หวั่นบริษัทข้ามชาติแย่งชิงตลาดโลจิสติกส์!
มทร.ธัญบุรี ผนึก TTLA เดินหน้าพัฒนาคนรับธุรกิจ

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

หวั่นบริษัทข้ามชาติแย่งชิงตลาดโลจิสติกส์! <br> มทร.ธัญบุรี ผนึก TTLA เดินหน้าพัฒนาคนรับธุรกิจ


เอกชนหวั่นบริษัทข้ามชาติแย่งชิงตลาดโลจิสติกส์! .เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผนึก สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย เดินหน้าพัฒนาคนรับธุรกิจขนส่งทางถนน-โลจิสติกส์ พร้อมวอนรัฐอ้าแขนช่วย หวังแข่งขันในระดับโลกได้

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือ มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า มทร.ธัญบุรี ได้ร่วมกับสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA) เพื่อจัดการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนและโลจิสติกส์ โดยการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่จะพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพโลจิสติกส์ สาขาจัดการขนส่ง และผสมผสานกับการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และผู้เชี่ยวชาญจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ทันสมัยทันต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโดยเน้นการศึกษาจากสมรรถนะของบุคคลในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์

ทั้งนี้ โลจิสติกส์มีความสำคัญต่อระบบการค้าและเศรษฐกิจของไทย ทั้งในแง่ของการเป็นกลไกในการสนับสนุนให้สินค้าไทยเดินทางไปสู่ทุกตลาดหรือสู่ผู้บริโภคในทุกมุมโลกได้อย่างรวดเร็วและประหยัดกว่าสินค้าของคู่แข่งขันจากทั่วโลก จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการพัฒนาผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนและโลจิสติกส์ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) รวมถึงเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย เพื่อให้ธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนและโลจิสติกส์ของไทยมีความทันสมัย

นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากความตกลงการเปิดเสรีทางการค้า โดยโลจิสติกส์มีความเชื่อมโยงกับภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท แต่ถ้าหากโลจิสติกส์ไทยได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าบริการด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะการบริการขนส่ง ย่อมทำให้ธุรกิจไทยทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ และเมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถของประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันด้วยดัชนีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ หรือ LPI (Logistics Performance Index) พบว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 3 ของอาเซียนและอันดับที่ 36 ของโลก ในปี 2553 ลดลงจากอันดับที่ 31 ในปี 2550 โดยไทยยังคงเป็นรองประเทศสิงคโปร์ (อันดับที่ 2 ของโลก) และมาเลเซีย (อันดับที่ 29 ของโลก)

“ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการเหล่านี้ ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอในการรับมือผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี ที่เอื้ออำนวยให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันในประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับบุคลากรในธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยยังขาดความพร้อมในการดำเนินการบริการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้หากยังขาดการช่วยเหลือเอาใจใส่ในการพัฒนาจากภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจัง ผลกระทบนี้จะมีสภาพไม่ต่างจากธุรกิจขายปลีกของไทยที่กำลังถดถอยถูกบริษัทข้ามชาติเข้ามาแย่งชิงตลาดไปแล้วทั่วประเทศไทย”

รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและเอกสารประกอบการฝึกอบรมธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนและโลจิสติกส์ ซึ่งมีหลักสูตรฝึกอบรมและเอกสารประกอบการฝึกอบรม จำนวน 6 หลักสูตร ซึ่งผลการฝึกอบรมบุคลากรในธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยนั้น ได้รับการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพระดับปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 180 คน โดยบุคลากรที่เข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรมีผลสัมฤทธิ์ไม่น้อยกว่า 80% จำนวนผู้ประกอบการด้านธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของไทยเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 80% ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของไทยมีความพึงพอใจต่อผลการปฏิบัติงานของผู้ผ่านการฝึกอบรม อยู่ในระดับพอใจมาก



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ