โทษของรถที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ.

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562

โทษของรถที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ.


สิ่งที่เจ้าของรถทุกคนควรรู้ ในเรื่องของประกันภัยภาคบังคับ หรือประกันภัย พ.ร.บ. เพราะประกันภัย พ.ร.บ.มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือบุคคลภายนอก จะได้รับจากประกันภัย พ.ร.บ. นั่นก็คือ ความคุ้มครองที่ผู้ประสบภัยจากรถ จะได้รับการเยียวยา หรือได้รับความช่วยเหลือในส่วนของค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพ เมื่อมีอุบัติเหตุจากรถเกิดขึ้น โดยชื่อของประกันภัยดังกล่าว ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นประกันภัย “ภาคบังคับ” จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ดังนั้นรถทุกคันจึงอยู่ในข่ายบังคับให้ต้องมีประกันภัย พ.ร.บ. ***ถ้าไม่มีประกันภัย พ.ร.บ. เท่ากับ “ผิดกฏหมาย” ***

พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดหน้าที่ให้เจ้าของรถต้องจัดให้มีการทำประกันภัยภาคบังคับไว้ในกฏหมาย โดยบัญญัติว่า "เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยซึ่งหากเจ้าของรถผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่จัดให้มีการประกันภัยดังกล่าว เจ้าของรถผู้นั้นมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

และนอกเหนือจากเจ้าของรถที่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันภัยภาคบังคับแล้วนั้น ในส่วนของผู้ใช้รถเอง กฏหมาย ก็ได้กำหนดไว้เช่นกันว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหาย" ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถหรือแม้จะไม่ใช่เจ้าของรถแต่เป็นเพียงผู้ใช้รถก็มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่ากฏหมายให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยภาคบังคับ หรือ ประกันภัย พ.ร.บ. ค่อนข้างมากทีเดียว เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว คงหลีกหนีไม่พ้นในเรื่องค่าเสียหาย ดังนั้น การมีประกันภัย พ.ร.บ. จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเสียหายเหล่านั้นได้ ซึ่ง พ.ร.บ. ไม่ได้รับผิดชอบเพียงแค่ชีวิตผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถเท่านั้น แต่ยังรับผิดชอบถึงคนในสังคมทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันได้อีกด้วย

และโทษอีกประการนอกเหนือจากโทษทางกฎหมายแล้วนั้นก็คือ หากนำรถที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ.มาใช้เมื่อเกิดอุบัติเหตุผู้ประสบภัยจะเสียสิทธิไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆทั้งสิ้นและต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

ดังนั้นเมื่อจะต้องมีการนำรถมาใช้ ผู้ขับขี่จะต้องมีการตรวจดูกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ.ของรถที่จะนำมาใช้ว่ายังมีความความคุ้มครองหรือไม่ เพื่อให้ตัวของผู้ขับขี่ ผู้โดยสารหรือบุคคลภายนอกมีหลักประกันตามกฎหมาย เพื่อให้ทุกคนที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนได้รับการคุ้มครอง และไม่ผิดกฎหมายอีกด้วย ไม่เช่นนั้นอาจเจอเหตุการณ์ "เจอเป็นจับ ปรับเป็นหมื่น"

อุบัติเหตุเมื่อเกิดขึ้นผู้ที่ประสบภัยจากรถทุกคนจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ความคุ้มครองทันทีที่ผู้ขับขี่ผู้โดยสาร บุคคลภายนอกจะได้รับ เรียกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถคันที่เกิดเหตุโดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ภายใน 7 วัน (โดยไม่รอผลพิสูจน์ความรับผิด) ได้แก่ค่ารักษาพยาบาลตามการรักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน หรือจ่ายเป็นค่าปลงศพจำนวน 35,000 บาท ต่อคนหากเสียชีวิต

และหลังจากได้พิสูจน์ความรับผิดแล้ว จะจ่ายเป็น“ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด” (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นด้วย) กรณีบาดเจ็บจะจ่ายตามการรักษาจริงสูงสุด ไม่เกิน 80,000 บาท กรณีเสียชีวิต  300,000 บาท สำหรับผู้ป่วยในจะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน (ยกเว้นผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดจะได้รับความคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น)

สำหรับประชาชนที่ไม่ทราบว่าจะไปใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลหรือค่าสินไหมทดแทนได้ที่ใด รวมทั้งไม่ทราบว่าจะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ผู้ประสบภัยจากรถสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลการเบิกประกันภัย พ.ร.บ.หรือคำถามเกี่ยวกับการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ได้ที่ www.rvp.co.th ซึ่งจะมีข้อมูลดังกล่าวแสดงอยู่บนหน้าเว็ปไซต์หรือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด Call Center 1791 ตลอด 24 ชั่วโมง



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ