อาวุธครบมือ.. พร้อมลงสนามการเมือง..!!

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561

 อาวุธครบมือ..  พร้อมลงสนามการเมือง..!!


เรียกว่าเป็น Hot Topic ไม่น้อยเลยทีเดียว ที่อยู่ๆ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเปิดเฟซบุ๊คส่วนตัว “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” Prayut Chan-o-cha อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา

เรียกว่าเป็นการเปิดกว้าง ใครอยากเขียน อยากร้องเรียน อย่างแนะนำ อยากเข้าถึง ก็จัดได้เลย เพราะ “นายกฯลุงตู่” บอกว่าเฟซบุ๊คนี้ดูแลเอง เป็นแอดมินเอง เพราะฉะนั้นประชาชนชาวไทย หรือ FCลุงตู่” สามารถเข้ามาดูได้ตลอดเวลา หรือว่าจะแค่เข้ามาส่องก็ตามแต่ความสะดวกของแต่ละคน  

ต้องบอกว่า “นายกฯ ลุงตู่”  เปิดกว้างมากพอสมควรสำหรับการเปิดเพจในเฟซบุ๊คอย่าลืมว่าโลกโซเชียลทุกวันนี้ มันรวดเร็ว  รุนแรง เข้าถึงง่าย และที่สำคัญเปิดให้แสดงความคิดเห็นกันแบบเสรีมากพอควร ดังนั้นหนีไม่พ้นว่าต้องมีบรรดา “ขาเกรียน” เข้าไปคอมเม้นท์แรงๆ ขณะเดียวกันก็มีคนชม ประเภท “องครักษ์พิทักษ์นายกฯ” ก็มีอยู่มาก  

ประเด็นที่พูดกันเยอะว่ามาเปิดเพจอะไรตอนนี้ มุ่งหวังเรื่องการเมืองหรือเปล่า? คำตอบก็น่าจะชัดเจนในตัวอยู่แล้ว  ประเด็นก็คือนายกตู่จะนั่งเขียน ผ่านเฟซบุ๊คได้นานแค่ไหน จะตะบะแตกเมื่อไหร่คงต้องติดตามกันต่อไป

เนื่องเพราะหลังการเปิดหน้าท้ารบผ่าน “สงครามไซเบอร์” ปรากฎว่ามีแฟนคลับของลุงตู่ทั้งเชียร์ทั้งต้าน รวมตัวกันมาคอมเม้นท์แสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียส์ของ พล.อ.ประยุทธ์เพียบ ทั้ง “โอ๊ค”พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายอดีตนายกฯทักษิณ โพสต์ข้อความรับน้องพล.อ.ประยุทธ์ทางทวิตเตอร์ส่วนตัว Oak Panthongtae ว่า “ยินดีต้อนรับครับ!ท่านนักการเมืองจำเป็น เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน#ลุงฉุนเป็นคนตลก” และข้อความทางอินสตราแกรมoak_ptt ว่า “..ลุงฉุนรับสมัครนักลบไซเบอร์ไหมครับ ลบเร็ว ลบหมด ลบทุกคอมเมนต์ ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ..”         

ขณะที่คู่ปรับอย่าง “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ ว่าที่หัวหน้าพรรคเกียน คอมเมนต์ในเพจเฟซบุ๊กนายกฯ ว่า “..รับสมัครแอดมินมั๊ยครับ พอดีไม่มีเงินใช้ บัญชีธนาคารถูกอายัดมาสี่ปีกว่าแล้ว..” และ “..อ่านเมนท์เพจนี้สบายมาก ไม่หนักใจ อ่านไปอ่านมามีแต่ความบันเทิง ต่อให้ไม่จ้างให้เป็นแอดมินก็จะเข้ามาอ่านบ่อยๆ ชอบมาก ขอให้เพจนี้อยู่นานๆ..”

ขณะเดียวกัน “โรดแม็ปคสช.” กรณีการเลือกตั้ง เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยล่าสุดคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. เตรียมเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) .คลายล็อกเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถ “ระดมทุน” และ “รับบริจาค” ได้ ทำให้พรรคการเมืองเริ่ม “ขยับ” กันมากขึ้นทั้งในรูปแบบการ “ลงพื้นที่” ที่แม้ว่าจะยังไม่ใช่การหาเสียง รวมทั้งการเชิญชวนประชาชนให้เข้ามาติดตามพรรคการเมืองของตนผ่าน “โซเชียลมีเดีย” ต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์

 แต่ที่หลายฝ่ายออกอาการ “เป็นห่วง” คือ การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียที่ทาง “รัฐบาล คสช.” ปิดกั้น และเข้าไปควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด จนอาจถึงขั้นเป็นกลวิธี “ปิดปาก” และเตะสกัดการหาเสียงของพรรคการเมืองต่อไปในอนาคต

แม้ฝ่ายรัฐบาลจะระบุว่า จะมีการแก้ไขคำสั่งให้พรรคการเมืองสามารถติดต่อกับสมาชิกพรรคทางโซเชียลมีเดีย เช่น แอพพลิเคชั่นไลน์ ได้แต่ต้องมีสมาชิกอยู่ในกลุ่มเท่านั้น รวมถึงไม่สามารถเปิดให้แสดงความคิดความเห็นทาง เฟซบุ๊คสู่สาธารณะอีกต่อไป

นั่นเท่ากับว่าหากการแก้ไขคำสั่ง คสช.ครั้งนี้สำเร็จเรียบร้อย ช่องทางสื่อสารเดียวที่เหลืออยู่ของคนการเมืองในเวลานี้ย่อมตีบตันลงไปไม่เปิดกว้างเหมือนที่ผ่านมา

ต้องยอมรับว่า ในยุคที่ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือ ช่องทางการสื่อสารหลักถูกควบคุมทั้งทางตรงและทางอ้อม จนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนการเมืองและคนเห็นต่างทั่วไปยากจะเล็ดลอดเผยแพร่สู่สาธรณะได้

เหลือก็แต่เพียงแค่ “โซเชียลมีเดีย” ที่พอจะเป็นช่องทางที่แม้จะไม่แพร่หลายหรือเข้าถึงประชาชนได้ใน วงกว้างเหมือนสื่อกระแสหลักทั่วไป แต่ก็พอจะสามารถสื่อสารไปถึงประชาชนบางส่วน และยังอาจถูกสื่อกระแสหลักหยิบยกไปขยายผลต่อไป

จนทำให้หลายๆ คนยึด “โซเชียลมีเดีย” เป็นช่องทางแสดงความคิดความเห็น ทั้งตอบโต้ทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ คสช. เรื่อยไปจนถึงการหาเสียงให้กับพรรคของตัวเองในวันที่ทุกอย่างถูกควบคุม

ที่ผ่านมา แม้ คสช.จะพยายามกดดันเข้าไปควบคุมดูแลการแสดงออกทางช่องทางออนไลน์ ผ่านกฎหมายที่มีอยู่ แต่ก็ยังไม่อาจควบคุมการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านช่องทางที่เปิดกว้างเช่นนี้ได้ การที่ คสช.รุกคืบเตรียมขยับเข้ามาควบคุมการแสดงความคิดความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย จึงยิ่งตอกย้ำถึงความพยายาม “ชิงความได้เปรียบ” จากบรรดาพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ยังไม่อาจออกมาขยับทำกิจกรรมหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ต่างจากรัฐบาล คสช.ซึ่งมีช่องทางการสื่อสารของ ตัวเอง สามารถแสดงความคิดความเห็นเผยแพร่ผลงานรัฐบาลเรียกคะแนนสร้างความเชื่อมั่นได้เรื่อยๆ

สอดรับไปกับการติดเครื่องเร่งทำ “ประชาสัมพันธ์ผลงาน” อย่างเข้มข้น ดังจะเห็นว่ามีการปรับรูปแบบดึงดารา นักแสดง ที่มีชื่อเสียงมาเป็นอีกกลไกเรียกความสนใจ หลังจากที่ผ่านมา รูปแบบการสื่อสารของทีมประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล คสช.อาจไม่เข้าตาหรือทำ ไม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งที่มี เครื่องมือเครื่องไม้ครบครัน

แม้จะพยายามเปิดเกมรุกใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างการเปิดไลน์ สายด่วน เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารไปถึงประชาชน แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมหรือมีกระแสตอบรับที่ดี

ขณะที่พรรคการเมืองหลายพรรคก็ได้ลงมาในสนามออนไลน์เพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองด้วย เห็นได้ชัดเจนจากกรณีของ พรรคอนาคตใหม่ ที่ทุมกำลังกับการสร้างความนิยมผ่านโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก ซึ่งก็ได้ผลตอบรับอย่างดี ภายหลังชื่อของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่มีคนติดตามราว 1 แสนคนก็ติดเข้ามาอยู่ในโพลล์ประชาชนต้องการให้เป็นนายกฯ ด้วย ทั้งๆ ที่เป็นหน้าใหม่และไม่มีฐานทางการเมืองมาก่อน

นอกจากนี้ยังมี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี มีคนติดตามในเฟซบุ๊กประมาณ 6 ล้านคน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย  “ทักษิณ ชินวัตร” และ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี มีคนตามประมาณ 2 ล้านคน

การที่ “นายกฯตู่” ลงมาร่วม “วงไพบูลย์” โดดเข้าเล่นใน “สงครามสื่อ” จึงเป็นที่น่าจับตามองแม้ว่าตามหลังคนอื่นอยู่หลายก้าวก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่รั้งท้ายเสียทีเดียว เนื่องจากเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีสถานะเป็นรัฐบาลที่ “กุมอำนาจรัฐ”

ในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีอาวุธครบมือสำหรับลงสนามแล้ว โอกาสชนะการเลือกตั้งมีมากกว่าใคร เหลือเพียงแต่อย่า “สะดุดขา” ตัวเองเท่านั้น..!!

 

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ