บิ๊กธุรกิจจับมืออุ้มสินค้าเกษตร เปิดมุมขายระบายสู่กลุ่มผู้บริโภค

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

บิ๊กธุรกิจจับมืออุ้มสินค้าเกษตร เปิดมุมขายระบายสู่กลุ่มผู้บริโภค


กระทรวงพาณิชย์จับมือกระทรวงเกษตร ใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” ร่วมมือภาคเอกชนดูแลเกษตรกร เชื่อมโยงเครือข่ายการค้า สร้างสมดุลทางการตลาด และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร บิ๊กธุรกิจขานรับเปิดมุมจำหน่ายทั่วประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรหลักของประ เทศ โดยการบริหารจัดการอุปสงค์อุปทานตามหลัก “การตลาดนำการผลิต” เพื่อสร้างสมดุลทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร จึงได้ให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันการดำเนินนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญผู้ประกอบการรายใหญ่มาร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการ และรับทราบความต้องการสินค้าเกษตรของภาคเอกชน เพื่อส่งต่อให้กระทรวงเกษตรฯ สามารถวางแผนการเพาะปลูกได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก CEO ของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัล ไทยเบฟ CPF CP All เบทาโกร BJC ไทยยูเนี่ยน เทสโก้ โลตัส แมคโคร บิ๊กซี และท็อปส์

โดยในเบื้องต้นได้ผลสรุปว่าจะนำร่องที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นโครงการแรก และกำลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้สิ่งจูงใจเกษตรกรที่จะหันมาปลูกข้าวโพดหลังจากทำนา เพื่อสนับสนุนให้ไปปลูกพืชอย่างอื่นที่ไม่ใช่ข้าว เพราะการปลูกข้าวอย่างเดียวบางครั้งมีปัญหา จึงต้องส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นเพิ่ม จากนั้นจะขยายไปยังผักและผลไม้ ซึ่งจะทำงานในรูปแบบเดียวกันคือ วางแผนการเพาะปลูก และการทำตลาดร่วมกัน

ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลเกษตรกรให้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ขายได้ในราคาที่เหมาะสม และมีรายได้ที่แน่นอน โดยใช้กลไกประชารัฐและความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งทุกบริษัทก็ได้มีการดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯอยู่แล้วในการติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด เชื่อมโยงตลาดให้สินค้าเกษตรทั้งในสภาวะปกติ และในช่วงที่ผลผลิตล้นตลาดหรือขาดแคลน เช่น ผลไม้ ข้าว เป็นต้น

ขณะที่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลให้ผลิตสินค้าเกษตรให้เพียงพอกับความต้องการตลาด โดยกระทรวงเกษตรฯจะพิจารณาว่าสินค้าเกษตรแต่ละชนิดที่ตลาดต้องการควรมีปริมาณการผลิตเท่าใด เช่น ข้าว ยางพารา ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว โดยการสำรวจข้อมูลร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน ในเบื้องต้นได้ทำมาตรการจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยทำการเชื่อมโยงตลาด สร้างความมั่นใจด้านราคาที่จะขายได้ในราคาที่เหมาะสม มีการประสาน ธ.ก.ส. ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไร่ละ 2,000 บาท ดอกเบี้ย 0.1% และยังช่วยในการประกันภัยพืชผลให้อีกไร่ละ 40-50 บาท ซึ่งมาตรการทั้งหมดใช้เงินประมาณ 641 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรใน 33 จังหวัด พื้นที่เพาะปลูก 2 ล้านไร่ โดยจะเสนอ ครม.ได้ในสัปดาห์นี้

“ในการหารือ ผู้ประกอบการได้ให้ความสำคัญกับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผักผลไม้ อินทรีย์ (Organic) การควบคุมคุณภาพ การรับรองผลผลิตที่ได้มาตรฐาน การคัดแยกบรรจุผักผลไม้ก่อนส่งให้ผู้ประกอบการ โดยหลายๆ บริษัทได้มีการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรด้วยแล้ว เช่น CPF เบทาโกร ในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังทำนา 7-11 วางจำหน่ายกล้วยหอม ลำไย ลองกอง Tops BigC Tesco Lotus จำหน่ายผลไม้ และสินค้าตามฤดูกาล เป็นต้น”  รมว.กระทรวงเกษตรฯ กล่าว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ