“ธรรมนูญครอบครัว” ปัจจัยสำคัญดันธุรกิจสู่ความสำเร็จ

วันพุธที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2561

“ธรรมนูญครอบครัว” ปัจจัยสำคัญดันธุรกิจสู่ความสำเร็จ


“ธุรกิจครอบครัว” มองอนาคต 2 ปีข้างหน้ายังโตต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าการมีวัฒนธรรมองค์กรและคุณค่าที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับกิจการได้มากกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว อย่างไรก็ตามผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หรือแม้แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต

PwC เผยผลสำรวจรายได้ของธุรกิจครอบครัวโตต่อเนื่อง อีก 2 ปี ข้างหน้า ขณะที่รายได้ปี 61  โตที่ดี   พบ กิจการภายใต้ผู้นำรุ่นแรกเติบโตดีกว่ารุ่นอื่นๆ ส่วนธุรกิจครอบครัวไทย ผู้นำรุ่นใหม่ยังเผชิญความท้าทายด้านช่องว่างระหว่างวัย การยอมรับในฝีมือบริหาร หลังทยอยส่งไม้ต่อการบริหารให้ผู้นำรุ่นที่ 3     แจง เตรียมจัดทำคอร์สอบรมทายาทรุ่นใหม่รับช่วงธุรกิจต่อให้ประสบความสำเร็จ คาดเริ่ม 30 มิ.ย. 62

“นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย” หัวหน้าสายงานธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Global Family Business Survey 2018 ที่ทำการสำรวจธุรกิจครอบครัว จำนวน 2,953 บริษัท ใน 53 ประเทศทั่วโลก พบว่า 84% ของผู้บริหารคาดว่า รายได้ของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ 16% ยังมองด้วยว่า รายได้จะเติบโตอย่าง “รวดเร็ว” และ “ก้าวกระโดด”

ส่วนรายได้ของธุรกิจครอบครัวปี 2561 ที่ตอบว่ามีรายได้เติบโต ซึ่งมีสัดส่วนถึง 69% ถือเป็นระดับสูงสุด ในรอบ10 ปี  และมีการเติบโตด้วยตัวเลข  2 หลักซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2550

ผลสำรวจประจำปีนี้ยังพบว่า ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นแรกมีความสามารถในการเพิ่มรายได้ให้เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักมากกว่าผู้นำรุ่นอื่นๆ อย่างชัดเจน ขณะที่ 75% ของผู้บริหารธุรกิจครอบครัวเชื่อว่า การมีวัฒนธรรมองค์กรและคุณค่าที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับกิจการได้มากกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว โดย 49% ของผู้บริหารได้มีการกำหนดคุณค่าองค์กรโดยเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

“ผลการดำเนินงานภายใต้การบริหารธุรกิจครอบครัวของผู้นำรุ่นบุกเบิกที่เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักมากกว่ารุ่นอื่นๆนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสมดุลระหว่างการบริหารความต่อเนื่องของรูปแบบทางธุรกิจกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังพบว่าการที่องค์กรมีการกำหนดคุณค่าที่ชัดเจนและมีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรยังส่งผลต่อการกำหนดแผนเชิงกลยุทธ์ในเชิงบวก รวมถึงแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งด้วยเมื่อเทียบกับผู้นำในรุ่นปัจจุบัน จะเห็นว่าผู้นำรุ่นนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หรือแม้แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก” นิพันธ์ บอก

สำหรับความท้าทาย 3 อันดับแรกของธุรกิจครอบครัวในอนาคตนั้น ประกอบด้วย นวัตกรรม (66%) การเข้าถึงแหล่งแรงงานที่มีทักษะ (60%) และ การเข้าสู่ดิจิทัล (44%) โดย 80% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวมองว่าปัจจัยเหล่านี้ คือความท้าทายที่มีนัยสำคัญ โดยผลสำรวจยังระบุด้วยว่า 53% ของธุรกิจครอบครัวที่มีรายได้เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก สามารถระบุหมวดหมู่คุณค่าองค์กรได้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการผสมผสานกลยุทธ์ความเป็นเจ้าของกับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจครอบครัวเข้าด้วยกัน ส่วนแหล่งเงินทุนที่ธุรกิจครอบครัวใช้มากที่สุดในปัจจุบัน จากสินเชื่อธนาคาร หรือ วงเงินสินเชื่อ เงินทุนภายในครอบครัว

สำหรับ ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย นิพันธ์ บอกว่า มีมูลค่า รวม 30 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของระบบเศรษฐกิจซึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็น บริษัทครอบครัว 3 ใน 4 ของบริษัทจดทะเบียน และมูลค่าของธุรกิจครอบครัวไทยติดอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 7 ของเอเชีย แปซิฟิก

ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้นำรุ่นที่ 2 และบางครอบครัวเริ่มส่งต่อกิจการให้แก่ผู้นำรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า กลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของไทยเหล่านี้ ก็เผชิญกับแรงกดดันและความท้าทายในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตคล้ายคลึงกับผู้นำรุ่นใหม่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างที่เกิดจากการสร้างความน่าเชื่อถือ และ ช่องว่างในการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั้ง 2 รุ่นจำเป็นต้องเปิดใจและมีการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น และ การบริหารแบบมืออาชีพ ซึ่งเป็นเทรนด์

นอกจากนี้ “ธรรมนูญครอบครัว” ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัวไทย เพราะจะเป็นตัวกำหนดกฎ กติกา และเงื่อนไขในการทำงานร่วมกันของสมาชิกครอบครัว รวมทั้งช่วยลดปัญหาของสมาชิกรุ่นต่อๆ ไปที่เข้ามาสืบทอดกิจการ ซึ่งธรรมนูญครอบครัวจะมีได้ ต้องเกิดจากคุณค่าภายในครอบครัว และคุณค่าของธุรกิจครอบครัวที่แข็งแกร่ง ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว และต้องมีจุดสมดุลระหว่างเป้าหมายของกิจการกับความต้องการของครอบครัวด้วย

“ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทยในหลายองค์กรเริ่มมีการบริหารงานแบบมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งจะนำพาองค์กรสู่การมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้ ผลที่ตามมาคือ ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ มีภาพลักษณ์ที่ดี และจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมาก นอกจากนี้ ยังมีความตื่นตัวในการลงทุนด้านดิจิทัล ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจครอบครัวยุคใหม่”

ปัจจุบัน PwC มีลูกค้าที่เป็นธุรกิจครอบครัวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ mai กว่า 100 บริษัท และขณะนี้มีลูกค้าอีก 40 บริษัท ที่มีรายได้ 1 พันล้านบาทขึ้นไป ที่อยู่ระหว่างการจัดทำระบบบัญชี เพื่อเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งปกติใช้เวลาในการวางระบบบัญชีประมาณ 2-3 ปี

“นิพันธ์” บอกว่า PwC เตรียมเปิดโครงการ PwC's Next Gen Club in Thailand ภายใน 30 มิ.ย. 62 ในการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรของธุรกิจครอบครัว มารับช่วงต่อในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยจะมีการจัดโปรแกรมให้ความรู้ อาจจะเป็นคอร์สอบรมเป็นรายเดือน หรือ เป็นรายไตรมาส โดยเชิญ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ในด้านต่างๆ มาให้ความรู้ และมีการจัดให้ผู้รับช่วงต่อธุรกิจในประเทศต่างๆในอาเซียนมาพบปะกัน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนและยังสามารถได้พันธมิตรใหม่เข้ามาช่วยในการขยายธุรกิจต่อไป

โดยผู้ที่จะเข้ามาอบรมได้ จะต้องเป็นบริษัทที่มีรายได้2-3 พันล้านบาท ต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทขนาดดังกล่าวประมาณ 2-3 พันบริษัท คาดว่าการอบรมจะจำกัดจำนวนคนไม่เกิน 15 คน และมีอายุระหว่าง อายุ 20-30 ปี  โดย  PwC จะไม่คิดค่าใช้จ่ายในการอบรมครั้งนี้ เพราะหวังให้ระยะยาวให้ผู้เข้ามาสืบทอดธุรกิจ ทำให้บริษัทมีการเติบโต ไปพร้อมกับ PwC



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ