สนข.จัดทำแผนแม่บท Dry Port ดันไทยเป็น “ฮับ” ขนส่งภูมิภาค

วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สนข.จัดทำแผนแม่บท Dry Port ดันไทยเป็น “ฮับ” ขนส่งภูมิภาค


ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3  (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค โดยการพัฒนาการขนส่งทางราง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และศูนย์บริการโลจิสติกส์ อาทิ ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า คลังสินค้าปลอดอากร สถานีขนส่งสินค้า ท่าเรือบก ย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า

รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้าทางรถไฟ ในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor : NSEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) และฐานการผลิตทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศไปยังประตูการค้าหลักและด่านการค้าสำคัญของประเทศ

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงได้ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค

นางวิไลรัตน์  ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังถือเป็นประตูการค้าหลักของประเทศ มีปริมาณตู้สินค้าผ่านเข้า-ออกท่าเรือเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการจราจรบริเวณโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังและโครงข่ายเชื่อมโยง แม้ว่าจะมีสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องหรือ ไอซีดี ลาดกระบัง แต่ด้วยปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเต็มความจุ ส่งผลให้การจราจรโดยรอบ ไอซีดี ลาดกระบัง มีปริมาณหนาแน่นเช่นเดียวกับบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางเศรษฐกิจการพัฒนาและกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนา Dry Port  ให้ชัดเจนและครอบคลุมทั่วประเทศ

สนข. จึงได้ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา Dry Port ให้สามารถเป็นกลไกสำคัญในการตอบสนองการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทย รวมถึงสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านผ่านประตูการค้าหลัก (ท่าเรือแหลมฉบัง) ของประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม รวมทั้งกำหนดแนวทางการพัฒนาและกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบกต่อไป

สำหรับการดำเนินงานโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา Dry Port เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ประกอบด้วย 4 ส่วนงาน ได้แก่ งานส่วนที่ 1 ประกอบด้วย การศึกษาข้อมูลด้านเทคนิค เป็นการศึกษาทบทวนนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแผนพัฒนาท่าเรือบกตามแนวทางของ UNESCAP ศึกษาการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง และศึกษารวบรวมข้อมูล Best Practice ในการพัฒนา Dry Port ในต่างประเทศ และ 2) การศึกษาข้อมูลด้านข้อกฎหมาย โดยศึกษาข้อกฎหมาย ข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อการพัฒนา Dry Port และศึกษากฎ ระเบียบของไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Dry Port

งานส่วนที่ 2 ประกอบด้วย การศึกษาพฤติกรรมและปริมาณการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างฐานการผลิตและบริโภค กับประตูการค้าหลักของประเทศ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญในการเลือกรูปแบบการขนส่ง และการศึกษาความต้องการและต้นทุนการขนส่งสินค้าผ่าน Dry Port งานส่วนที่ 3  ประกอบด้วย การกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนา Dry Port และการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนา Dry Port และงานส่วนที่ 4 ประกอบด้วย การวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนา Dry Port  รวมทั้งศึกษาความเป็นปได้ของการพัฒนา Dry Port ในพื้นที่ที่มีลำคับความสำคัญสูงสุด ตลอดจนจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา Dry Port



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ