สกว.ชูงานวิจัย หนุนแผนยุทธศาสตร์น้ำชาติ20ปี รับมือน้ำ สถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำขาด

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สกว.ชูงานวิจัย หนุนแผนยุทธศาสตร์น้ำชาติ20ปี รับมือน้ำ สถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำขาด


จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการของประเทศไทย ทำให้หลายคนเริ่มเป็นห่วงถึงแนวโน้มสถานการณ์น้ำของประเทศว่าจะเป็นอย่างไร มีแนวทางในการรับมืออย่างไร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวในหัวข้อ “น้ำท่วม-น้ำแล้ง-น้ำขาด รับมืออย่างไร ภายใต้แผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำที่ผ่านมา และแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศ  

รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน  ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สกว. มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการของประเทศ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ที่ผ่านมา สกว. ได้สนับสนุนงานวิจัยด้านทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ งานวิจัยเชิงพื้นที่ และงานวิจัยท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญมากในการสนับสนุนงานวิจัยที่สามารถนำไปสู่การสร้างนโยบายบริหารจัดการน้ำ ผลิตนวัตกรรม และสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของประเทศและกระแสโลก เพื่อใช้ในการตอบโจทย์การพัฒนาและการจัดการน้ำให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน และสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ

 รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาของสภาพน้ำท่วม และขาดแคลนน้ำบ่อยมากขึ้น  ทำให้การบริหารจัดการน้ำมีความลำบาก และสลับซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงทั้งด้านโครงสร้าง กฎกติกา และต้องพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆในการบริหารจัดการน้ำในอนาคต  แต่พื้นฐานสำคัญเป็นเรื่องของข้อมูล ที่จะต้องมีความเข้าใจถึงสภาพอุทกวิทยา สถานการณ์น้ำและการจัดการน้ำในประเทศที่ผ่านมา เพื่อใช้ประกอบการติดตามและประเมินผล การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรน้ำกับมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประกอบการวางแผน รวมถึงแนวคิดและเครื่องมือการจัดการน้ำรูปแบบใหม่

“การศึกษาวิจัยสถานการณ์น้ำของประเทศจากอดีตที่ผ่านมา  ทำให้พบว่า  เดิมประเทศไทยเป็นประเทศที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์  แต่กำลังมีแนวโน้มจะขาดน้ำในอนาคต  ดังนั้น ข้อมูลงานวิจัยด้านน้ำที่มีอยู่กำลังถูกประมวลเพื่อนำมาส่งต่อและตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงาน  ไม่ว่าจะเป็น ความมั่นคงด้านน้ำ Water Security , การเพิ่มผลผลิตจาการใช้น้ำ Water Productivity และ Water Resilience  ซึ่งกำลังจะถูกนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ ของประเทศ และกรอบการวิจัยด้านน้ำเพื่อรองรับบริบทใหม่ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

รศ.ดร.ทวนทัน  กิจไพศาลสกุล เปิดเผยว่า แนวโน้มสถานการณ์น้ำของประเทศไทยจากนี้ไปจะมีความผันผวนมาก หลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และความต้องการน้ำที่เพิ่มมากขึ้นของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตร พบว่ามีการใช้น้ำมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด ขณะที่ปัญหาเรื่องของคุณภาพน้ำในภาพรวมของประเทศพบว่า  มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง เนื่องจากการระบายน้ำเสียจากชุมชน การชะหน้าดินที่มีปุ๋ยตกค้างจากการเกษตรและฟาร์มปศุสัตว์

“ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาน้ำเน่าเสียที่ผ่านมา เกิดจากชุมชน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การพัฒนา และการขยายตัวของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง ขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมไม่เพียงพอรองรับต่อการขยายตัวของชุมชน โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีน้ำเสียมากที่สุด  ขณะที่ภาคใต้มีคุณภาพน้ำดีกว่าภาคอื่นและจังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุด ขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาและแตกต่างกันตามพื้นที่ บางพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง  แต่พอเข้าฤดูฝนสถานการณ์น้ำก็เปลี่ยนเป็นน้ำท่วมได้ทันที”

แม้ผลการวิจัยนี้เป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ช่วงระหว่างปี 2549-2558 แต่เป็นข้อมูลที่ช่วยให้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในอดีตจนถึงปัจจุบันว่า  วิกฤติน้ำของไทยที่เกิดขึ้นทั้งจากน้ำท่วมและภัยแล้งได้อย่างรวดเร็ว เช่น การเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 และการเกิดภัยแล้งในปี 2558 ที่ผ่านมา ชี้ ให้เห็นว่าสถานการณ์น้ำของประเทศไทยนั้น มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงต้องการเครื่องมือใหม่ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมแก้ปัญหาน้ำที่จะมีมากขึ้นในอนาคต 

ดร.พงษ์ศักดิ์  สุทธินนท์  กล่าวว่า “ในอดีตเราคิดเสมอว่าน้ำเป็นของฟรี และมีน้ำเหลือเฟือ ขณะที่อนาคตน้ำเริ่มขาดแคลนแต่ความต้องการใช้น้ำมีมากขึ้น  แต่ในแท้จริงแล้ว น้ำนั้นมีมูลค่า เป็นมูลค่าที่คนทั่วไปไม่เคยมองกันมาก่อน น้ำเพื่อสร้างรายได้ และน้ำทำให้เสียรายได้ วันนี้น้ำที่มีอยู่เราจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร  การศึกษาวิจัยนี้เป็นการเชื่อมโยงน้ำกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ใน 2 มุมมอง คือ น้ำเพื่อการสนองตอบการพัฒนา และภัยพิบัติด้านน้ำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย

ปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของประเทศอยู่ที่ 6,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/คน/ปี แต่หากไทยต้องการให้ GDP ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 15,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/คน/ปี เพื่อให้ประเทศหลุดจากประเทศกำลังพัฒนาหรือหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางภายใน 20 ปีข้างหน้าตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี น้ำเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ แต่ภาคการผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการซึ่งเป็นภาคที่มีการใช้น้ำเพียงร้อยละ 10 แต่สร้างรายได้ให้ประเทศมากถึงร้อยละ 30 และร้อยละ 60 ตามลำดับ ขณะที่ภาคเกษตรเป็นภาคที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแต่เป็นภาคที่ใช้น้ำมากที่สุดถึงร้อยละ70 แต่สร้างรายได้เพียงร้อยละ 10 แต่เป็นภาคที่มีความสำคัญมากที่สุดในมิติทางสังคมที่ไม่สามารถละทิ้งได้และต้องการให้โตเติบขึ้นไปพร้อมกัน ฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความเป็นธรรมและยังนำไปสู่การพัฒนาประเทศ  จะต้องมองแบบองค์รวม โดยจะต้องมองควบคู่กันทั้งมิติเศรษฐกิจและสังคม ไปพร้อมๆกับการพิจารณาใน 3 ประเด็นทั้ง Issue พื้นที่ และเวลา เชื่อมโยงกันขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

“ ดังนั้น  ต้องมองน้ำให้เป็นแบบองค์รวม  ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน  ไม่ใช่เอาเศรษฐกิจนำ  และต้องมองคนด้วย  ถ้ามีน้ำมากหรือน้อยเกินไป ก็จะเปลี่ยนจากประโยชน์เป็นโทษก่อให้เกิดความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจได้เช่นกัน ที่สำคัญการพิจารณาลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ จะต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลเดียวกันจึงจะแก้ปัญหาได้  และคนที่จะตัดสินใจว่าจะจัดสรรน้ำหรือแบ่งน้ำกันใช้อย่างไร  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คือผู้ใช้น้ำจริงๆ ภาครัฐมีหน้าที่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย เข้ามาช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกด้านเพื่อสนับสนุนการทำงานให้กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ”

ด้าน ดร.ปิยธิดา  เรืองรัศมี  กล่าวถึงความมั่นคงด้านน้ำกับการใช้ข้อมูลว่า  “ ข้อมูลถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้เราสามารถจะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ไม่ว่าน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือน้ำขาด โดยเฉพาะข้อมูลจากดาวเทียม ปัจจุบันเทคโนโลยีการสำรวจด้วยดาวเทียมมีการพัฒนาขึ้นมาก และเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำ ข้อมูลจากดาวเทียมจะช่วยในการสนับสนุนการติดตามสถานการณ์และคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เพราะข้อมูลที่ได้ครอบคลุมพื้นที่กว้าง ต่อเนื่อง และเป็นข้อมูลแบบ near real time จึงควรใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมาเสริมข้อมูลจากสถานีตรวจวัดหรือเรดาร์ที่ติดตั้งเป็นจุดๆ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น  ลดความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้น  โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่ไทยยังไม่มีการติดตั้งสถานีตรวจวัด เช่น ในพื้นที่ภูเขา ในทะเล หรือในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ไม่สามารถติดตั้งสถานีตรวจวัดได้

  นอกจากนี้แนวคิดการจัดการน้ำในกระแสโลกใหม่ ที่มีการนำมาใช้กันทั่วโลก โดยเฉพาะแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งในร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยใช้กรอบแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำ ที่พัฒนาขึ้นโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มาประยุกต์ใช้ในการประเมินสถานะความมั่นคงด้านน้ำของไทยในระดับลุ่มน้ำ และระดับจังหวัด เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพข้อมูลในเชิงพื้นที่และเวลาแบบต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยในการติดตามและวางแผนเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของไทยได้ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากขึ้น

ขณะที่ ดร.สุภัทรา วิเศษศรี กล่าวถึงแผนที่นำทางการวิจัยการบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า การจัดทำกรอบการวิจัยด้านน้ำของประเทศ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการทำงานให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และตอบโจทย์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยกรอบการวิจัยนี้จะเป็นเครื่องมือให้ สกว. ใช้คัดกรองและจัดลำดับการพิจารณาการให้ทุนวิจัย ทำให้การทำงานง่ายขึ้นและตรงเป้าหมายที่ต้องการมากขึ้น คาดว่า กรอบการวิจัยด้านน้ำของประเทศนี้จะแล้วเสร็จได้ภายในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือประมาณปลายปี 2561 นี้

สำหรับหัวข้อการวิจัยเบื้องต้นที่ได้รับโจทย์จากหน่วยงานด้านน้ำ และผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายที่ส่วนใหญ่ต้องการงานวิจัยมารองรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ  อาทิ  Water Security ความมั่นคงด้านน้ำ Water Productivity การเพิ่มผลผลิตที่ได้จากน้ำในทุกภาคการผลิต และWater Resilience การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการน้ำแบบ area base การนำความรู้ soft engineering มาใช้แก้ปัญหาด้านน้ำ ขณะที่ สทนช. ต้องการงานวิจัยที่เน้นการบูรณาการข้อมูล Data Analytic การประเมินการบริหารจัดการน้ำ การจัดสรรน้ำ งานวิจัยพื้นฐาน และนวัตกรรมใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์  เป็นต้น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ