คมนาคมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสูงเป็นประวัติศาตร์
วางปี 62 สานต่อเมกะโปรเจกต์ต่อเนื่อง

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561

คมนาคมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสูงเป็นประวัติศาตร์ <br> วางปี 62 สานต่อเมกะโปรเจกต์ต่อเนื่อง


ปี 2561 ถือเป็นปีแห่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะภาครัฐได้อัดเม็ดเงินลงทุนไปมากถึง 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อผุดโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ทางด่วน สนามบิน และท่าเรือ เป็นต้น

จากแผนงานของกระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาคัดเลือกโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลและมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ

ดันผ่านฉลุย 44 โครงการ 2.1 ล้านล้านบาท

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 รวมทั้งโครงการสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันรวมจำนวน 44 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน 2.1 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ จำนวน 21 โครงการ วงเงินรวม 1,099,677 ล้านบาท ได้แก่ ทางบก จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 177,003 ล้านบาท ทางราง จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 916,779 ล้านบาท และการพัฒนาพื้นที่เชิงพานิชย์ (แปลง A) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทางน้ำ จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 3,895 ล้านบาท และทางอากาศ จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 2,000 ล้านบาท

และกลุ่มโครงการที่จะประกวดราคาแล้วเสร็จ หรือเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว จำนวน 23 โครงการ วงเงินการลงทุนรวม 1,107,271.18 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางถนน จำนวน 3 โครงการ ทางราง จำนวน 17 โครงการ ทางอากาศ จำนวน 2 โครงการ และโครงการระบบตั๋วร่วม จำนวน 1 โครงการ

ประกวดไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เส้นทางดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท หลังจากการรถไฟฯ ประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมประกวดราคา ส่งผลให้มีนักลงทุนจากทั่วโลกตบเท้าร่วมประมูลอย่างคับคั่ง สุดท้ายกลุ่ม กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) และ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ ซีพี เข้าวินชิงชัย โดยผลการเปิดซองด้านการเงิน ซึ่งมีกรอบวงเงินการร่วมลงทุนของรัฐกับเอกชนไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท  พบว่า กลุ่มซีพี เสนอวงเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ น้อยกว่า กลุ่ม บีเอสอาร์ ขั้นตอนต่อไปทางคณะกรรมการจะเรียกผู้ชนะอันดับ 1 มาเพื่อเจรจาต่อรองต่อไป

เปิดขายซองพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นซื้อซองร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.-19 พ.ย. 2561 โดยมีเอกชนที่ให้ความสนใจจำนวนมาก และเข้ามาซื้อเอกสารทั้งสิ้น 32 ราย โดยมาจากทุกมุมโลก ซึ่งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงการหลัก จึงอาจเป็นแรงจูงใจในการตัดสินเข้าร่วมลงทุนกับท่าเรือแหลมฉบัง

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือตู้สินค้า จำนวน 4 ท่า (ท่าเรือ E1 E2 F1 F2) ความจุ 7 ล้านตู้ต่อปี มูลค่าลงทุน 1.1 แสนล้านบาท โดยในช่วง1-2 ปีแรกจะเปิดประมูลพัฒนาท่าเรือ F1 F2 ก่อน ซึ่งมีความยาวหน้าท่ารวม 2,000 เมตร รองรับได้ 4 ล้านทีอียูต่อปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนักลงทุนที่อาจพัฒนาและใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มขีดรองรับเป็น 5-6 ล้านทีอียูต่อปีก็ได้ ส่วนท่าเรือ E1 E2 จะเปิดประมูลหานักลงทุนหลังจากนี้อีก 6-7 ปี โดยการท่าเรือฯ จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้างท่าเทียบเรือมาตรฐาน การขุดลอกร่องน้ำ ถนน ราง ระบบ ไฟฟ้า ประปา ทั้งหมด ลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ช่วงแรกจะเร่งพัฒนาพื้นที่ F ก่อน วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเร่งส่งมอบให้เอกชนไปพัฒนาต่ออีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเปิดให้บริการได้ในปี 2566-2567 โดยในส่วนของพื้นที่ท่าเรือ F มีอายุสัมปทาน 35 ปี

ตอกเสาเข็มรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 46,643 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 45,797 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างไปช่วงกลางปี 2561 โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จะสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ โมโนเรล ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี ซึ่งเส้นทางเริ่มต้นจากหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี วิ่งเข้า ถ.ติวานนท์ ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ พุ่งตรงสู่ถนนรามอินทรา จนถึงแยกมีนบุรี สิ้นสุดที่แยกร่มเกล้า คาดเปิดให้บริการปี 2564

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นรถลอยฟ้าทั้งหมด 23 สถานี ระยะทาง 30.4 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้น ที่จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว วิ่งไปจนถึงทางแยกบางกะปิ ถนนศรีนครินทร์ ถนนเทพารักษ์ สิ้นสุดที่ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งความคืบหน้าปัจจุบันอยู่ระหว่างการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคเพื่อเตรียมก่อสร้าง และกำหนดเปิดให้บริการภายในปีเดียวกัน 2564

เดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ปี 62

ตามแผนงานในอีก 4 ปีข้างหน้า (2562-2565) กระทรวงคมนาคมจะมีการลงทุนอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,164 กม. วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท, รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,234 กม. ได้แก่ ช่วงกรุงเทพ-หัวหิน,นครราชสีมา-หนองคาย, กรุงเทพ-พิษณุโลก, พิษณุโลก-เชียงใหม่, มอเตอร์เวย์ 4 เส้นทาง ได้แก่ สายนครปฐม-ชะอำ, หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย, ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน และทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-มหาชัย

ขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1,429 กม. เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นลาดยาง 3,085 กม., พัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม, พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าชายแดและภูมิภาค เพิ่มเติม 12 แห่ง กระจายสินค้าสู่อาเซียน, ก่อสร้างจุดพักรถบรรทุก 34 แห่ง ส่วนทางอากาศพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา, พัฒนาสนามบินภูมิภาค 7 แห่ง ได้แก่ สนามบินสกลนคร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ตรัง, ลำปาง, แพร่, หัวหิน สำหรับทางน้ำ มีการพัฒนาท่าเรือสงขลา, ท่าเรือบก จ.ขอนแก่น เปิดเส้นทางเดินเรือ ภูเก็ต-พังงา-กระบี่, พัฒนาเส้นทางเดินเรือเฟอร์รี่ 5 เส้นทาง ได้แก่ บางสะพาน-แหลมฉบัง, หัวหิน-พัทยา, สงขลา-แหลมฉบัง, สุราษฎร์ธานี-สัตหีบ, ปากน้ำปราณบุรี-สัตหีบ และปรับปรุงท่าเทียบเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 8 แห่ง

สร้างด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ

โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทางรวมประมาณ 18.7 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 30,437 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 13+000 ของถนนพระรามที่ 2 (ก่อนถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก) เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวสายทางจะซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร จนถึงบริเวณถนนพระรามที่ 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ สิ้นสุดโครงการโดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 มีทางขึ้น-ลง จำนวน 7 แห่ง คาดว่าเริ่มก่อสร้างในเดือนพ.ค. 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน (3 ปี 3 เดือน) เปิดให้บริการได้ในปีงบประมาณ 2565

เดินหน้าก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 3

สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 มีความคืบหน้าไปมากเกิน 30% แล้ว คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ช่วงกลางปี 2563 และเปิดให้บริการในปี 2564 อย่างไรก็ดี ภาครัฐเดินเดินหน้าพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่  3 วงเงินลงทุนราว 6.3 หมื่นล้านบาทต่อ เพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่สองวงเงิน 4.1 หมื่นล้านบาท และรันเวย์แห่งที่สามวงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูลในปี 2563 และก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2564 รองรับ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมงคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน

โครงการที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ของกระทรวงคมนาคม ที่มีมูลค่าการลงทุนอย่างมหาศาล แต่ยังมีอีกมากมายหลายโครงการที่จ่อคิวรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถ้าหากกระทรวงคมนาคมสามารถผลักดันและดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้ เชื่อว่า ประเทศไทยจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้าแห่งเอเชียได้



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ