ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.เผยภาวะหนี้สินครัวเรือนเกษตรครึ่งหลังปี2561

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.เผยภาวะหนี้สินครัวเรือนเกษตรครึ่งหลังปี2561


ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. เผยผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนเกษตร ครึ่งหลังปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 1.3 แต่เมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.13 โดยครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.9 และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.1 ด้านหนี้นอกระบบพบลดลงกว่าปีก่อน ร้อยละ 18.5 แต่ยังต้องจับตาพฤติกรรมการก่อหนี้ใหม่ของผู้มีรายได้น้อย ชี้การจ้างงาน การปรับเพิ่มของราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐและของ ธ.ก.ส. ส่งผลสำคัญในการลดภาระหนี้ครัวเรือน

                นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาวะหนี้สินครัวเรือนเกษตร ในช่วงครึ่งหลังปี (เดือนกรกฎาคม ถึง ธันวาคม) 2561 มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเกษตรไทยต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 18.12 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 4.13 เนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจประจำปี (Nominal GDP) ยังคงสูงกว่าการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนเกษตรกร โดยประมาณการ          การขยายตัวของเศรษฐกิจ ปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.0 เป็นผลจากกำลังซื้อของภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มของรายได้ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตามแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเกษตรจะปรับตัว  ดีขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้ใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเกษตรที่มีรายได้น้อยที่กู้หนี้เต็มวงเงินแล้วและมีภาระผูกพันกับหนี้หลายสัญญา ซึ่งอาจมีการก่อหนี้นอกระบบที่จะส่งผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนเกษตรและการเติบโตของเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป

                สำหรับผลการสำรวจสถานการณ์ภาวะหนี้สินครัวเรือนเกษตรครึ่งหลัง ปี 2561 โดยเก็บข้อมูลจากเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ จำนวน 980 ราย พบว่า ครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. มีรายได้รวมเฉลี่ย 295,420 บาท/ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.9 และมีค่าใช้จ่ายรวมเฉลี่ยต่อครัวเรือน 240,680 บาท/ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.1 ส่งผลให้มีสัดส่วนรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย 1.23 เท่า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.8 และพบว่าครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.2 มีการออมเงิน โดยมีสัดส่วนการออมที่ร้อยละ 6.4 ของรายได้ทั้งหมด มีการออมเงินเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการออมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกร ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ ธ.ก.ส. อาทิ เงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค สลากออมทรัพย์ฯ และกองทุนทวีสุข ขณะเดียวกันเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 135,220 บาท/ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.3 โดยหนี้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 89.1 เป็นหนี้ในระบบ ส่วนหนี้นอกระบบมีเพียงร้อยละ 10.9 โดยปริมาณหนี้นอกระบบปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 18.5 ส่วนภาระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (DSR) คิดเป็นร้อยละ 45.77 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.61 แต่ยังคงสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเสถียรภาพของภาคครัวเรือนที่กำหนด ณ ระดับร้อยละ 40 ซึ่งสะท้อนว่า ครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ยังมีโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Probability) เพิ่มขึ้น

                                นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า รายได้ภาคเกษตรที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะการจ้างงานในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ครัวเรือนเกษตรกรของ ธ.ก.ส. ผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการลดภาระหนี้ ทั้งมาตรการลดภาระหนี้ในระบบของ ธ.ก.ส. อาทิ โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ และโครงการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ (3 ปี) และมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนของ ธ.ก.ส. มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดภาระหนี้ให้กับครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ไม่สูงมาก และการก่อหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า โดยส่วนใหญ่นำไปใช้เพื่อลงทุนสร้างรายได้และซื้อทรัพย์สินเพื่อประกอบอาชีพซึ่งถือเป็นหนี้ที่มีคุณภาพ ประกอบกับครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ให้ความระมัดระวังในการก่อหนี้ใหม่ ส่งผลให้ภาระหนี้สินต่อเดือนของครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า เพิ่มขึ้นไม่มาก จึงทำให้สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (DSR) ปรับตัวลดลงจากปีก่อน

                อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องให้ความสำคัญต่อคุณภาพหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีการกู้หนี้เต็มวงเงินหลักประกันและครัวเรือนที่มีภาระผูกพันกับหนี้หลายสัญญา ซึ่งอาจมีพฤติกรรมในการก่อหนี้นอกระบบเพิ่มเติม ประกอบกับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรและภัยธรรมชาติ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดัน   การขยายตัวของรายได้ภาคการเกษตร และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้ในอนาคต



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ