วช.ตั้งศูนย์วิจัยชุมชน ฟื้นชีวิตเกษตรกรสวนลิ้นจี้ สมุทรสงคราม

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

วช.ตั้งศูนย์วิจัยชุมชน ฟื้นชีวิตเกษตรกรสวนลิ้นจี้ สมุทรสงคราม


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวว่า วช.ได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายเกษตรกร ริเริ่มโครงการ “ศูนย์วิจัยชุมชน” เพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่องค์ความรู้ การใช้เทคโนโลยีและการวิจัยด้านการเกษตร ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรในชุมชน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนนำร่องในพื้นที่ ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ภายใต้ชื่อ ศูนย์วิจัยชุมชน “สวนลิ้นจี่ 200 ปี” ก่อนจะมีการขยายผลจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวให้ครบ 8 ศูนย์ ใน 4 ภาค ทั่วประเทศภายในปี  งบประมาณ 2561-2562 ก่อนตั้งเป้าขยายเพิ่มเติมเป็น 20-30 ศูนย์ทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ 2562-2563

สำหรับ ศูนย์วิจัยชุมชน “สวนลิ้นจี่ 200 ปี” มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ พันธุ์ค่อม ซึ่งไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่า 4 ปีแล้ว ให้ต้นลิ้นจี่สามารถติดดอกออกผล และนำไปสู่รายได้ของเกษตรกรได้ โดยในเดือนเมษายน ปี 2561 ที่ผ่านมา เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 20 ราย มีผผลิตลิ้นจี่ออกสู่ตลาดประมาณ 4,000 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 400 ล้านบาท

ด้าน รศ.ดร.คณพล จุฑามณี รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเครือข่ายวิจัยภูมิภาค:ภาคกลาง กล่าวว่า ศูนย์วิจัยชุมชนได้ร่วมทำงานกับเกษตรกรเครือข่ายในพื้นที่จ.สมุทรสงคราม เพื่อทำการวิจัยถึงที่มาของปัญหาผลผลิตลิ้นจี่ไม่ออกสู่ตลาดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยนำเทคโนโลยีและผลงานวิจัย “การควั่นกิ่งและผสมเกษร” เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร และพบว่าสามารถช่วยเหลือให้ลิ้นจี่มีผลผลิตตามฤดูกาลได้ โดยในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมามีลิ้นจี่ในสวนของเกษตรกร 20 รายออกผลผลิต และสามารถจำหน่ายสู่ตลาดได้ประมาณ 4,000 ตัน มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวคิดเป็นประมาณ 40% ของสวนลิ้นจี่ทั้งหมดในพื้นที่ โดยในปีนี้ตั้งเป้าว่าจำนวนผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอีกถึงประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด

ขณะที่นายชัยยันต์ เจียมศิริ ประธานกลุ่มเครือข่ายสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า โครงการ ศูนย์วิจัยชุมชน “สวนลิ้นจี่ 200 ปี” มีส่วนในการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เป็นอย่างมาก จากในอดีตกว่า 4 ปีแล้วซึ่งผลผลิตลิ้นจี่ จ.สมุทรสงคราม ไม่เคยออกสู่ตลาดเลย จนเกิดความร่วมมือกันของ วช. และ ม.เกษตรฯ ในการนำผลงานวิจัยเข้ามาช่วยเหลือ

สำหรับที่ผ่านมาพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งปลูกลิ้นจี่พันธุ์ “ค่อม” ที่เป็นพืช GI จ.สมุทรสงคราม หลงเหลืออยู่เพียงประมาณ 5,700 ไร่ ใน 2 อำเภอ คือ อ.อัมพวา และอ.บางคนที เนื่องจากเกษตรหลายรายประสบปัญหาลิ้นจี่ไม่มีผลผลิต จุงทำการโค่นต้นลิ้นจี่ทิ้ง และปลูกส้มโอแทน แต่เมื่อมีงานวิจัยดังกล่าวเข้ามาช่วยเหลือจึงทำให้ต่อจากนี้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากผลผลิตของลิ้นจี่ได้อีกครั้งหนึ่ง

“เทคโนโลยีการควั่นกิ่งและผสมเกสรจะช่วยทำให้ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมกลับมาเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร จ.สมุทรสงครามอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ด้านเทคโนโ,ยีดังกล่าวแล้ว จะช่วยต่อยอดไปถึงการท่องเที่ยวชุมชนที่มีการจัดการเป็นกระบวนการสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรและชุมชนทั้งจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตร วัฒนธรรม อีกต่อไปในอนาคต”



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ