ม.หอการค้าไทยจับมือธนาคารกสิกรไทย ยกระดับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยผนวกนวัตกรรมการเงิน-การศึกษาเพื่อก้าวสู่ Digital Hybrid University เต็มรูปแบบแห่งแรก ทั้งคุณภาพการเรียนการสอน การบริหารงานของมหาวิทยาลัย การพัฒนาองค์ความรู้ และสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และการเรียนรูปแบบใหม่ ตอกย้ำผู้นำดิจิทัลเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ รองรับนักศึกษาและบุคลากรกว่า 20,000 คน
รองศาสตราจารย์ ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมุ่งพัฒนาการศึกษาในรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Smart Cities โดยเริ่มจากปี 2547 ที่มหาวิทยาลัยนำ iTunes U มาใช้ในการเรียนการสอนเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้ระบบการเรียนรู้แบบ Hybrid และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นระบบ UTCC Digital Hybrid Learning System ที่เปลี่ยนจากการสอนแบบเน้นการบรรยาย (Lecture) ซึ่งผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนแต่เพียงผู้เดียว มาเป็นการสอนแบบ Hybrid ที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ในการเรียน (Interactive Learning) ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกัน หรือผู้เรียนกับผู้สอน ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมการเรียนการสอนมาสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Active Learning) เป็นการผสมผสานระหว่างการสอนในชั้นเรียน (Face-to-Face) กับการสอนแบบ e-Learning โดยนำส่วนที่ดีที่สุดของการสอนทั้งสองแบบมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน และให้นักศึกษาได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจาก iPad ซึ่งเป็นอุปกรณ์การเรียนที่นักศึกษาทุกคนได้รับเมื่อแรกเข้า ทำให้ลบภาพการเรียนแบบเดิมสู่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ อีกทั้งการได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากธนาคารกสิกรไทยในการพัฒนาเครื่องมือและแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักศึกษายุคดิจิทัล จะทำให้มหาวิทยาลัยมุ่งสู่ Digital Hybrid University ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้ก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนวัตกรรมทางการศึกษาและการบริหารจัดการที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ การสร้างความพร้อมให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพจึงมีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านดิจิทัลเทคโนโลยีผนวกกับประสบการณ์ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน K PLUS ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ธนาคารฯ เชื่อมั่นว่าจะช่วยเปิดประสบการณ์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้และใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเป็นอีกก้าวหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริงของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจำนวนกว่า 20,000 คน
การร่วมมือกันในครั้งนี้ ธนาคารฯ เข้ามาช่วยพัฒนาระบบให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เช่น การชำระเงินด้วยคิวอาร์ โค้ดภายในศูนย์อาหาร และร้านค้าในบริเวณรอบมหาวิทยาลัยแทนการใช้เงินสด นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการทำบัตรประจำตัวนักศึกษาแบบ “Smart Student ID Card” ทั้งรูปแบบ Physical Student ID Card ที่เป็นทั้งบัตรเดบิตและบัตรผ่านเข้าออกอาคาร และบัตรดิจิทัลแบบ Virtual Student ID Card ที่ช่วยให้นักศึกษาไม่ต้องพกบัตรนักศึกษาอีกต่อไป โดยข้อมูลในบัตรจะถูกเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันที่ได้รับการพัฒนาให้มีฟังก์ชันหลากหลายและคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนที่นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียน และชำระค่าเทอมผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกที่ทุกเวลา มีระบบแจ้งเตือนตารางเรียนและตารางสอบ ติดต่อสำนักทะเบียนเพื่อขอออกใบแสดงผลการศึกษา (Transcript) ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถระบุและค้นหาสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยโดยใช้ Location-Based Technology และยังรับทราบประกาศหรือข่าวประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยได้อย่างรวดเร็วด้วยฟังก์ชันการแจ้งเตือนข่าวสาร
รองศาสตราจารย์ ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การก้าวสู่ Digital Hybrid University อย่างสมบูรณ์แบบนั้น นอกจากธนาคารฯ จะเข้ามาช่วยพัฒนาระบบต่าง ๆ แล้ว ปี 2561 มหาวิทยาลัยยังเดินหน้าให้ความสำคัญด้านดิจิทัลในทุกๆ ด้าน ทั้งโครงการกะเทาะเปลือกที่เป็นการแข่งขันนวัตกรรมระดับประเทศ โครงการความร่วมมือกับ Alibaba จัดตั้ง UTCC เป็นศูนย์อบรมด้านe-commerce ในประเทศไทย รวมถึงการเปิดสาขาวิชาใหม่ ๆ 6 สาขา เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทักษะด้านดิจิทัลสอดคล้องกับนโยบาย และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาดิจิทัลเทคโนโลยี และสาขาวิชานวัตกรรมอาหาร คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบและผลิตสื่อดิจิทัล และสาขานิเทศศาสตร์การตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Management) และล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เปิดตัวหลักสูตร “ธุรกิจเกมและอีสปอร์ต” เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่เน้นต่อยอดในเชิงธุรกิจ
ก.ล.ต.เผยแนวคิดเพิ่มประเภทหลักทรัพย์ในบัญชีมาร์จิ้น ที่สามารถกู้ซื้อและวางเป็นประกันเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อในบัญชีมาร์จิ้น
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิ่มประเภทหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สามารถให้ลูกค้าบัญชีมาร์จิ้นกู้ซื้อได้ พร้อมทั้งขยายประเภทหลักประกันที่ลูกค้าสามารถนำมาวางเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อได้ โดยเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและมีราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าสามารถลงทุนได้ตามกลยุทธ์ที่ต้องการ และใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ บล. สามารถให้บริการลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (บัญชีมาร์จิ้น) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2540 นั้น กำหนดให้ บล. สามารถให้ลูกค้ากู้เงินได้เฉพาะเพื่อการซื้อหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยลูกค้าต้องวางเงินสดหรือหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นหลักประกันเริ่มต้นกับ บล. ก่อน โดยยังไม่สามารถนำตราสารหนี้หรือหน่วยลงทุนมาวางเป็นหลักประกันเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อกับ บล. ได้
ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดในการเพิ่มประเภทหลักทรัพย์ที่ บล. สามารถให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนนอกเหนือจากหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและมีราคาตลาดหรือราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ซึ่งได้แก่ (1) ตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และเป็นตราสารหนี้ภาครัฐหรือตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) และ (2) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่กำหนดวันซื้อขายหน่วยลงทุนทุกวันทำการ และไม่มีข้อจำกัดด้านการโอนและการจำนำ นอกจากนี้ จะอนุญาตให้นำหลักทรัพย์ดังกล่าวมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ลูกค้าได้อีกด้วย
ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย และสามารถใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์ดังกล่าวเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อได้ ในขณะที่ บล. สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และยังอาจช่วยเพิ่มสภาพคล่องและพัฒนาตลาดรองตราสารหนี้และตลาดกองทุนรวมได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี บล. จะต้องปรับปรุงระบบงานและการบริหารจัดการความเสี่ยงให้รองรับประเภทหลักทรัพย์ที่อนุญาตเพิ่มเติมด้วย
ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://capital.sec.or.th/webapp/phs/upload/phs1531118542hearing_26_2561.pdf ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือโทรสาร 0-2033-9999 หรือทาง e-mail kornwara@sec.or.th หรือ kamonwan@sec.or.th จนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2561