ธนาคารกรุงศรี มองตลาดเงินยังผันผวนจากเศรษฐกิจโลก แต่แรงกดดันเงินบาทเริ่มคลายลง ประเมินสิ้นปีแนวโน้มเงินบาท แตะระดับ 31.25 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนแข็งค่า แตะระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ ปีหน้า อานิสงส์เลือกตั้งหนุน คาด GDP ปี 61 โต 4.7% จากส่งออก ท่องเที่ยว ลงทุนภาครัฐ และ EEC เป็นแรงกระตุ้น
นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวนโดยคาดว่าในช่วงปลายปีเงินบาทจะแข็งค่าอยู่ที่ 31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.25-32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นถึง 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในต้นปี 2562 ผลจากเศรษฐกิจไทย ขยายตัวดีและแนวโน้มที่จะมีการเลือกตั้งปีหน้าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าไทย
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็วเพราะอัตรา ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐสูงขึ้น ต่อเนื่อง เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.50% หลังจากทยอยปรับขึ้นมาแล้ว 6 ครั้ง รวมเป็น 1.50% ตั้งปลายปี 2558 กดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือกนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในปีนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.50% กนง.จะเน้นรักษาเสถียรภาพการเงินเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตาเป็นปัจจัยต่างประเทศ คือสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ นโยบายการค้าของสหรัฐ และปัญหา brexit หรือการแยกตัวของสหราชอาณาจักร ออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะเริ่มมี การแก้กฎหมายภายในเดือนนี้แล้ว ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรี มองว่า ค่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะแข็งค่าที่ระดับ 31.25 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์และแนวโน้มค่าเงินบาท ในปีหน้ายังมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าคาดว่าจะแข็งค่าสูงสุดที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ได้ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
สำหรับแนวโน้มเงินลงทุนต่างชาติ ในครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่า เงินลงทุนต่างชาติ มีโอกาสที่จะไหลกลับเข้ามา แต่อาจจะ น้อยกว่าที่ไหลออกไป ปัจจุบันเงินลงทุนต่างชาติ เป็นเม็ดเงินไหลออกขายออกสุทธิ 30,000 ล้านบาท จากในตลาดหุ้นขายออกสุทธิ 13,000 ล้านบาท
ส่วนตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 100,000 ล้านบาท ยังต้องติดตามปัจจัยจากต่างประเทศเป็นหลัก มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทย มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ค่อนข้างมาก อย่างปัจจัย ปัญหาการเมืองในอิตาลีในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วงนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทย ยังเคลื่อนไหวได้ที่ระดับ 1,700 จุดต้นๆ เท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความ ผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ นายตรรก ระบุว่า ธนาคารได้นำเสนอบริการแลกเปลี่ยน เงินสองสกุล (ACCD) หรือการทำธุรกรรมปริวรรตเงินตราท้องถิ่นโดยไม่ต้องผ่านดอลลาร์ ให้กับลูกค้าผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าไทย ด้วยจุดแข็งของธุรกรรม ACCD เป็นการร่วมมือกับทาง MUFG ที่มีเครือข่ายครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
โดยเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมานี้ ธนาคารได้ขยายบริการดังกล่าวไปยังสกุลเงินรูเปียห์ ของอินโดนีเซีย เพิ่มเติมจากปีก่อนเริ่มทดลอง ให้บริการดังกล่าวในสกุลเงินริงกิตของมาเลเซีย และยังอยู่ระหว่างศึกษาการ ให้บริการนี้เพิ่มเติมสกุลเยนของญี่ปุ่นด้วย ปัจจุบันมีลูกค้าญี่ปุ่นรับบริการดังกล่าวแล้วและเชื่อว่าปริมาณธุรกรรมนี้จะเติบโตเนื่อง ภายใต้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ช่วยขยายตัวของอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ชิพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกจากไทยไปต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารยังปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในส่วนของจีดีพี เป็นเติบโต 4.7% จากเดิมที่ 4.0% ผลจากการส่งออก การท่องเที่ยว ที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคดีขึ้นตามไปด้วย รวมถึงการลงทุนที่ดีขึ้นด้วยแรงหนุนจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมกันปรับคาดการณ์ส่งออกเป็นเติบโต 9% จาก 5% และการลงทุนภาครัฐเป็น 8% จาก 10% เนื่องจากยังมีความล่าช้า