กฎหมายลูกสะดุด... ส่งสัญญาณยื้อ “เลือกตั้ง” !?!

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561

  กฎหมายลูกสะดุด... ส่งสัญญาณยื้อ “เลือกตั้ง” !?!


การเมืองไทยเดินทางมาถึง “หัวโค้ง” สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติให้ความเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับต้องผ่านเส้นทางแห่งความขัดแย้งมาพอสมควร โดยเฉพาะการ “ไม่ลงรอย” กันในทางความคิดระหว่าง สนช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จนนำมาซึ่งการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยิ่งไปกว่านั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกิดการปล่อยข่าวว่า สนช.อาจลงมติไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายเพื่อให้กลับไปพิจารณากันใหม่อีกครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เรียกได้ว่าสิ่งที่ กรธ.เสนอเข้าสนช.ไปนั้นกลับถูก สนช.เปลี่ยนจาก “หน้ามือเป็นหลังมือ” เช่น การกำหนดให้ ส.ว.มาจากกลุ่มวิชาชีพจำนวน 10 กลุ่ม จากเดิมที่ กรธ.กำหนดไว้ 20 กลุ่ม หรือเปลี่ยนระบบการเลือกกันเองของผู้สมัคร ส.ว.จากระบบการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มมาเป็นการเลือกในกลุ่มเดียวกันโดยตรง เป็นต้น

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกฎหมาย ส.ว.กลายเป็นเรื่องที่ สนช.ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะวุฒิสภาชุดแรกในอนาคตจะมาจาก การเลือกของ คสช. ซึ่งการสรรหาของ คสช.นั้นนอกจากจะเลือกโดยตรงตามอำเภอใจของ คสช.แล้ว ส.ว.อีกส่วนหนึ่ง คสช.ต้องเลือกจากกลุ่มบุคคลที่ผ่านการเลือกตามร่างกฎหมาย ส.ว.อีก จำนวน 50 คนด้วย จึงจำเป็นต้องหาวิธีการคัดเลือกคนที่ปลอดจากการเมืองให้ คสช.

                หากแต่ถึงสุดแล้วก็สมประโยชน์ร่วมกัน เมื่อสนช.หาทางด้วยการพบกันครึ่งทางระหว่าง กรธ.และ สนช.กล่าวคือการกำหนดในบทเฉพาะกาลให้นำวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ สนช.ได้เสนอทั้งเรื่องการให้ ส.ว.มาจากกลุ่มวิชาชีพ 10 กลุ่ม การให้บุคคลสมัคร ส.ว.ในนามอิสระและผ่านองค์กรนิติบุคคล และการยกเลิกระบบการเลือกไขว้มาใช้กับการเลือก ส.ว.ใน 5 ปีแรก แต่หลังจากเมื่อพ้นเวลา 5 ปี จะกลับไปใช้ระบบการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามที่ กรธ.บัญญัติมาใช้ ทั้งการให้ ส.ว.มาจากกลุ่มวิชาชีพ 20 กลุ่ม การสมัคร ส.ว.ในนามอิสระเท่านั้น และการเลือกด้วยวิธีการเลือกไขว้

เมื่อออกรูปแบบนี้ ทำให้กระแสข่าวที่ว่า สนช.จะลงมติฉีกกฎหมายเลือกตั้งทิ้งกลางสภาจบลง และนำมาซึ่งการประกาศ “กรอบเวลา” การเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562

สถานการณ์ด้านหนึ่งดูเหมือนว่าประเทศกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่ทำไปทำมาเวลานี้อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว เมื่อ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ออกมาเสนอให้ สนช.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว.

“มีชัย” ระบุว่า ในร่างกฎหมายลูก ส.ส.มี 2 ประเด็นที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ คือ เรื่องการตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยสงสัยว่าเป็นการตัดสิทธิ์หรือตัดเสรีภาพซึ่งหากเป็นเรื่องเสรีภาพจะตัดไม่ได้ 

 คล้อยหลัง “มีชัย” ไม่นาน ปรากฏว่า “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ออกมารับลูกเช่นกัน เพราะ สนช.เองก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาใหญ่เกินกว่าความรับผิดชอบของสภาในภายหลัง จึงมีความเป็นไปได้ที่ สนช.จะเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ภายหลัง สนช.ลงมติผ่านกฎหมายไปแล้ว

 ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ยืนยันว่าแม้กรธ.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. แต่การเลือกตั้งจะเป็นไปตามกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะไม่ล่าช้าจากที่ประกาศเว้นแต่มีอะไรที่บังคับไม่ได้ โดยเฉพาะศาลแต่ตนคิดว่าในเวลาที่มีอยู่ ศาลฯ น่าจะพิจาณาได้ทัน  ซึ่งจะเป็นเรื่องดีหากทุกอย่างชัดเจน

  อย่างไรก็ดี การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา หากท้ายที่สุดศาลวินิจฉัยว่ากฎหมายไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างจะเดินหน้าตาม “โรดแมป” แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายสว. “ขัด” รัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลต่อโรดแมปเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื่องเพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 148 ระบุว่า หากข้อความของร่าง พ.ร.บ.ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นสาระสำคัญ จะมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.นั้น เป็นอัน ตกไป แต่ถ้าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ จะมีผลเพียงแค่ให้เฉพาะข้อความนั้นตกไป

ทั้งนี้ เมื่อดูจากประเด็นที่ประธาน กรธ.เป็นห่วงและต้องการให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการให้สมัคร ส.ว.ผ่านองค์กรนิติบุคคล เป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ส.ว. เนื่องจากเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งของบุคคล

อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าข้อความดังกล่าวขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตกไปและต้องกลับไป เริ่มนับหนึ่ง กันใหม่ และโรดแมปต้องเลื่อนไปโดยปริยาย เนื่องจากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีร่างกฎหมาย ส.ว.

สอดคล้องกับข่าวการเตรียม “นั่งร้าน” ให้กับ “คนนอก” ที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ดังจะเห็นการไปขอจดแจ้งขึ้นทะเบียนพรรคการเมืองที่คณะกรรมการเลือกตั้งเปิดให้ไปลงทะเบียนนั้นมีพรรคการเมืองหลายพรรคประกาศว่าจะสนับสนุน “คนนอก” โดยเฉพาะบางพรรคประกาศชัดว่าจะสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

อันที่จริง “กฎกติกา” ที่รังสรรค์กันขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดการ “เปลี่ยนแปลงทางการเมือง” โดยอาศัยวาระการปฏิรูป เป้าหมายก็เพื่อให้ “พรรคการเมืองใหญ่” ที่คิดว่าเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินจนทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนถึงวาระที่จะต้องถูกปลดระวาง

แต่หากการเลือกตั้งในช่วงนี้ พรรคการเมืองใหญ่อีกฝั่ง รวมทั้งพรรคที่สนับสนุนทหารก็คงรู้สึกว่าจะแพ้อีก ที่น่าห่วงก็คือ เมื่อจะเข้าสู่สถานการณ์การเลือกตั้ง ทุกพรรคทุกกลุ่มควรมาสู่กระบวนการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมทุกคนทุกพรรคอย่างเสมอหน้ากัน และควรเริ่มเปิดกว้างให้มากขึ้น เพื่อที่ประชาชนจะได้รับฟังแนวทางนโยบาย และตรวจสอบนโยบายเท่าที่จะทำได้ก่อนตัดสินใจจะลงมติเลือกใคร หรือให้กำลังใจบุคคลใด เพื่อติดตามบทบาทนักการเมืองคนนั้นต่อไปว่าดำเนินการต่างๆ ตามที่ให้สัญญากับประชาชนและสังคมได้มากน้อยแค่ไหน

บรรยากาศทางการเมืองที่กำลังเดินไปด้วยดี อาจจะมาสะดุดอีกครั้ง โดยเงื่อนไขแห่งปัญหาทั้งหมดล้วนมาจากการเล่นแร่แปรธาตุของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ