เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ล่าสุด ทาง “ทีมสยามธุรกิจ” ได้ลงไปร่วมงานประมูลมังคุด"กลุ่มมังคุดชะอวดพัฒนา" สนับสนุนโดย อบจ.นครศรีธรรมราช และได้ร่วมสัมภาษณ์ พูดคุย กับ นายณัฐกฤช สิทธิโอสถ นายอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช , นายเสถียร มูสิเกิด ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดชะอวดพัฒนา และ นายมนูญ สิริธรรม รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด รักษาราชการแทนปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดและปฏิบัติหน้าที่แทนนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงสถานการณ์ชาวสวนชาวเกษตรในจังหวัดนครศรีธรรมราชว่าขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง
นายณัฐกฤช สิทธิโอสถ นายอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จากปัญหาเรื่องพืชผลทางการเกษตรราคาที่ตกต่ำของพี่น้องชาวเกษตรกร และมีรายจ่ายที่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ทางภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นว่าต้องนำเรื่องการตลาด เรื่องการผลิต และผลักดันให้ชาวเกษตรกรปรับตัวเข้ากับยุค 4.0 โดยทางภาครัฐก็จะนำองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้าไปหาพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นน้ำไปยังปลายน้ำ การปลูกการดูแลรักษา การปลูก การผลิต หรือแม้กระทั่งการแปรรูป ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลพี่น้องชาวเกษตรให้สามารถลืมตาอ้าปากได้
ทั้งนี้ ยังจะต้องมีการพัฒนารวมกลุ่มพี่น้องชาวเกษตรกรให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อที่จะได้มีการควบคุม ดูแล รักษาให้มีประสิทธิภาพ มีเอกภาพ และมีปรสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำนา ปลูกข้าว ปลูกผลไม้ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นหัวใจหลัก ๆ ที่ทางภาครัฐกำลังจะพัฒนาให้พี่น้องชาวเกษตรกรมีองค์ความรู้ มีการบริหารจัดการที่ดี ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายนี้ เพราะสุดท้ายแล้ว พี่น้องชาวเกษตรกรต้องมีการปรับตัว และปรับวิธีการการทำเกษตรกรรม เพราะการคาดหวังในอนาคตของเรื่องราคาผลผลิตจะได้สูงขึ้น
อีกอย่างในเรื่องของเกษตรกรรมนั้น พี่น้องชาวเกษตรกรมีความชำนาญอยู่แล้ว ทางภาครัฐก็ยังนำแนวทางจากศาสตร์พระราชา ในหลวง ร.9 มาช่วยสนับสนุนให้พี่น้องชาวเกษตรกรได้ปลูกไร่นา เป็นสวนผสม ดำเนินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายในครัวเรือน และหาแนวทางลดต้นทุนในการผลิตทั้งหมด ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลดีให้พี่น้องชาวเกษตรได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับการสนับสนุนจากทางภาครัฐนั้น ก็จะสนับสนุนในเรื่องเทคโนโลยีให้กับประชาชน เพราะจากความเคยชินของพี่น้องชาวเกษตรกรจะเน้นการทำเกษตรในรูปแบบเดิม และการตลาดก็ไม่มีการแข่งขันกันสูง แต่ปัจจุบันมีผู้แข่งขันเข้ามามาก ไม่ใช่มีเพียงเฉพาะในประเทศเท่านั้น ยังมีมาจากต่างประเทศด้วย ซึ่งหลายประเทศก็มีการทำเกษตรกรรมที่คล้ายกับบ้านเรามาก ฉะนั้นเรื่องคุณภาพของผลิตผลที่ออกมาจะสำคัญมาก ทางภาครัฐจึงต้องนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยสนับสนุนชาวเกษตรกร รวมถึงยังต้องหาตลาดใหม่ๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกรด้วย
“ถ้าพี่น้องชาวเกษตรกรเป็นเกษตรกรรายย่อย และขาดการรวมกลุ่ม หรือรวมกลุ่มแล้วแต่ไม่เข้มแข็ง การเชื่อมโยงหาตลาดใหม่ๆ คงจะเป็นไปได้ยากลำบาก แต่การที่ภาครัฐเข้ามาเป็นตัวเชื่อมให้กับพี่น้องชาวเกษตรและตลาดใหม่แล้ว ก็จะส่งผลให้มีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งในต่างประเทศก็จะมีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้นด้วย และจะมีสินค้าที่หลากหลายขึ้น ฉะนั้นพี่น้องชาวเกษตรจะต้องคงรักษามาตรฐานของสินค้าไว้ให้ดีที่สุดด้วย”
อย่างไรก็ดี ในพื้นที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีผลไม้มังคุดปลูกด้วย แต่ในเรื่องราคาก็มีขึ้นมีลง ตามราคาขายของตลาด ซึ่งราคาก็ไม่ได้สูงมาก แต่มาในปี 2561 นี้ ราคามังคุดก้าวกระโดดขึ้นไปสูงถึงกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท แต่เดิมเพียงแค่ 20 บาท ดังนั้น พี่น้องชาวเกษตรกรจึงต้องพยายามรักษามาตรฐานของสินค้าไว้ให้ได้ เพราะต่อไปตลาดต่าง ๆ จะต้องเน้นในเรื่องของสินค้าเกษตรอินทรีย์ ไม่มีสารตกค้าง สินค้าเกรดเอ สินค้าเกรดพรีเมี่ยม ฉะนั้นถ้าไม่ดูแลรักษา และไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยดูแลในเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องของการบำรุงปุ๋ยให้ดี เรื่องการบริหารจัดการที่ดี เรื่องการตลาดที่ดี ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ จะตามมาอีกมากมาย ที่สำคัญผู้บริโภคนั้นมีตัวเลือกไปหาซื้อที่อื่นได้
“การรวมกลุ่มของพี่น้องชาวเกษตรกรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการลงพื้นที่ที่ไรก็จะย้ำกับพี่น้องชาวเกษตรกรเสมอว่า จะต้องรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็งและต้องมีแกนนำ แกนหลัก เพื่อที่จะสามารถเชื่อมโยงไปยังผู้รู้ทั้งภาครัฐ และเอกชนให้เข้ามาช่วยสนับสนุน เพราะถ้าหากทำเพียงลำพังโดยที่ไม่มีเพื่อนฝูงก็จะเป็นเรื่องที่ลำบากมาก”
ด้าน นายเสถียร มูสิเกิด ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดชะอวดพัฒนา กล่าวว่า กลุ่มมังคุดชะอวดพัฒนา ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ และแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างผู้ผลิต พ่อค้าคนกลาง ผู้ขาย และผู้ซื้อ โดยจุดประสงค์หลักคือการพัฒนามังคุดของอำเภอชะอวดให้มีคุณภาพ และให้ชาวเกษตรกรสามารถลืมตาอ้างปากได้ และเราเปลี่ยนจากมังคุดกิโลกรัมละ 10 บาท มาเป็นการประมูลขายมังคุดเพื่อส่งออก โดยมีราคาขายได้ถึงกิโลกรัมละ 300 กว่าบาท ซึ่งจะมีหลายบริษัทส่งออกเข้ามาร่วมประมูล ไม่ว่าจะเป็นบริษัทส่งออกไปยังยุโรป เกาหลีใต้ จีน เป็นต้น
สำหรับการวัดมาตรฐานในการประมูลนั้น จะประกอบด้วย เบอร์หนึ่งมังคุดมันใหญ่ ผิวมัน น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 85 กรัม ลายไม่เกิน 10% เบอร์สอง น้ำหนัก 70-84 กรัม ผิวมัน ลายไม่เกิน 10% เบอร์สาม น้ำหนัก 65-70 กรัม ผิวมัน ลายไม่เกิน 10% และเบอร์สี่ ผิวไม่มัน เป็นฟรีเบอร์ หรือลูกตกไซส์ พ่อค้าสามาระเลือกได้ตามใจชอบ
ทั้งนี้ กลุ่มสมาชิกมังคุดชะอวดพัฒนาได้ทำการปลูกมังคุดรวมประมาณ 1,400 ไร่ สามารถผลิตมังคุดได้ไร่ละ 800-1,000 กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าในปี 2561 จะมีผลผลิตมังคุดออกมามากถึง 1,200 ตัน หรือประมาณ 1.2 ล้านกิโลกรัม
“ได้ตั้งกลุ่มมังคุดชะอวดพัฒนาขึ้นมาได้ 7 ปีแล้ว ช่วงแรกๆ จะมีปัญหาในกลุ่มสมาชิก เพราะความเข้าใจไม่ค่อยตรงกัน แต่หลังจากนี้จะเข้าใจหมดว่าต้นทุนตลาดเป็นอย่างไร การผลิตเป็นอย่างไร จะไม่มีการเอาเปรียบกัน พ่อค้าจะเอาเปรียบเราไม่ได้ และเราก็จะไม่เอาเปรียบพ่อค้า และจะต้องคงมาตรฐานไว้ให้ได้”
ขณะที่ นายมนูญ สิริธรรม รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด รักษาราชการแทนปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดและปฏิบัติหน้าที่แทนนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า มังคุดในปัจจุบันก็จะเริ่มลดราคาลงมาตามตลาด จากราคา 120 บาทต่อกิโลกรัมก็จะลดลงไปต่ำกว่า 100 บาทแล้ว ซึ่งการรวมกลุ่มของกลุ่มมังคุดชะอวดพัฒนา ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจากอดีตนั้น ชาวเกษตรกรได้ปลูกตามตามยถากรรมของตัวเอง เมื่อเห็นอะไรราคาแพงก็จะปลูกตามซึ่งไม่มีความแน่นอน
“เคยไปดูงานที่ต่างประเทศแล้วเห็นมังคุดขายตามห้างและหยิบขึ้นมาดูจะรู้ว่ามังคุดลูกละ 30 บาทขึ้นไป แต่บ้านเราทำไมเอามาเทหน้าศาลากลาง เพราะทนราคาตกต่ำไม่ไหวเราจึงต้องทำการตลาดให้ตรงกับผู้บริโภค ซึ่งการร่วมกลุ่มของกลุ่มมังคุดชะอวดพัฒนาถือว่ามาถูกทางแล้ว และเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ ไม่มีสารเคมีตกค้างจะได้ราคาที่ดีขึ้นไปอีก”