'NEDA' ลุยสำรวจเส้นทาง R12
เชื่อมไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม
หวังบูมด่านชายแดนนครพนม

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561

'NEDA' ลุยสำรวจเส้นทาง R12 <br> เชื่อมไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม <br> หวังบูมด่านชายแดนนครพนม


โครงการพัฒนาเส้นทางถนนหมายเลข 12 (R12) นครพนม ไทย-ท่าแขก/นาเพ้า สปป.ลาว-จาลอ/ฮานอย เวียดนาม ระยะทาง 147 กม. เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2556 ในการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรีไทยและคณะรัฐมนตรี สปป.ลาว ในการหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากถนนหมายเลข 8 (R8) และ (R12) เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงเส้นทาง สำหรับส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวบนเส้นทางดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีไทยได้มอบหมายให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA ดำเนินการศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์และการพัฒนาถนน R8 และ R12

ล่าสุด NEDA ได้นำคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชนลงพื้นที่จัดกิจกรรม CSR & PRESS TOUR 2018 พร้อมสำรวจเส้นทาง R12 นครพนม ไทย-ท่าแขก/นาเพ้า สปป.ลาว-จาลอ/ฮานอย เวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-14 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

“พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์” รองผู้อำนวยการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) เปิดเผยว่า NEDA อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาโครงการพัฒนาเส้นทางถนนหมายเลข 12 (R12) นครพนม ไทย-ท่าแขก/นาเพ้า สปป.ลาว-จาลอ/ฮานอย เวียดนาม ระยะทาง 147 กม. ขณะนี้มีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคา 6 ราย มีทั้งเอกชนและสถาบัน อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะได้ตัวที่ปรึกษาฯ ประมาณ พ.ค.-มิ.ย. หลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการศึกษาใช้เวลา 300 วัน งบศึกษาไม่เกิน 18 ล้านบาท คาดว่าศึกษาแล้วเสร็จภาในปีนี้ ส่วนปี 2562 อนุมัติโครงการพร้อมเจรจากับลาวเรื่องเงินกู้ในการดำเนินงาน เริ่มต้นภายในปี 2562 หรือต้นปี 2563 และแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการปี 2564

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันถนน R12 มีสภาพผิวทางชำรุด ไม่เรียบ ขรุขระเป็นบางช่วง ยังไม่ได้มาตรฐาน ผนวกกับถนนประเทศลาวไม่มีไหล่ทาง และเป็นถนนดินลูกรังกึ่งลาดยาง ทำให้สัญจรลำบาก มีบางช่วงที่เป็นบางช่วงที่เป็นภูเขาหินปูน และมีรถบรรทุกสัญจรไม่ต่ำกว่าวันละ 100 เที่ยววิ่ง รวมทั้งการใช้งานขาดสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเดินทางและขนส่ง เป็นอุปสรรคด้านกฎระเบียบข้อตกลงต่างๆ พิธีด้านศุลกากร ทำให้ปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางดังกล่าวปัจจุบันยังมีปริมาณไม่มากนัก จากสภาพดังกล่าว NEDA จึงมีศึกษาโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยในการเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศ

สำหรับลักษณะโครงการจะศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ พร้อมทบทวนมาตรฐานการออกแบบและสำรวจ เพื่อออกแบบรายละเอียดของถนนและโครงสร้างระบายน้ำที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทั้งกายภาพและความแข็งแรงให้สอดรับกับปริมาณการจราจรในปัจจุบันและอนาคต จากการสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาเส้นทาง R12 เริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม 17 กม. ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เชื่อมต่อไปยังยมมะลาด เมืองบัวละพา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป.ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนสากลจาลอ เมืองกวางบิงห์ ประเทศเวียดนาม ระยะทางรวมทั้งสิ้น 147 กม. โดยใช้วงเงินในการพัฒนาไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

โดยมีแนวเส้นทาง ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงตามมาตรฐานอาเซียนไฮเวย์ มาตรฐานชั้น 2-3 คือ มี 2 ช่องทางจราจรกว้างรวม 7 เมตร มีไหล่ทาง 2 ข้าง ข้างละ 1.50-2 เมตร 2.ปรับปรุงจุดผ่านแดน อาคารสำนักงานต่างๆ สถานีขนส่งสินค้าและลานกองเก็บระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบริเวณด่าน 3.ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณทางร่วมทางแยกในชุมชน ระบบระบายน้ำ ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกำหนดให้ผู้รับเหมาต้องเป็นผู้ประกอบการของไทย เนื่องจากมีศักยภาพและประสบการณ์ดำเนินการ ขณะที่การซ่อมบำรุงนั้น สปป.ลาว เป็นผู้รับผิดชอบดูแลต่อ นอกจากนี้เมื่อ สปป.ลาว พัฒนาเส้นทางกล่าว แล้วเสร็จแนะนำให้ สปป.ลาว ตั้งจุดเก็บค่าผ่านทาง เพื่อนำเงินมาไว้สำหรับบำรุงทาง เนื่องจากปัจจุบัน สปป.ลาว ยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการพัฒนาถนนที่ได้งบประมาณน้อยและใช้เวลานาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถนนเส้นทาง R12 ปรับปรุงแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งระหว่างไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม-มณฑลกว่างสี (จีน) เพิ่มโอกาสการลงทุนของนักธุรกิจไทยในการลงทุนที่ สปป.ลาว และเวียดนามมากขึ้น สนับสนุนส่งออกสินค้าไทยไปยังเมืองและประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทาง R12 ทั้งการค้าชายแดน สปป.ลาว และการค้าผ่านแดน เวียดนามและจีนตอนใต้ มีความนิยมบริโภคสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรไทย เนื่องจากเวียดนามและจีนนิยมบริโภคผลไม้ไทย และขนส่งผ่านเส้นทาง R12 เป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะต้องขายให้พ่อค้าคนกลางในเวียดนาม ก่อนที่จะเข้าสู่จีนในฐานะสินค้าเวียดนามก็ตาม รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจังหวัดตามแนวชายแดนไทย เช่น นครพนมเนื่องจากประชาชนลาวและเวียดนามเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทางถนนได้สะดวก โดยเส้นทางนี้ถือเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังเวียดนามใกล้สุดและประหยัดระยะเวลาเดินทางด้วย

ด้าน “ประทีป ฤทธิกุล” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ปัจจุบันถนน R12 มีสภาพชำรุดค่อนข้างมาก เนื่องจากมีรถบรรทุกใช้สัญจรประจำ ทำให้ถนนได้รับความเสียหาย ผู้ส่งออกจึงเลือกใช้เส้นทางมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 จ.มุกดาหารแทน หาก สพพ. ให้เงินกู้แก่ สปป.ลาว ไปสร้างถนนเส้นดังกล่าว สร้างปี 2562 แล้วเสร็จปี 2564 ทำให้นครพนมกลับมาได้รับความนิยมในการขนส่งสินค้าอีกครั้ง เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่ใกล้สู่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม และสู่มณฑลกว่างสี จีนตอนใต้ เพราะมณฑลกว่างสีมีประชากรถึง 200 ล้านคน ผนวกกับประชากรเวียดนามอีกหลายล้านคน ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นแน่นอน ประกอบกับนครพนมได้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้มีความพร้อมมาตลอด ทั้งมีด่านศุลกากร และมีศูนย์ขนส่งสินค้านครพนม เพื่อควบคุมการขนส่งด้านโลจิสติกส์ให้มีความปลอดภัย

ทั้งนี้ จากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้จังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ สัญญาเช่า 50 ปี ซึ่งจากการประกาศขายเอกสารแบบของโครงการ พบว่า มีเอกชนจำนวน 10 ราย สนใจซื้อแบบดังกล่าว โดยเป็นเอกชนทั้งในประเทศและต่างชาติ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 30 มิ.ย. นี้ สำหรับมูลค่าเศรษฐกิจด่านชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 จ.นครพนมนั้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่าหากโครงการ R12 แล้วเสร็จจะทำให้เศรษฐกิจบริเวณดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการขนส่งทางราง ที่จะมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 โดยคาดว่าหากขนส่งสินค้าเชื่อมไปยังพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ในอนาคต จะทำให้นครพนมเป็นศูนย์กลางการขนส่ง (ฮับ) ด้านการขนส่งสินค้าได้



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ