‘รถไฟฟ้าภูเก็ต’ งบก่อสร้างพุ่ง 2 พันล้าน เอกชนรวมกลุ่มปั้น “เมืองไมซ์” ลงทุนกว่า 3 แสนล้าน

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562

‘รถไฟฟ้าภูเก็ต’ งบก่อสร้างพุ่ง 2 พันล้าน เอกชนรวมกลุ่มปั้น “เมืองไมซ์” ลงทุนกว่า 3 แสนล้าน


รถไฟฟ้าภูเก็ตปรับแบบเพิ่ม งบพุ่ง 2 พันล้านบาท คาดเคาะสรุปแนวทางก่อสร้างทั้งหมดได้ภายในเดือนมิ.ย. 62 มั่นใจเปิดประมูลก่อสร้างตามแผนปี 63 เปิดให้บริการปี 67 เผย บีทีเอส เตรียมแผน-เงิน ลงทุนไว้หมดแล้ว หวังดันเป็นเมืองท่องเที่ยวแถวหน้าของเอเชีย ด้านเอกชนภูเก็ตรวมกลุ่มปั้นเมืองไมซ์ วางงบลงทุนกว่า 3 แสนล้าน

รฟม.ปรับแผนรถไฟฟ้าภูเก็ต งบพุ่ง 2 พันล้านบาท

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียก รฟม. และกรมทางหลวง (ทล.) มาสรุปประเด็นข้อพิพาทการใช้พื้นที่เพื่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งส่งผลให้โครงการต้องปรับแบบใหม่และเลื่อนการเปิดประมูลออกไป

สำหรับการหารือกันครั้งล่าสุด ได้ข้อสรุป ดังนี้ 1.ทางยกระดับบางช่วงจากเดิมเป็นแบบทางเลียบพื้นตลอดเส้นทาง จะมีการปรับแบบให้มีการก่อสร้างอุโมงค์เพิ่ม 2-3 แห่ง เฉลี่ยวงเงิน 500-800 ล้านบาทต่อแห่ง จากเดิมมีอุโมงค์ 3 แห่ง ซึ่งจะส่งผลให้วงเงินเพิ่มขึ้น 1,500-2,000 ล้านบาท 2.การปรับแบบก่อสร้างหน้าสนามบินภูเก็ต จะปรับแบบจากเดิมที่ใช้ก่อสร้างบนถนนสายหลักเข้าสนามบิน ขยับเส้นทางออกไปทางรถไฟฟ้าแทรมเลียบรันเวย์สนามบินไปตัดกับถนน 402 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติดบริเวณสามแยกสนามบินภูเก็ต ตามที่ชาวบ้านเรียกร้องมา ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการเพิ่มเส้นทางออกไปอีก 2-3 กม. อย่างไรก็ตาม รฟม.จะสรุปแนวทางก่อสร้างทั้งหมดภายในเดือนมิ.ย. 2562 นี้ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการร่างเอกสารขอบเขตการประกวดราคา (TOR) ต่อไป เพื่อเปิดประมูล คาดว่าจะก่อสร้างตามแผนในปี 2563 และเปิดบริการปี 2567

บีทีเอส สนใจลงทุน ดันเป็นเมืองท่องเที่ยวแถวหน้าเอเชีย

ด้าน นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การปรับแบบระบบแทรมใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยทาง รฟม. ได้ส่งคนลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการลงทุนระบบแทรมนั้น ขณะนี้มีเอกชนสนใจลงทุนที่ชัดเจนคือกลุ่ม บีทีเอส กรุ๊ป หรือ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะล่าสุดได้เข้าพบจังหวัดและเตรียมเงินลงทุนรวมถึงแผนพัฒนาโครงการไว้หมดแล้ว ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในการขับเคลื่อนเมืองภูเก็ตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับแถมหน้าของเอเซีย

ส่วนการลงทุนนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืน 1.5 พันล้านบาท มีพื้นที่สร้างเดโป้ประมาณ 46 ไร่ สถานีจ่ายระบบไฟฟ้า และจุดเป็นทางโค้งงานโยธา 1.7 หมื่นล้านบาท ระบบรถไฟฟ้า 9.5พันล้านบาท จัดหาขบวนรถเริ่มต้น 2.4 พันล้านบาท ค่าสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง 13.65 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด 303 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ 1.4 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1.7 พันล้านบาท

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า การประเมินค่าก่อสร้างแทรมของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ที่ราว 200 ล้านต่อกม. หรือราว  600 ล้านบาทตามแผนขยานเส้นทางของ รฟม. ทั้งนี้ คาดจะมีผู้โดยสาร 33,190 คนต่อวัน คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้น 18 บาท จากนั้นกิโลเมตรละ 2.5 บาท สูงสุด 100-137 บาทต่อเที่ยว

ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชี้แนวเส้นทางแทรมยังไม่ตอบโจทย์

ด้าน นายสมบัติ อติเศรษฐ์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าภูเก็ต ถือว่าใช้เงินลงทุนสูงมาก และแนวเส้นทางยังไม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น และยังไม่อาจจะแก้ปัญหารถติดได้จริง เพราะคนภูเก็ตอยู่ในเมืองจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นหลัก และนักท่องเที่ยวจะพักที่ป่าตองเป็นส่วนใหญ่

 “ช่วงก่อสร้าง 3 ปี ถ้ามีปัญหาจราจรจะซ้ำเติมการท่องเที่ยวของภูเก็ต ซึ่งมองว่าโครงการนี้จะตอบโจทย์เรื่องของการพัฒนาที่ดินสองข้างทางในเมือง เพราะจะมีการพัฒนาโฮสเทลและโรงแรมเล็กๆ มากขึ้น ภาครัฐควรปรับเส้นทางจากสนามบินไปทางบายพาสและตรงไปห้าแยกฉลอง โดยไม่ต้องเข้าเมือง ซึ่งสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่โคกกลอย จ.พังงา ก็กำลังจะเกิดขึ้นด้วย”

เอกชนภูเก็ตรวมกลุ่มปั้นเมืองไมซ์ วางงบลงทุนกว่า 3 แสนล้าน

ด้าน นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับลำดับที่ 35 ของโลก ดังนั้นจึงมีศักยภาพที่จะเป็นเมืองไมซ์ (MICE City) ของประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล  ขณะนี้ทุกภาคส่วนในจังหวัดได้จัดทำกฎบัตรไมซ์เพื่อผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเมืองไมซ์นานาชาติระดับเอเซีย

ทั้งนี้ กลุ่มเอกชนได้มีการเตรียมแผนการลงทุนไว้แล้วมูลค่าสูงเกือบ 3 แสนล้านบาท เริ่มจากการลงทุนพัฒนาพื้นที่เทศบาลป่าตอง 2 พันล้านบาท ในช่วง 3 ปี ด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น มีแผนลงทุนศูนย์ประชุมใหญ่ 4 แห่ง ขนาด 75,000 ตร.ม. รองรับได้ 3,000 คน/แห่ง รวมปริมาณการรองรับทั้งหมดราว 30,000 คน/วัน ควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนลงทุนหอประชุมในจังหวัดอีก 15% ต่อปี ส่วนการประเมินตัวเลขลงทุนศูนย์ประชุมอยู่ที่ 250 ล้านบาท ต่อการรองรับ 7,000 คน ดังนั้นการรองรับ 30,000 คนต่อวันต้องลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท

ส่วนด้านการลงทุนที่อยู่อาศัยรวมทั้งสิ้น 70,000 ยูนิต วงเงินลงทุนรวม 2.8 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี หรือเฉลี่ยยูนิตละ 4 ล้านบาท เมื่อประเมินจากค่าก่อสร้างโรงแรม แบ่งเป็น 1.การลงทุนที่อยู่อาศัยและคอนโด 10,000 ยูนิตในช่วง 5 ปีแรกและเพิ่มเป็น 30,000 ยูนิตใน 5 ปีถัดไป 2.การลงทุนบ้านราคาต่ำ (Affordable House) 20,000 ยูนิตในช่วงแรกและเพิ่มเป็น 40,000 ยูนิตในช่วง 5 ปีหลัง จะเป็นการดีหากรัฐบาลส่งเสริมกองทุนด้านที่อยู่อาศัย

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวนั้น ภาคขนส่งสาธารณะรายงานว่าในอนาคตภายใน 5 ปีจะพัฒนาเขตชายหาดป่าตองให้พร้อมเป็นมิตรนักท่องเที่ยว (Tourism-Friendly) ได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนส่งเสริมเขตไมซ์ (MICE District) ซึ่งจะเกิดขึ้นบริเวณดังกล่าว เบื้องต้นตั้งเป้าพัฒนาถนนและขอบทางให้สามารถเดินเท้าได้ (Walkable) 100% มีโครงข่ายทางเดินเชื่อมต่อ รวมถึงการทำช่องจราจรสำหรับจักรยาน (Bicycle Lane) นอกจากนี้ยังมีแผนขยายถนนสายหลักจากสนามบินไปยังเมืองภูเก็ต ตลอดจนเพิ่มความถี่รถเมล์สายเดิมและเพิ่มรถเมล์สายใหม่

ส่วนด้านการพัฒนาย่านการค้าธุรกิจและร้านอาหาร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรองรับเมืองไมซ์นั้น ตอนนี้ห้างศูนย์การค้าจังซีลอนมีแผนลงทุน 2,000 ล้านบาท ในพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ เพื่อขยายพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้า นอกจากนี้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือ CPN ยังมีแผนที่จะเปิดห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ในจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

แผนพัฒนาเมืองชัดเจน ดันราคาที่ดินพุ่งไร่ละ 600 ล้าน

ขณะที่ นายฐาปนา บุณยประวิตร (Thapana Boonyapravit) นายกสมาคมการผังเมืองไทย (Thai Association for Town Planing) กล่าวว่า การพัฒนาเมืองไมซ์และปรับแผนผังเมืองจะส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมเศรษฐกิจของจังหวัดโดยเฉพาะด้านการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาที่ดินในอนาคตอันใกล้จะเพิ่มเป็น 2-3 เท่า ปัจจุบันราคาที่ดินป่าตองไร่ละ 500-600 ล้านบาทจากเดิมที่เคยตกไร่ละ 350 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ส่วนด้านการปรับผังเมืองคาดว่าจะมีการบังคับใช้ปลายปี 2563 จะก่อให้เกิดอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส (Mixed-Use) และเกิดอาคารสูงริมทะเลและในเมืองภูเก็ต ปัจจุบันผังเมืองกำหนดความสูงอาหารใกล้ชายหาดไว้ที่ 12 เมตร ขณะที่ผังใหม่ให้ความสูงถึง 45 เมตร คิดเป็นตึก 15 ชั้น ส่วความสูงอาคารในเมืองจะอยู่ที่ 60 เมตร (ตึก 20 ชั้น) และ ความสูง 75 เมตร (ตึก 25 ชั้น) ตามลำดับ จากปัจจุบันที่จำกัดความสูงแค่ 20-30 เมตร

ในส่วนของด้านการลงทุนภาครัฐนั้น มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานราว 1.25 แสนล้านบาท ได้แก่ สนามบินภูเก็ตแห่งที่สอง วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมสนามบิน-ตัวเมืองภูเก็ต วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท และโครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเมื่อสนามบินมีความพร้อมประกอบกับระบบขนส่งมวลชนทั่วถึง จะยิ่งส่งเสริมให้ภูเก็ตติดอันดับเมืองไมซ์ในภูมิภาค

ส่วนด้านกฎบัตรไมซ์มีแผนพัฒนาเมืองภูเก็ต รวม 6 ประการ ได้แก่ 1.พัฒนาเครือข่ายไมซ์และการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานดึงดูดการประชุมนานาชาติ และผู้เยี่ยมเยือนคุณภาพเข้ามายังพื้นที่เมืองป่าตอง 2.ยกระดับกิจกรรมเศรษฐกิจสีเขียว ด้านการค้าปลีก การบริการ การศึกษา การเงิน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและนิเวศเมือง 3.การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสีเขียว สร้างเมืองป่าตองเป็นเมืองแห่งการเดิน 4.พัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกระดับรายได้ เพิ่มโอกาสในการซื้อหาและการครอบครองที่อยู่อาศัย 5. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น การระบายน้ำ การพัฒนาโครงข่ายทางธรรมชาติ ชายหาด พื้นที่ธรรมชาติป่าเขา และการสร้างระบบการป้องกันอุบัติภัย และ6. การปรับปรุงฟื้นฟูเมือง การพัฒนาย่านใจกลางเมืองเป็นศูนย์ไมซ์นานาชาติ การฟื้นฟูชนดั้งเดิม การเพิ่มพื้นที่สีเขียว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ