พระกริ่งคลองตะเคียน (1)

วันพุธที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระกริ่งคลองตะเคียน (1)


วันนี้ต้องขออนุญาตท่านผู้มีเกียรติ ที่ได้นำเอาเรื่องของพระกริ่งคลองตะเคียน มาวิเคราะห์เจาะลึก อันที่จริงแล้ว พระกริ่งคลองตะเคียนนั้น เคยมีการสันนิษฐานว่าสร้างโดย สมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่เถื่อน แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน จึงมีความเกี่ยวข้องกับพระสมเด็จ วัดระฆัง เพราะสมเด็จพระสังฆราช สุก เป็นพระอาจารย์ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต หลาย ท่านได้มีความเห็นว่า พระสมเด็จวัดระฆัง ที่สร้าง ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้ เป็น "พระเครื่อง" องค์แรกของสยามประเทศ สร้างเพื่อให้ผู้คนเอาไว้บูชาขอพร
การสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง เป็นการรวม พระพุทธคุณ เข้ากับไสยเวทย์เดิม คือเครื่องราง ของขลัง สร้างเป็นพระเครื่องขึ้นมา แต่เมื่อมาพิจารณาถึงพระกริ่งคลองตะเคียนแล้ว จะเห็นว่า เป็นพระที่สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่า ต้องการให้ผู้คนมีไว้ติดตัวแทนเครื่องรางของขลัง เพราะเราจะสังเกตได้จากยันต์ และ อักขระที่ลงบนองค์พระ จึงจัดได้ว่าเป็น พระเครื่องŽ ดังนั้น พระเครื่ององค์ปฐม หรือองค์แรก ของเมืองไทยก็ต้องเป็น พระกริ่งคลองตะเคียน เพราะได้สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ก่อนการ สร้างพระสมเด็จวัดระฆัง
อีกประการหนึ่งที่พระกริ่งคลองตะเคียน เกี่ยวข้องกับพระสมเด็จวัดระฆัง ก็เพราะว่าผู้เขียนได้ค้นหาประวัติของสมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่เถื่อน ซึ่งทุกคนก็ทราบกันดีว่า พระองค์เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และท่านได้สร้างพระสมเด็จอรหัง ที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟักแบบพระสมเด็จวัดระฆัง โดยมีการเขียนคำว่า อรหัง ที่หลังพระสมเด็จทรงสี่เหลี่ยมนี้ด้วย
ชีวประวัติของพระองค์ท่าน มีตอนหนึ่ง ความว่า "สมเด็จพระสังฆังคราช(สุก) ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ.2276 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ สันนิษฐานกันว่าคงเป็นชาวกรุงเก่า ปรากฏในหนังสือพงศาวดารว่า เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ท่านเป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม (ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่าคลองตะเคียน) ในแขวงรอบกรุงเก่า สมเด็จพระสังฆราช(สุก) ได้ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ครั้งยังคงเป็นพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า ครั้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงโปรดให้นิมนต์พระอาจารย์วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า มาอยู่ในกรุงเทพฯ และทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถระ"
ซึ่งพระกริงคลองตะเคียน ก็ได้ถูกพบในบริเวณนี้ และกรุงศรีอยุธยาในช่วงนั้นก็เป็นภาวะสงคราม รูปลักษณ์ของพระกริ่งคลองตะเคียนก็เห็นได้ชัดเจนว่า สร้างเพื่อให้ทหารใช้ในการรบทัพจับศึก รัชกาลที่ 1 ไปหาพระอาจารย์สุกในสมัยนั้น ก็คงไม่ใด้ไปเพื่อศึกษาพระธรรม หรือนั่งสมาธิวิปัสสนา คงจะไปเรื่องการสู้รบ แคล้วคลาค คงกระพัน เสียมากกว่า
ตอนหน้า จะเป็นการนำเสนอ รูปลักษณ์และประวัติความเป็นมา และจะได้วิเคราะห์กันต่อว่า ใครเป็นผู้สร้าง
อดุลย์ ฉายอรุณ : โทร.08-8696-5994


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ