ร้อน ๆ หนาว ๆ “สื่อทุกแขนง และสถาบันการศึกษา” ต้องปรับตัวตั้งรับอย่างไร เพื่อสู้ศึกธุรกิจยุค 5G ก่อนถึงทางตัน

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562

ร้อน ๆ หนาว ๆ  “สื่อทุกแขนง และสถาบันการศึกษา” ต้องปรับตัวตั้งรับอย่างไร  เพื่อสู้ศึกธุรกิจยุค 5G ก่อนถึงทางตัน


NIDA Business School จัด งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 4 เตรียมความพร้อมรับมือเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัล ภายใต้หัวข้อ “Transforming Business to the Future” โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมงานมากมาย เพื่อพูดคุยหาแนวทางรับมือเศรษฐกิจในยุคเปลี่ยนผ่าน พร้อมแนะสถาบันการศึกษาและสื่อทุกแขนงปรับกลยุทธ์ สู่ศึกธุรกิจยุค 5G ก่อนถึงทางตัน

รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลในการประชุมว่า ในปัจจุบันดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผู้ประกอบการธุรกิจด้านต่างๆ ต้องปรับตัว โดยนำระบบอินเตอร์เน็ตมาใช้ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ เน้นการสร้างคอนเทนต์และโมเดลใหม่ๆ ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ธุรกิจสื่อ ในปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีสื่อมากมายที่ทยอยปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก เพราะสื่อยังยึดติดกับรูปแบบการนำเสนอสิ่งเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า คือ ผู้อ่าน ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จะใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น “สื่อ” จึงต้องปรับกลยุทธ์ สร้างคอนเทนต์ การนำเสนอข่าว หรือรายการในรูปแบบใหม่ๆ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สื่อต้องทำงานควบคู่กับเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต ซึ่งในปัจจุบันสื่อหลายๆที่ก็พยายามปรับตัวอยู่ เพื่อความอยู่รอด

ทั้งนี้  อีกส่วนที่ต้องปรับตัวอย่างมากในยุคดิจิทัล คือ สถาบันการศึกษาต่างๆ ปัจจุบันเราจะเห็นว่า เด็กยุคใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับใบปริญญา เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร ทุกคนจะให้ความสำคัญกับความรู้ความชำนาญด้านวิชาชีพที่จบมาสามารถนำมาประกอบอาชีพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เด็กบางคนประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่อายุ 14 ปี ดังนั้นสถาบันการศึกษาจะถูกลดบทบาทลงโดยปริยาย ดังนั้นสถาบันการศึกษาควรจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย ก้าวทันเทคโนโลยี พยายามหาเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ตัดลดคณะที่ไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงานออกไป อาจารย์และบุคลากรก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อไหร่ที่หยุดคิด หยุดพัฒนา เทคโนโลยีจะเข้าแทนที่เสมอ ซึ่งแนวโน้มจะมีคนตกงานกันเยอะมากๆ โดยเฉพาะสายงานที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงานคนได้ เพราะบริษัทจะสามารถลดต้นทุนไปได้เยอะมาก ยกตัวอย่าง โรงงานแห่งหนึ่งในประเทศจีน ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตร เมื่อก่อนมีคนงาน 400 คน ปัจจุบันเหลือคนงานอยู่ 8 คน เพราะเขานำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ซึ่งมันก็เห็นผลชัดเจน เพราะต้นทุนลดลง แต่กำลังการผลิตเท่าเดิม

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ NIDA กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับตัวเลขภาครวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ถือว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น เนื่องจากตัวเลขในเชิงมหภาคออกมาดีหมด ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเติบโตได้ดี ถ้าเทียบกับตัวเลขในภูมิภาค ซึ่งจริงๆ แล้วธุรกิจประเภทต่างๆ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเท่าๆ กัน แต่ว่าสภาวะการแข็งขันไม่เท่ากัน โดยธุรกิจที่มีการแข็งขันสูง อาทิ ธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ วิทยุและสิ่งพิมพ์ การแข่งขันดุเดือดมาก เพื่อแย่งชิงชิ้นเค้กจากเม็ดเงินโฆษณา และอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ ธุรกิจพลังงาน จะเห็นได้ว่าภาคพลังงานก็ยังมีการเติบโต ถ้ามีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้จะทำให้ค่าใช้จ่ายต้นทุนการใช้พลังงานถูกลง ซึ่งรัฐบาลต้องลงทุนในเรื่องนี้เพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนในแต่ละครัวเรือนได้ใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น

ในด้านของการเติบโต ธุรกิจดิจิทัลเติบโตตลอด เพราะช่วยทำให้ธุรกิจในแต่ละประเทศเปลี่ยนไป คือสมัยก่อนในแต่ละประเทศจะมีการแบ่งภาคกันอย่างชัดเจน ใครอยู่บริการ ใครอยู่ภาคผลิต แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการแบ่งแยกความชัดเจนระหว่างภาคผลิตและบริการ เพราะบริการต้องการสินค้า สินค้าต้องการบริการ แล้วก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า การให้บริการในปัจจุบันด้วยดิจิทัล เราสามารถให้ข้อมูลบริการได้หลายแบบ เป็นบริการทางเดียวเพื่อให้ข้อมูลหรือเป็นบริการเชิงโต้ตอบพวกนี้สามารถเพิ่มเข้าไปในตัวสินค้าได้ สมมติ เราไปซื้อยามา 1 อย่าง ถ้าเรามีตัวคิวอาร์โค้ทที่เราสามารถดาวน์โหลดดูว่ายาทานอย่างไร เพราะบางครั้งเภสัชก็ไม่แน่ใจหรือเราอาจจะลืมว่ายาแต่ละชนิดมีข้อควรระวังอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค แต่ถามว่าบริษัทยาต้องลงทุนอะไรและลงทุนมากหรือไม่ คำตอบ ต้นทุนแทบไม่มีและแถมการบริโภคยาก็ปลอดภัยมากขึ้น ดิจิทัลสามารถช่วยได้ แล้วก็สามารถเตือนวันหมดอายุยาได้ด้วย ฉะนั้นความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ยาก็มากขึ้น แล้วถามว่าดิจิทัลจะเป็นยังไงในอนาคต คำตอบคือจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีน้อยลงและจะสามารถช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตของมนุษย์ได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย”

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ