ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจครึ่งหลังดีกว่าครึ่งแรก หวั่นสงครามการค้ากดส่งออกไม่โต ลดเป้าจีดีพีมาที่ 3.1%

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจครึ่งหลังดีกว่าครึ่งแรก หวั่นสงครามการค้ากดส่งออกไม่โต ลดเป้าจีดีพีมาที่ 3.1%


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดงานเสวนาเรื่อง “มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง” เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2562 โดยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 3.1% จากเดิมที่ 3.7% จากภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการค้าโลก หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีโอกาสยืดเยื้อ

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า “ทิศทางการค้าโลกในระยะที่เหลือของปีนี้ อาจถูกกดดันจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทำให้มีการปรับลดประมาณการของการส่งออกในปีนี้ลงมาที่ 0% จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งต้องติดตามผลการประชุมG20 และการหาทางออกของเกมการเมืองของทั้งสองประเทศ รวมถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท แต่ทั้งนี้ หากมีสัญญาณบวกจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนมากขึ้น การส่งออกยังมีโอกาสโตในแดนบวก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตัวเลขจีดีพีเอียงเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการใหม่ที่ 2.9-3.3% ได้”

แม้ตัวเลขจีดีพีทั้งปี อาจลดภาพบวกลงจากเดิม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลของฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อาทิ นโยบายประชารัฐ ประกันรายได้พืชผลเกษตร รวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย แรงกระตุ้นเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ได้

            ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น การประชุม กนง.น่าจะยังคงนโยบายไว้ที่ 1.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยให้น้ำหนักกับประเด็นเชิงเสถียรภาพ คู่ขนานไปกับการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่มาก ขณะที่ คาดว่าเฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ราว 1-2 ครั้งในปีนี้ หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มอ่อนแรงลง

            ด้านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยนั้น นางสาวณัฐพร มองว่าตัวเลขทั้งปีนี้ น่าจะเติบโตที่ 4.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5% โดยถูกถ่วงลงจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เติบโตช้าตามบรรยากาศเศรษฐกิจ รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีที่คงทยอยรับรู้ผลกระทบจากการเร่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ เอ็นพีแอลนั้น แม้จะมีโอกาสปรับขึ้นในช่วงระหว่างปี โดยเฉพาะจากหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างไปแล้ว (Re-Entry) แต่ปิดปี ก็น่าจะรักษาระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารแต่ละแห่ง



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ