depa ร่วม TDRI ชี้จำนวนกำลังคนทำงานดิจิทัลสูง แต่ทำงานได้จริงน้อย สวนทางความต้องการภาคธุรกิจ

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

depa ร่วม TDRI ชี้จำนวนกำลังคนทำงานดิจิทัลสูง แต่ทำงานได้จริงน้อย สวนทางความต้องการภาคธุรกิจ


ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง แนวทางการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลของไทย: จากปริมาณสู่คุณภาพ ซึ่งจัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ณ ห้องคริสตัล บอลรูม โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม  มีสาระสำคัญคือ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยผลศึกษาโครงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Manpower) รองรับอุตสาหกรรม S-Curve และ หนุนการเติบโตพื้นที่ EEC ชี้ปัญหาใหญ่ไทยกำลังคนด้านดิจิทัลสูง แต่ทำงานได้จริงน้อย สวนทางความต้องการภาคธุรกิจ จ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คนในปี 2560  

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวเปิดงานงานสัมมนา เรื่อง “แนวทางการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลของไทย: จากปริมาณสู่คุณภาพ” ว่า ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 กลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (new engine of growth) คือ การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วยการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

            รัฐบาลมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว คือการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC ทาง depa จึงได้ร่วมกับ TDRI ในการศึกษา “การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” 

            ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส และดร.เปาว์ไวโรจน์พันธ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้เผยผลการศึกษา “การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ที่สำคัญว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 แต่ข้อจำกัดสำคัญในขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ ประเทศไทยยังขาดกำลังคนทักษะสูงที่มีคุณภาพจำนวนมาก

ความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทยคือ กำลังคนด้านดิจิทัลของไทยมีปริมาณมาก แต่กำลังคนที่มีคุณภาพสูงที่สามารถทำงานได้จริงมีปริมาณน้อย ทำให้ดูเหมือนประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล โดยในปี 2560 มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เฉพาะสาขาคอมพิวเตอร์ เกือบ 20,000 คน (ไม่รวมผู้จบการศึกษาในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมโทรคมนาคม) และมีผู้ว่างงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์เกือบ 7,000 คน ขณะที่ความต้องการกำลังคนด้านดิจิทัลในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คน และภาคธุรกิจมักสะท้อนปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง

สาเหตุหนึ่งของสถานการณ์ดังกล่าวคือ หลักสูตรสาขาคอมพิวเตอร์ที่สอนอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่ง ยังไม่ได้ปรับให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งบางหลักสูตรไม่ได้บรรจุวิชาหลักที่จำเป็นต่อการเป็นนักวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการเพิ่มกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ได้จริง ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับคุณภาพของกำลังคนด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ดีมาตรการสำคัญในการการยกระดับคุณภาพกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC คือ ภาครัฐควรดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง (pilot project) โดยมีแนวทางดำเนินการในระยะสั้นคือ ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ในการจัดโปรแกรมหรือหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และภาครัฐควรส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้จริง และสุดท้าย ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาทำงานของนักวิชาชีพดิจิทัลที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น เช่น มาตรการสมาร์ทวีซ่าของไทยในปัจจุบัน กำหนดให้นักวิชาชีพทักษะสูงที่มีเงินเดือนอย่างน้อย 2 แสนบาทจะได้วีซ่านาน 4 ปี ภาครัฐอาจพิจารณาปรับเงื่อนไขให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยกำหนดให้ผู้มีเงินเดือนอย่างน้อย 1 แสนบาทแต่ไม่ถึง 2 แสนบาท จะได้วีซ่านาน 2 ปีเป็นต้น

ส่วนในระยะยาว ต้องมุ่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษาด้านดิจิทัล โดยสร้างกลไกให้ภาคเอกชนให้ข้อมูลทักษะกำลังคนที่ต้องการแก่สถาบันการศึกษา และภาคการศึกษาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน รวมทั้ง ภาคการศึกษาควรจัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและหลักสูตร ขยายโครงการนักศึกษาฝึกงาน และเพิ่มจำนวนอาจารย์ที่มีคุณภาพ และที่สำคัญภาครัฐต้องมุ่งส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างการวิจัยพัฒนาด้านดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน

            นอกจากนี้ ในงานสัมมนาดังกล่าว ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลของไทยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาพื้นที่ EEC: จากปริมาณสู่คุณภาพ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ คุณโชคดี แก้วแสง (รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ (ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา (กรรมการ คณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์หุ่นยนต์) คุณพฤฒิ เมาลานนท์ (รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) และคุณล้ำบุญ สิมะขจรบุญ (Local Business Unit Manager, Robotics and Motion บริษัท เอบีบี (ไทยแลนด์) จำกัด) และผู้ดำเนินการเสวนาคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ