ส่งออกพลิกวิกฤติ เปลี่ยน…เทรดวอร์ สู่…เทรดแฟร์

วันอาทิตย์ที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ส่งออกพลิกวิกฤติ เปลี่ยน…เทรดวอร์ สู่…เทรดแฟร์


แม้ด้านหนึ่งสงครามการค้าโลก (Trade Wor) จะสร้างแรงสั่นสะเทือนและส่งสัญญาณลบไปทั่วโลก หลายประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลง รวมถึงประเทศไทย สำนักพยากรณ์หลายหน่วยงาน รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตภาคการส่งออก จากเดิมที่คาดว่าจะโต 5-8% เหลือเพียง 2-3% และบางหน่วยงานมองว่าถ้าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป อาจทำให้ภาคการส่งออกปีนี้โตไม่ถึง 2%

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาสซ่อนไว้เสมอ เพราะเมื่อจีนถูกสงครามการค้าเล่นงานจนยอดการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากเดิม 10% เป็น 25% ในทางกลับกันจีนก็ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นการตอบโต้ นั่นหมายความว่าสินค้าไทยย่อมมีโอกาสส่งออกไปยังตลาดทั้งสองได้มากขึ้นในกลุ่มสินค้าที่มีการขึ้นภาษีระหว่างกันรวมถึงการสร้างมาตรฐานการแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรม หรือ Trade Fair ให้เติบโตอย่างยั่งยืน!!!

*** จับตา! สินค้าเกษตรไทยทางเลือกใหม่

หนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า ผู้นำเข้าของจีนยกเลิกคำสั่งซื้อเนื้อหมูจากสหรัฐฯ จำนวน 3,247 ตัน นับเป็นการยกเลิกคำสั่งซื้อครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 1 ปี ซึ่งการยกเลิกคำสั่งซื้อมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนจาก 10% เป็นอัตรา 25% ส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกเนื้อหมูของสหรัฐฯที่มีมูลค่า 6,500 ล้านดอลลาร์ โดยก่อนหน้านี้ผู้เลี้ยงหมูสหรัฐฯได้รับอานิสงส์จากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของจีน ทำให้จีนต้องนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ มากขึ้น แต่จากปัญหาสงครามการค้าและกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศภาวะฉุกเฉินห้ามใช้เทคโนโลยีของบริษัทหัวเว่ย ได้นำมาสู่นโยบายยกเลิกการนำเข้าเนื้อหมูกว่า 3 พันตันดังกล่าว แน่นอนว่าหากจีนยกเลิกการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ จริง ก็ต้องหันไปนำเข้าจากที่อื่น รวมถึงการนำเข้าจากไทย ยังไม่นับสินค้าเกษตรอีกหลายรายการที่อาจจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากสงครามการค้าครั้งนี้

*** ผู้ส่งออกมองสงครามการค้าส่งผลดี

เมื่อเจาะลงไปในกลุ่มผู้ส่งออกตัวจริงเสียงจริง ก็ยังมองว่าท่ามกลางวิกฤติมีโอกาสที่ซุกซ่อนไว้ เช่น ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปรายใหญ่ของประเทศ ภายใต้แบรนด์ “KC” ที่กล่าวว่า สงครามการค้าไม่ส่งผลเสียเลย แต่กลับส่งผลดีด้วยซ้ำ

ผมมองว่าสงครามการค้าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขาย แต่กลับส่งผลดี โดยมองเป็นโอกาสที่จะทำให้บริษัทได้ลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกรณี Brexit ที่อังกฤษจะออกจากอียูก็มองว่าเป็นโอกาสเช่นกัน เนื่องจากอียูมีมาตรการป้องกันการค้าที่ซับซ้อน ถ้าประเทศอังกฤษออกมาจะทำให้การส่งออกไปยังประเทศอังกฤษง่ายขึ้น ดร.องอาจ กล่าว

ซีอีโอซันสวีทยังยกตัวอย่างในปี 2561 ที่สงครามการค้าเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่สินค้าส่งออกในเครือกลับเติบโตได้ถึง 15% แถมปีนี้ยังตั้งเป้าการเติบถึง 10%

ปี 2561 มูลค่าส่งออกสินค้าไปทั่วโลกประมาณ 1,500 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 15 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเรามี แผนในการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อาทิ กลุ่มวัยรุ่นที่รักสุขภาพ ขณะที่ปีนี้ทางบริษัทมีการตั้งเป้ายอดขายเติบโตมากกว่า 10% ซึ่งปัจจุบันยอดขายหลักของบริษัทมาจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 80% และอีก 20% มาจากในประเทศ

ดร.องอาจ กล่าวต่อว่า 3 กลยุทธ์หลักของบริษัทที่จะนำมาใช้ท่ามกลางวิกฤติสงครามการค้าก็คือ 1.การรุกช่องทางค้าปลีกเพิ่มขึ้นโดยเน้นกลุ่มอาหารพร้อมทาน 2.การขยายไลน์สินค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแช่เย็น และ 3.การสร้างนวัตกรรมอาหาร เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ซึ่งตลาดเหล่านี้ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันทางบริษัทได้วางเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนยอดขายในประเทศให้มากขึ้นจากเดิม 20% เพิ่มเป็น 30% ภายใน ปีนี้ หลังจากได้พยายามสร้างแบรนด์ KC มานานกว่า 3 ปี และได้รับเสียงตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

*** ขยายตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ต่อเนื่อง

ดร.องอาจ ยังกล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จท่ามกลางวิกฤติคือต้องขยายตลาดไปในกลุ่มใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในตลาดกลุ่มเดิมๆ ยกตัวอย่างปัจจุบันทางบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้แก่กลุ่มลูกค้ามากกว่า 60 ประเทศ แบ่งเป็นลูกค้าเก่าร้อยละ 95 และลูกค้าใหม่ร้อยละ 5 ซึ่งขณะนี้ลูกค้าใหม่เริ่มมีคำสั่งซื้อล่วงหน้ามากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กลุ่มตลาดเก่าก็มีการเพิ่มช่องทางค้าปลีกไปในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่การขายให้มากขึ้น เป็นการขยายตลาดที่มุ่งเน้นกลยุทธ์การตลาดแบบขยายฐานลูกค้าเก่า ควบคู่กับการมองหาตลาดใหม่สร้างมาตรฐานเพิ่มความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จะได้รับความนิยมแค่ไหน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับมาตร-ฐานความน่าเชื่อถือ เช่น มาตรฐาน British Retail Consortium (BRC) มาตรฐาน International Featured Standard (IFS) มาตรฐาน Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) ทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในคุณภาพและกรรมวิธีการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิธีการผลิตที่ดี (Goods Manufacturing Practices) นอกจากนี้ การให้ความสำคัญในการผลิตควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมตามนโยบายคุณภาพ ISO 14001:2004 ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม

*** พาณิชย์เบนเข็มเจาะเมืองรอง

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการส่งออกอย่างสำนักงานนโยบายและยุทธ-ศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ผลกระทบของสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็น 25% มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้มูลค่าส่งออกไทยปีนี้ลดลง 5,600-6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.2% ของมูลค่าการส่งออกรวม เป็น การประเมินตามหลักวิชาการ โดยคำนวณจากการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าไทยไปจีน เป็นต้น โดยแผนส่งเสริมการส่งออกปีนี้จะเน้นการบุกเจาะตลาดเมืองรองและมณฑลรองๆ ของจีน, รัฐใหม่ๆ และรัฐที่มีศักยภาพรองลงไปของสหรัฐฯ และอินเดีย รวมถึงตลาดอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ซึ่งจะเริ่มเห็นผลดีต่อการส่งออกในปลายปีนี้และจะเห็นผลชัดเจนในปีหน้า

*** กรอ.ประสานเสียงได้รัฐบาลใหม่เร็วช่วยกู้วิกฤติ

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) นัดพิเศษ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนเม.ย. 2562 ที่ติดลบ 2.5% ในระยะต่อไปมีโอกาสที่จะลดลงได้อีกเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังไม่จบ ส่วนที่ไทยดูแลได้คือการผลักดันเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะในส่วนการลงทุนภาครัฐที่ขณะนี้มีโครงสร้างพื้นฐานรอการลงทุนอยู่ 7 แสนล้านบาท แต่ต้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามาขับเคลื่อน สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งจะมีความชัดเจนในเวลาไม่นาน และขอให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ย้ำกับเอกชนไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องเดินหน้าต่อไม่ต้องกังวล ไม่ต้องหนักใจ เพราะรัฐบาลไหนก็ต้องการความร่วมมือกับภาคเอกชน

*** จุดประกาย เอฟทีเอการค้าอย่างเป็นธรรม

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ สงครามการค้าครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลไทยหันมามองความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ หรือ เอฟทีเอมากขึ้น ซึ่งการทำเอฟทีเอคือการลดอุปสรรคทางการค้า และเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าของคู่สัญญาในรูปแบบที่เป็นธรรม โดยล่าสุดได้มีการเจรจาถึงการทำเอฟทีเอใหม่ๆ อย่างน้อย 3 ฉบับคือ 1.เอฟทีเออาเซียน-จีน 2. เอฟทีเอไทย-บังกลาเทศ และ 3.เอฟทีเอไทย-อียู เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าที่ได้รับผลกระทบจากเทรดวอร์ (อ่านรายละเอียด หน้า 7 ใน นสพ.)

แม้ในด้านหนึ่งเทรดวอร์คือ สงครามการค้าที่หลายคนมองว่าส่งผลกระทบด้านลบมากกว่าด้านบวก แต่หากมองในมุมสร้างสรรค์ สงครามการค้าครั้งนี้อาจทำให้หลายประเทศปรับตัวหันมาทำข้อตกลงทางการค้าหรือเอฟทีเอเพื่อเปิดกว้างทางการค้ามากขึ้น ผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน สร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรมทั้งต่อผู้ผลิต ผู้ซื้อ และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ