ภารกิจรถไฟไทย ภายใต้กุมบังเหียน “วรวุฒิ มาลา”

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ภารกิจรถไฟไทย ภายใต้กุมบังเหียน “วรวุฒิ มาลา”


ยุคนี้ถือเป็นยุคทองของรถไฟไทยจริงๆ เพราะภาครัฐได้หันมาใส่ใจพัฒนาระบบรางมากยิ่งขึ้น หลังจากช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้ทุ่มงบมหาศาลไปกับการสร้างถนน จนเป็นโหมดที่มีการขนส่งสินค้าสูงถึง 86.94% รองลงมาเป็นทางน้ำ 11.61% และเป็นทางรางเพียง 1.43%

แน่นอนว่า เรื่องร้อนแรงเป็นข่าวรายวันคงหนีไม่พ้นการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพราะได้รับหน้าที่ดูแลทั้งรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) รถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ และปรับปรุงทางรถไฟใหม่ ดังนั้น จึงได้เห็นข่าว “วรวุฒิ มาลา” ผู้ทำหน้าที่รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฯ ทางทีมข่าว “สยามธุรกิจ” จึงไม่รอช้าที่จะขอจับเช่าคุยถึงภารกิจต่างๆ ของการรถไฟฯ

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟมีแผนเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2560-2564 เริ่มต้นที่รถไฟทางคู่ จำนวน 7 สาย ได้แก่ 1.สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงิน 10,233 ล้านบาท 2.ชุมทางถนนจิระ-ของก่อน ระยะทาง 187 กม. วงเงิน 23,430 ล้านบาท 3.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 14,919 ล้านบาท 4.ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 21,688 ล้านบาท 5.มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 วงเงิน 26,460 ล้านบาท 6.นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. วงเงิน 18,180 ล้านบาท และ 7.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 ล้านบาท วงเงิน 8,269 ล้านบาท

“เส้นทางรถไฟทางคู่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในปี 2562 นี้ คือ แก่งคอย-คลองสิบเก้า-ฉะเชิงเทรา คาดว่า ในอีก 1-2 เดือน จะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ และเส้นทางจิระ-ขอนแก่น ที่จะเปิดใช้เต็มเส้นทางในเดือน สิงหาคม-กันยายนนี้”

สำหรับทางรถไฟสายใหม่ ได้แก่ 1.เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. วงเงิน 71,696 ล้านบาท 2.บ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 54,684 ล้านบาท และ 3.สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น ระยะทาง 158 กม. วงเงิน 34,237 ล้านบาท

“ในปีนี้จะเร่งออกแบบและผลักดันโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ คือรถไฟทางคู่ช่วง บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ถือว่าเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกที่เข้าสู่อีสานตอนกลาง ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีรถไฟเข้าถึงมาก่อน ขณะที่อีกเส้นทางที่ครม.อนุมัติไปแล้วคือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกพระราชกฤษฎีกา(พรฎ.) เวนคืนพื้นที่ก่อสร้างคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2567 โดยมีแนวเวนคืน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย โดยแนวเส้นทางจะเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่าน จ.ลำปาง พะเยา และเชียงราย สิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งพื้นที่เวนคืนจะมีเขตทางกว้าง 50 เมตร มีทั้งหมด 7,292 แปลง และที่ดิน 9,661 ไร่”

นอกจากนี้ ยังมีโครงการทางคู่ที่ส่งให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้ว หากผ่านความเห็นชอบจะเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาได้แก่ รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,000 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 26,000 ล้านบาท

ส่วนรถไฟความเร็วสูง ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,683 ล้านบาท 2.กรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 260 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท 3.กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. วงเงิน 212,893 ล้านบาท และ 4.นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 วงเงิน 208,561 ล้านบาท

“โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” มูลค่า 224,544 ล้านบาท จะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ โดยคาดว่าจะลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูล ได้ไม่เกินต้นเดือน ก.ค.นี้”

และรถไฟชานเมืองสายสีแเดง ได้แก่ 1.บางซื่อ - ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.2 กม. วงเงิน 5,947 ล้านบาท 2. บางซื่อ - รังสิต ระยะทาง 26.3 กม. วงเงิน 88,003 ล้านบาท 3.ช่วงบางซื่อ – หัวหมาก ระยะทาง 19 กม. และ ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง ระยะทาง 6.9 กม. วงเงินรวม 44,158 ล้านบาท 4.ช่วงรังสิต - มธ.ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.9 กม. วงเงิน 6,570 ล้านบาท 5.ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา ระยะทาง 14.8  กม. วงเงิน 10,202 ล้านบาท และ 6.ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช  ระยะทาง 5.7 วงเงิน 7,469 ล้านบาท

“การรถไฟฯ เตรียมเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และ ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบ ควบคู่ไปกับการร่างขอบเขตเงื่อนไขการประกวดราคา หรือ ทีโออาร์ เพื่อเปิดประมูล ทั้งนี้ การรถไฟฯ ต้องการให้โครงการก่อสร้างเดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงและการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง”

นายวรวุฒิ กล่าวถึงการจ่ายเงินแก่บริษัทโฮปเวลล์ว่า หลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้หารือร่วมกับการรถไฟฯ นั้นกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดว่าจะขอขยายเวลาการจ่ายเงินแก่บริษัทโฮปเวลล์ออกไปก่อน หลังยังไม่ได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินการ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ แต่จะชี้แจงประเด็นและเหตุผลต่อศาลอย่างไรนั้นจะต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ส่วนความชัดเจนในการรื้อย้ายงานทั้งหมดออกจากพื้นที่รถไฟนั้น งานสาธารณูปโภคบริษัทโฮปเวลล์จะเป็นผู้ย้าย แต่ในส่วนของเสาตอม่อ การรถไฟฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการเนินการ โดยยืนยันว่าจะไม่เป็นภาระต่อการรถไฟฯ เนื่องจากใช้เงินไม่มาก



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ