คมนาคมรุกเพิ่มศักยภาพขนส่งทางน้ำ เชื่อมแม่น้ำป่าสัก-เจ้าพระยา ออกสู่ทะเล

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562

คมนาคมรุกเพิ่มศักยภาพขนส่งทางน้ำ  เชื่อมแม่น้ำป่าสัก-เจ้าพระยา ออกสู่ทะเล


นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า ได้จัดประชุมส่วนกลางครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร) โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำ เชื่อมจากแม่น้ำป่าสักผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล เนื่องจากเห็นความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของลำน้ำบริเวณวัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี รวมระยะทาง 72 กิโลเมตร

ดังนั้น กรมเจ้าท่า จึงได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอเซี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท โกลเด้นท์ แพลน จำกัด บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท นิวแอสเซท แอดไวเซอรี่ จำกัด ดำเนินโครงการฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางน้ำในแม่น้ำป่าสัก ให้สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำได้มากขึ้น จากปริมาณการขนส่งในปี 2560 ประมาณ 33.25 ล้านตัน เพิ่มเป็น 64.64 ล้านตัน ในปี พ.ศ.2594 (กรณีพัฒนาการเดินเรือ 52 กม.) เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐศาสตร์

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กลุ่มที่ปรึกษาจะศึกษาแนวทางการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำป่าสัก สำรวจออกแบบรายละเอียด โครงสร้างที่จำเป็นตามรูปแบบการพัฒนาตามทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ศึกษาและเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการเรื่องการเดินเรือ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น สำหรับโครงการหรือกิจการตามแผนพัฒนา รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการพัฒนาโครงการให้แก่กลุ่มเป้าหมายให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

สำหรับแนวทางการพัฒนาโครงการตามกรอบแนวทางการพัฒนา บริหารจัดการ และพัฒนาการเดินเรือ ได้แก่ การพัฒนาระบบควบคุมการจราจรและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินเรือ การขุดลอกลำน้ำให้ขนาดร่องน้ำเป็นไปตามมาตรฐานการเดินเรือ และการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง โดยกำหนดแบ่งช่วงการพัฒนาแม่น้ำและกำหนดขนาดเรือใช้งานในแม่น้ำป่าสัก 4 ช่วง ดังนี้ 1. กม. 0 - 13 ขนาดเรือ 2,500 ตัน เป็นช่วงต้นของแม่น้ำที่มีลำน้ำค่อนข้างตรง และมีท่าเรือขนส่งสินค้าหนาแน่น

2. กม. 13 - 23 ขนาดเรือ 2,500 ตัน เป็นช่วงที่ลำน้ำมีความโค้งเล็กน้อย และมีท่าเรือขนส่งสินค้าค่อนข้างมาก และเป็นพื้นที่มีโอกาสในการพัฒนาเพิ่มท่าเรือ 3. กม. 23 - 52 ขนาดเรือ 1,000 ตัน เป็นช่วงลำน้ำที่มีความคดเคี้ยวมาก แต่ยังคงมีท่าเรือขนส่งสินค้า โดยมีระยะทางจนถึงเขื่องพระราม 6 และ 4. กม. 52 - 72 ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เป็นช่วงเหนือเขื่อนพระราม 6 ที่ยังไม่มีการเดินเรือขนส่งสินค้าในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การจัดประชุมส่วนกลางครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร) ภายใต้โครงการดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ รับทราบรายละเอียดการพัฒนา การศึกษาและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาผลการศึกษาให้สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการและเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างสูงสุด



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ