต่างๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ จัดหาเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์เข้าร่วมโครงการ

โดยในปี 2561 ได้ดำเนินงานในพื้นที่อำเภอทรายทองวัฒนา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 35 ราย และในปี 2562 ดำเนินงานในพื้นที่อำเภอบึงสามัคคี และอำเภอคลองขลุง เกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 ราย กิจกรรมหลักในการดำเนินงานเป็นการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ แนวทางปฏิบัติตามหลักเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้อง แนะนำการปรับเปลี่ยนพื้นที่สำหรับทำเกษตรอินทรีย์ การจัดหาแหล่งน้ำ การจัดการศัตรูพืช เป็นต้น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวความคิดระหว่างเกษตรกรที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ การเรียนรู้จากปราชญ์เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีแรงบันดาลใจและเกิดความเชื่อมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์ ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หลังจากการอบรมให้คำปรึกษาแนะนำแล้วก็มีการตรวจประเมินแปลงเพาะปลูกในเบื้องต้น ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักปฏิบัติ เพื่อที่จะให้เกษตรกรสามารถยื่นขอใบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ จากนั้นจึงจะมีการรวมกลุ่มเพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายต่อไป

>>จุดเด่นของจังหวัดกำแพงเพชร คืออะไร?

เราใช้โอกาสจากนโยบายของรัฐบาล ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ฉบับที่ 12 ให้ความสำคัญกับฐานการพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยในรูปแบบฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ การยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปข้าว พืชไร่ และพืชพลังงาน โดยมีเป้าหมายให้จังหวัดเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน รวมทั้งปรับเปลี่ยนการผลิตพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตรงตามความต้องการของตลาด ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในระดับมรดกโลก ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างสังคมที่เข้มแข็ง บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ให้ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม จังหวัดกำแพงเพชรยังมีปัญหาการทำเกษตร ในพื้นที่สูงด้านทิศตะวันตก ซึ่งยังมีการใช้สารเคมีทั้งยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และยากำจัดวัชพืช ประกอบกับการทำเกษตรพื้นที่สูงอาจก่อให้เกิดการพังทลายของดินได้โดยง่าย ถ้าขาดความเข้าใจหรือขาดความระมัดระวัง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการปลูกพืช ในที่สุดก็ต้องทิ้งรกร้าง กลายเป็นทุ่งหญ้าไม่มีประโยชน์ หรือเป็นภูเขาหัวโล้น ทางจังหวัดจึงได้จัดสรรที่ดินทำกินเพื่อลดปัญหาดังกล่าว

>>เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดกำแพงเพชรที่ท่านอยากเห็น?

เป้าหมายสูงสุดของจังหวัดกำแพงเพชรที่ผมอยากเห็นคือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ทุกคนมีงาน มีอาชีพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง รับรองการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรและการคมนาคม การพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการได้เองในชุมชน และการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยผมได้วางแผนปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชรให้เกิดความสวยงาม ร่มรื่น เพื่อประโยชน์ของผู้มาติดต่อราชการ มีสนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย แหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้กับประชาชนและข้าราชการพนักงานในพื้นที่ใกล้เคียง การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปเข้ามาเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชรมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจของจังหวัดเติบโตอย่างเข้มแข็ง

>>ท่านมีคำแนะนำสำหรับผู้เป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ หรือคนรุ่นใหม่ อย่างไรบ้าง?

ผมอยากให้กำลังใจเจ้าของธุรกิจ คนรุ่นใหม่ในการบริหารจัดการเพื่อก้าว ข้ามวิกฤติไปสู่เป้าหมาย ด้วยการนำทรัพยากรทั้ง 4 หรือที่เรียกว่า 4M อันประกอบไปด้วย คน เงิน เครื่องจักร และวัตถุดิบ มาผ่านกระบวนการบริหาร 5 ขั้นตอน ได้แก่

การวางแผน การจัดองค์กร การบริหารงานบุคคล การอำนวยการ และการควบคุม เพื่อให้การดำเนินงานของธุรกิจบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุ- ประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ