ซินโครตรอนฉลองความสำเร็จ เบื้องหลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมอวดผลงานหนึ่งทศวรรษสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ซินโครตรอนฉลองความสำเร็จ เบื้องหลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมอวดผลงานหนึ่งทศวรรษสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน


สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมคิดร่วมทำเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อการเฉลิมฉลองการเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ และช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาตลอดหนึ่งทศวรรษ ทั้งยังแสดงถึงความก้าวหน้าของสถาบันที่พร้อมจะก้าวเคียงคู่อุตสาหกรรมไทยต่อไปในอนาคต ทางสถาบันจึงมีแนวคิดในการจัดนิทรรศการหนึ่งทศวรรษสถาบันวิจัยซินโครตรอนขึ้นภายใต้ปณิธาน “พัฒนาธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแสงซินโคร-ตรอน (Make Tomorrow Better)” ขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเป็นสถาบันที่ดำเนินงานด้านการให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน อีกทั้งส่งเสริมการถ่ายทอดและการเรียนรู้เทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีพันธกิจเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับแสงซินโครตรอน เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ทัดเทียมสากลนานาอารยะประเทศ และมีเป้าหมายสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล  นั่นคือการสร้างงานวิจัยที่เกื้อกูลต่ออุตสาหกรรมเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

โดยตั้งแต่ปี 2556 – 2560 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้มีอัตราการเติบโตของการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมกว่า 54% สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยมากกว่า 7,800  ล้านบาท อีกทั้งยังอยู่เบื้องหลังการเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ SME มากกว่า 50 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประเภทโลหะ เซรามิคและวัสดุก่อสร้าง พอลิเมอร์ รวมถึงอาหารและยา โดยประโยชน์หลักจากแสงซินโครตรอนนั้นใช้เพื่อการวิเคราะห์วิจัยเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุต่างๆในระดับอะตอมและโมเลกุล โดยสามารถทดสอบได้ทั้งวัตถุที่มีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว ก๊าซ แม้กระทั่งพลาสมา เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจึงถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และเป็นดัชนีชี้วัดถึงความเจริญทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศ”

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551  สืบทอดจาก "ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ" ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2539 มีสำนักงานตั้งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

กว่า 10 ปีของการเปิดให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคนิคที่เกี่ยวข้อง สถาบันได้สร้างผลงานชิ้นสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศมากมาย อาทิ การสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมด้านอาหารและการเกษตร โดยกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความเข้มแข็งภาคเกษตรกรรมและความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงมีการกำหนดแผนการพัฒนาที่มุ่งเน้นเฉพาะด้านในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้กว่า 3,000 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพกาแฟสดพร้อมดื่ม โดยบริษัทเซาน์เทิร์นคอฟฟี่ โดยใช้เทคนิคการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นนวัตกรรมการด้านการแปรรูป จนได้กาแฟสดพร้อมดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท แต่ยังมีคุณภาพใกล้เคียงกาแฟที่เตรียมสดมากที่สุด รวมทั้งคงอายุการเก็บรักษาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนที่อุณหภูมิห้อง พร้อมกันนี้ ได้ร่วมมือกับบริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด ในการค้นคว้าหากรรมวิธีการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำลำไยสกัดเข้มข้น เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์เดิมในท้องตลาด มีผลต่อสุขภาพ และมีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน อีกทั้ง ได้ใช้เทคนิคทางด้านแสงซินโครตรอน และเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ในการวิเคราะห์คุณสมบัติสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและเครื่องสำอางต่อไป ในภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง  ได้มีการพัฒนานวัตกรรมครีมกันแดดนาโน ร่วมกับ บริษัท แพนราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาการดูดซึมผ่านผิวหนังของสารกันแดดนาโน อีกทั้งเพื่อแสดงถึงประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ นับเป็นก้าวสำคัญของงานวิจัยต่อวงการแพทย์ผิวหนังและวงการเครื่องสำอาง และในภาควัสดุศาสตร์ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ได้มีการพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกชนิดใหม่ สามารถคงทนต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดีเยี่ยมซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการขอลูกค้า เพิ่มยอดขายได้กว่า  60 ล้านบาทต่อปี

ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้ดำเนินงานสนองโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นฟูภูมิปัญญาการทำ “กระจกเกรียบโบราณ” อายุร่วม 200 ปีที่เกือบจะสูญหายไปตามกาลเวลา โดยทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการผลิตกระจกเกรียบได้ครบทุกสีและสามารถทำแผ่นกระจกได้บางถึง 0.3 มิลลิเมตร โดยกระจกเกรียบที่สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่นี้อยู่ในขั้นตอนทดสอบการใช้งานในสภาวะแวดล้อมจริง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และการสร้างความร่วมมือกับองค์กรด้านเครื่องเร่งอนุภาคระดับโลกอย่างเซิร์น ในการร่วมติดตั้งระบบทดสอบเซ็นเซอร์ ให้กับเซิร์น ด้วยฝีมือของนักฟิสิกส์ของไทย

อีกด้านที่สถาบันได้เข้าไปมีส่วนร่วมคืองานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยฉพาะคนตาบอดผ่านการพัฒนาชุดแสดงอักษรเบรลล์ในราคาที่เอื้อมถึงได้ สามารถผลิตในประเทศลดการนำเข้า  ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา ทางสถาบันได้ต่อยอดงานวิจัยโดยการพัฒนาชุดแสดงผลอักษรเบรลล์เป็น 20 เซลล์  เครื่องแสดงผลดังกล่าวสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 85,000 บาทต่อเครื่อง และเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทางสถาบันได้นำชุดแสดงอักษรเบรลล์ทูลเกล้าถวายจำนวน  200  เครื่อง เพื่อเป็นของขวัญพระราชทานให้โรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสพิการทางสายตาให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางคอมพิวเตอร์ได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สถาบันยังได้ร่วมกับ บริษัทเซโก้ ฟาร์ม พัฒนาระบบอัจฉริยะเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมการเพาะเลี้ยงถั่งเช่า ให้ได้ถั่งเช่าที่มีคุณภาพ อุดมไปด้วยสารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยวิธีการเลี้ยงถั่งเช่าแบบ “Smart Farmer”เป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก และมีต้นทุนในการติดตั้งระบบไม่เกิน 30,000 บาท จึงสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างดี รวมทั้งยังสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

ด้านศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้กล่าวถึงพันธกิจของสถาบันที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ว่า “ขณะนี้รัฐบาลได้มีการอนุมัติเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่ซึ่งให้พลังงานแสงสูงขึ้นกว่าเดิม 2.5 เท่า และความเข้มแสงสูงขึ้นกว่าเดิมมากกว่า 1,000,000 เท่า สามารถรองรับงานวิจัยพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ขั้นสูงได้ ไม่วาจะเป็นด้านการแพทย์และเภสัชกรรม ด้านอาหารและการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงาน ด้านโบราณคดี รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันยังคงตั้งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการพัฒนาขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในทุกกลุ่มธุรกิจ และมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรมเพื่อการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมและเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียและระดับโลกต่อไป”

และในโอกาสที่สถาบันมีอายุครบรอบ 10 ปีในปีนี้ จึงได้จัดงาน “หนึ่งทศวรรษสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน” ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการย่างเข้าสู่ทศวรรษใหม่ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่  1 มิถุนายน  2561 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว โดยภายในงานจะมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานของสถาบัน การบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้มีชื่อเสียง อาทิ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์  เฌอปราง อารีย์กุล หรือเฌอปราง BNK48 อุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ การแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปิน และอีกมากมาย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ