สรรหาผู้ว่าฯ รฟม. กับภาวะแทรกซ้อน!

วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สรรหาผู้ว่าฯ รฟม. กับภาวะแทรกซ้อน!


 ทำเอารัฐบาลคสช.ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แทบไปไม่เป็นกับผลสำรวจ “ดัชนีคอร์รัปชั่น” ไทยในรอบปี 2560 ที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ลงพื้นที่สำรวจและแถลงออกมาล่าสุดเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ระบุดัชนีคอร์รัปชั่นไทยแย่ลงในทุกๆ ด้านและพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี

โดยนัยว่าผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้นักการเมืองหรือข้าราชการเพื่อให้ได้สัญญาหรือโครงการมาในระดับตั้งแต่ 5-15% ของมูลค่างานคิดเป็นเม็ดเงินเฉลี่ย 1.98 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่ต้องจ่ายใต้โต๊ะเพิ่มขึ้นไปในระดับ 30-35% ของมูลค่างานในอนาคตอันใกล้ จากโครงการเมกะโปรเจกต์ทั้งหลายที่กำลังทำคลอดกันออกมา

ไม่เพียงสะท้อนความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหารากเหง้าที่กัดกร่อนเศรษฐกิจไทยเท่านั้น ยังเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า “โอสถทิพย์” ม.44 ของพลเอกประยุทธ์ นั้น ก็แค่ “ไม้ตีพริก” ที่ไร้พิษสงและฤทธิ์เดชไปแล้ววันนี้ ตราบใดที่นายกฯ และหัวหน้า คสช.ไม่เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริต ไม่ใช่ “ปากว่าตาขยิบ” หากเป็นคนใกล้ชิดแล้ว แต่ไม่จัดการปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้แล้วเครดิต-ชื่อเสียงที่สั่งสมมาตลอดชีวิตคงหมดสิ้นกันคราวนี้

อย่างเรื่องที่กำลังคุกรุ่นอยู่ใต้จมูกนายกฯ กับการสรรหาผู้บริหารองค์กรรัฐวิสาหกิจ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” หรือ “รฟม.” หน่วยงานความหวังในการขับเคลื่อนเมกะโปรเจกต์รถไฟฟ้ามูลค่านับแสนล้านบาท หลังจากที่ต้องว่างเว้นหัวขบวนกันมาเป็นแรมปี

แต่ผลการสรรหาว่าที่ผู้ว่าการรฟม.ที่ได้ นอกจากจะทำเอาคนในรฟม.เองยัง “กังขา” เพราะผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากกรรมการสรรหาและบอร์ดรฟม.คือ “นายภคพงค์ ศิริกันทรมาศ” นั้น เป็นระดับรองผู้ว่าการ รฟม. ที่อาวุโสต่ำสุดแถมเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ขึ้นมาเป็นรองผู้ว่าการเอาก็ในช่วงขวบปีที่ว่างเว้นหัวขบวน เลยทำเอาใครต่อใคร “อึ้งกิมกี่” ที่ถูกเสนอชื่อให้ขึ้นมาเป็นว่าที่ผู้ว่าการว่า มี Invisible Hand ที่ไหนช่วยค้ำถ่อให้ถึงได้ปาดหน้าแซงปรู้ดปร้าดคนอื่นๆ ได้ถึงเพียงนี้

ที่สำคัญเจ้าตัวเองยังถูกร้องเรียนเรื่องที่ทำให้ รฟม.เสียหายอยู่หลายเรื่อง ทั้งกรณีถูกร้องเรียนว่ามีส่วนเอื้อผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงสนามไชย-ท่าพระ ในการเปลี่ยนแปลงงานที่ทำให้ รฟม.ต้องเสียเงินเพิ่มจากงานนอกสั่งให้แก่ผู้รับเหมากว่า 290 ล้านบาท ก่อนถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและถูกสอบวินัยร้ายแรงตามมา เพิ่งจะมีเคลียร์หน้าเสื่อภายใน รฟม.กันในวันสองวันในช่วงสรรหานั่นแหล่ะ ขณะที่เรื่องที่ถูกร้องเรียนจริงๆ ยังคงอยู่ระหว่างการรอผลพิจารณาจากคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) และป.ป.ช.

ฟากประธานสรรหาที่มีส่วนชงรายชื่อว่าที่ผู้ว่าฯ รฟม.ครั้งนี้ ก็ถูกร้องเรียนเช่นกันว่าเป็นกรรมการในบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่กำลังถูกร้องเรียนจะมากินตับรฟม.จากกรณีเดียวกัน เลยทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึงว่างานนี้อาจมีเรื่องของประโยชน์ทับซ้อนซ่อนเงื่อนหรือไม่? นี่ยังไม่นับรวมเรื่อง “ใต้สะดือ” ของบิ๊กรฟม.ที่นัยว่าถูกกะพืออื้ออึงในกระทรวงคมนาคมด้วยอีก ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น นายกฯ น่าจะเลียบเคียงถามทั่น "รมต.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" ดูเอา

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรในขณะที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันตรวจสอบและช่วยกันขจัดปัญหาการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐและในโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ อย่างเข้มงวดจนถึงกับกำหนดให้นโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น “วาระแห่งชาติ” นั้น

การที่บอร์ดรฟม.กลับเสนอชื่อผู้ได้รับการสรรหาที่มีมลทินให้เข้ามาทำหน้าที่บริหารองค์กรที่เกี่ยวพันกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าคงทำเอาภาพพจน์รัฐบาลที่กำลังเพรียกหาความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายในการร่วมขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ

อาจถูกตั้งคำถาม “ย้อนแย้ง” เอาได้ว่า ตกลงรัฐบาลและนายกฯ มีความจริงใจจริงจังในเรื่องนี้สักกี่มากน้อย?

หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับเบอร์แสตมป์ผู้ว่ารฟม.ในครั้งนี้ อาจทำให้ภาพพจน์รัฐบาลที่กำลังถูกสังคมเพ่งเล็งและตั้งข้อกังขาในเรื่องกลิ่นอายทุจริตเงินใต้โต๊ะที่พุ่งขึ้นมาสูงสุดในรอบ 3 ปีนั้นตกต่ำขึ้นไปอีก

ก่อนจะสายเกินแก้ทางที่ดีรัฐบาลควรหา “ผู้บริหารมือดีที่ไม่มีปัญหาหรือไม่มีความขัดแย้งกับใครใน รฟม.” เข้าไปขับเคลื่อนองค์กรที่ดูแลงบสร้างระบบโครงข่ายพื้นฐานสำคัญของประเทศอย่างระบบรถไฟฟ้าหลายแสนดีกว่า ซึ่งจะช่วยเร่งสร้างผลงานให้กับรัฐบาลได้อย่างดี

จริงไม่จริงท่าน รมต.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ที่เคารพ!

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ