แบงก์ออมสิน เปิดแผนปี 62 มุ่งสู่ GSB WAY 2019ชู3กลยุทธ์หลัก

วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2562

แบงก์ออมสิน เปิดแผนปี 62 มุ่งสู่ GSB WAY 2019ชู3กลยุทธ์หลัก


ธนาคารออมสิน กางแผนปี 2562 มุ่งสู่ GSB WAY 2019 วิถีออมสิน ยุคใหม่ พร้อมเติมเต็มสังคมไทย ก้าวไกลเหนือขีดจำกัดภายใต้แนวคิด เติบโต ยั่งยืน ตอบแทนคืนสู่สังคม ภายใต้กลยุทธ์ 3 Banking  ชูกลยุทธ์ 3 Banking “Traditional Banking- Digital Banking- Social Banking”พร้อมตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่มากกว่า 6 แสนล้านบาท คนใช้ MyMo เพิ่มเป็น 8 ล้านคน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยทิศทางการดำเนินงานในปี 2562 ว่า ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น GSB WAY 2019 : วิถีออมสิน ยุคใหม่ พร้อมเติมเต็มสังคมไทย ก้าวไกลเหนือขีดจำกัดภายใต้แนวคิด เติบโต ยั่งยืน ตอบแทนคืนสู่สังคม ภายใต้กลยุทธ์ 3 Banking ประกอบด้วย

กลยุทธ์ด้านที่ 1 Traditional Banking การสร้างความมั่นคงทางการเงิน และขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นบริการธนาคารในรูปแบบปกติ แต่เพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น พร้อมกับแนะนำและชักชวนให้ลูกค้ามาใช้บริการรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะทำให้พนักงานมีเวลาขายผลิตภัณฑ์หรือแนะนำบริการต่างๆ ของธนาคารได้มากขึ้น เป็นการลดต้นทุนบริการ และเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นด้วย พร้อมกันนี้จะพัฒนาช่องทางการให้บริการเดิมให้มีความสะดวก รวดเร็วและทันสมัย ซึ่งมีหลากหลาย ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งสาขา รถยนต์บริการเคลื่อนที่ เรือ Bank Agent สถาบันการเงินชุมชน และพันธมิตรใหม่ๆ

กลยุทธ์ด้านที่ 2 Digital Banking ที่จะพัฒนาให้มีบริการที่รวดเร็วและทันสมัยมากขึ้นไปอีกในโลกยุคดิจิทัล พร้อมสร้างความสะดวกสบายบน Digital Platform ใหม่ๆ ตอบสนองทุกช่วงชีวิตของลูกค้า โดยจะพัฒนารูปแบบบริการนี้เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินมาใช้บริการที่สาขา เพราะธนาคารออมสินจะมีบริการทางการเงินทุกด้านบนโทรศัพท์มือถือ ในแอพพลิเคชั่นส์ MyMo ตั้งแต่เปิดบัญชีเงินฝาก ยื่นขอสินเชื่อ สมัครบัตรเครดิต ระบบจัดการเบิกถอนเงินสด โอนเงิน หรือชำระค่าสินค้า ซื้อขายหน่วยลงทุน กองทุน การซื้อขายสินค้า (My Merchant) และการสะสมคะแนนจากการใช้บริการ

กลยุทธ์ด้านที่ 3 Social Banking การสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมด้วย Social Branch ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของสถาบันการเงินที่จะมีสาขาดูแลด้านสังคมโดยเฉพาะ ซึ่งปี 2562 ธนาคารออมสินจะดำเนินการอย่างมีรูปแบบชัดเจน โดยจะมีบริการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ศูนย์แก้ไขหนี้นอกระบบ ศูนย์บริการชุมชน ข้อมูลต่างๆ ในท้องถิ่น จุดให้บริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐ (Financial Logistic Center) ศูนย์แสดงสินค้าชุมชน และ O2O ซื้อขายสินค้าออนไลน์ ตั้งเป้าหมายให้บริการในปีนี้กว่า 100 สาขา

"ภายใต้กลยุทธ์นี้ จะเป็นการบูรณาการระหว่างความคิดและการปฏิบัติงานให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการปรับกระบวนทัพใหม่โดยมีรูปแบบการดำเนินงานตามกรอบ 3 Banking โดยการมุ่งไปสู่ GSB WAY 2019 : วิถีออมสิน ยุคใหม่ นั้น ธนาคารฯ พร้อมด้วยบุคลากร และช่องทางบริการ จะทำหน้าที่เพื่อให้ลูกค้าและประชาชนได้เข้าถึงทุกๆ พื้นที่ จะให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าธนาคารออมสินจะดูแลทุกคน ดูแลชุมชน มีดิจิทัลแบงก์ มีสาขาจะปรับปรุงรูปแบบสาขาให้เหมาะสมกับศักยภาพในพื้นที่ โดยจะเน้นบริการ การขยายช่องทาง Digital ขณะเดียวกันยังจะมีการพัฒนา Feature ใหม่ๆ ผ่านช่องทางบริการ Mobile Banking ที่จะเป็นอีกช่องทางสำคัญในปี 2562 นี้ด้วย" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานสำหรับปี 2562 ว่า ธนาคารฯ คาดว่าจะมีสินทรัพย์รวม 2.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่เตรียมอนุมัติมากกว่า 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 9.62 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% เงินฝากเพิ่มขึ้น 9.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4% และตั้งเป้าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่เกิน 3% ขณะเดียวกันคาดว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการผ่านช่องทางการให้บริการดิจิทัล Mobile Application หรือ MyMo เพิ่มเป็น 8 ล้านคน

ขณะที่ ผลประกอบการปี 2561 ธนาคารออมสินมีกำไรสุทธิ 36,310 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิกว่า 64,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด และการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับมีรายได้มิใช่ดอกเบี้ยกว่า 18,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 7,900 ล้านบาท โดยเฉพาะกำไรจากการขายเงินลงทุน (IRPC) และรายได้ค่าธรรมเนียมจากบริการเงินกู้ ธุรกิจบัตรและอิเล็กทรอนิกส์ และรายได้ค่านายหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้บริการของลูกค้า พร้อมทั้งมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่จูงใจ

ขณะเดียวกัน นายชาติชาย ได้กล่าวถึงผลงนในช่วงเวลา 4 ปี (ปี 2558-2561)ว่า  ได้วางเป้าหมายให้ธนาคารออมสินเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ธนาคารฯ มีสินทรัพย์รวม 2,710,350 ล้านบาท ภายใต้การบริหารตามกรอบทิศทางที่กำหนดไว้ มีสินเชื่อรวม 2,111,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 97,776 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.85% มีเงินรับฝากฯ 2,298,412 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารไทย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 จำนวน 42,100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.87% ด้วยผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้ออมเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ สลากออมสินพิเศษ 3 ปี สลากออมสินพิเศษ 5 ปี ที่มีผลตอบแทนและรางวัลพิเศษที่น่าสนใจ รวมถึงมีช่องทางการให้บริการดิจิทัล อาทิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ Mobile Application หรือ "MyMo" ซึ่งให้ความคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีสัดส่วน Electronic Transaction กว่า 74% ของ Transaction รวม

นายชาติชาย กล่าวว่า ในปี 2561 ธนาคารฯ ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุม และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขหนี้ตามลำดับความสำคัญและอายุหนี้ การเจรจาไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ มีการเปิดศูนย์ย่อยควบคุมและบริหารหนี้จำนวน 80 ศูนย์ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับดี โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพียง 2.15% ของสินเชื่อรวม ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ และมีความมั่นคงทางการเงินจากระดับเงินกองทุนที่สูงกว่า 180,000 ล้านบาท หรือ 14.8% ขณะที่ธนาคารฯ ได้นำส่งรายได้แผ่นดินในปี 2561 สูงถึง 20,054 ล้านบาท เป็นอันดับ 4 ของรัฐวิสาหกิจ และเป็นอันดับ 1 ของสถาบันการเงินของรัฐ อีกด้วย

"ในปี 2561 ภายใต้เป้าหมาย GSB The Best & Biggest Local Bank in Thailand สามารถผลักดันให้ธนาคารมีการขยายตัวได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ เกินความคาดหมาย โดยปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้ายังมีต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารออมสินสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ทำให้ภาพรวมของลูกค้าในปี 2561 ขยายตัว 22% จากปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าเป้าหมายกลุ่มวัยเด็กที่จะเข้าสู่วัยนักศึกษา (อายุ 18-22 ปี) เพิ่มถึง 41% ส่วนวัยเริ่มทำงาน หรือ First Jobber (อายุ 23-30 ปี) เพิ่มขึ้น 23%"

ทั้งนี้ ภารกิจที่สำคัญควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ คือ ภารกิจโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหนี้นอกระบบ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และการฝึกพัฒนาอาชีพเพื่อเสริมรายได้ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบอาชีพรายย่อย ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชนและออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ล้วนมีผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้ดัชนีคุณภาพชีวิตของลูกค้าฐานรากที่เป็นลูกค้าธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.7180 จาก 0.6285 ในปี 2559

สำหรับการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ให้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่เข้มแข็ง เติบโตและยั่งยืนส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีโครงการพิเศษร่วมกับมหาวิทยาลัยในรูปแบบ GSB Startup Academy ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นในระบบ

"ความร่วมมือร่วมใจกันของผู้บริหารและพนักงาน ส่งผลให้ธนาคารฯ มีผลประกอบการที่ดีในปีที่ผ่านมา พร้อมกับพัฒนาการในด้านต่างๆ ทำให้ได้รับการยกย่องและได้รับมอบรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัล The Best Quality Leadership Award 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมยุโรปเพื่อการวิจัยคุณภาพ (European Society for Quality Research : ESQR), รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น, นักการเงินแห่งปี, CEO of the Year และบุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจการเงินและธนาคาร แต่รางวัลเหล่านี้ไม่เท่ากับการที่สามารถผลักดันให้ธนาคารออมสินได้เป็นที่รับรู้และจดจำในความทันสมัยด้วยแนวคิด มากกว่าธนาคาร ธนาคารเพื่อสังคม ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก"



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ