คมนาคมเปิดศูนย์โลจิสติกส์ฮับเชียงของ
รองรับการขนส่งสินค้าไทย-อาเซียน-จีน

วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

คมนาคมเปิดศูนย์โลจิสติกส์ฮับเชียงของ <br> รองรับการขนส่งสินค้าไทย-อาเซียน-จีน


จากแผนแม่บท (Master Plan) การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค โดยแม่งานหลักจะเป็นกระทรวงคมนาคม และได้ส่งงานต่อให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางถนนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งไทย

กรมการขนส่งฯ  ได้วางแผนที่พัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 19 แห่ง ประกอบด้วย สถานีขนส่งสินค้าชายแดน 11 แห่ง และสถานีขนส่งสินค้าเมืองหลัก 8 แห่ง เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางถนนรองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าและทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า

ล่าสุด กระทรวงคมนาคม ได้เปิดตัวโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อพัฒนาพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ให้เป็นประตูการค้าในแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง บนพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ กว่า 336 ไร่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามนโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล กรมการขนส่งทางบกจึงได้ดำเนินการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย พื้นที่ 336 ไร่ วงเงิน 1,360 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าชายแดน เชื่อมไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)-สาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และถนนสาย R3A ยกระดับมาตรฐานการขนส่งสินค้า รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียน การเติบโตของสาธารณรัฐประชาชนจีนฝั่งตะวันตก ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked) รวมถึงรองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจากถนนสู่ระบบราง เพื่อขนถ่ายสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังต่อไป

สำหรับมูลค่าการค้าผ่านด่านเชียงของนั้น มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกผ่านด่านกว่าปีละ 21,000 ล้านบาท ในปี 2560 จากที่ในปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้น 10-15% และหากศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ เชียงของดังกล่าวเปิดให้บริการแล้วนั้น เชื่อว่ามูลค่าการนำเข้า-ส่งออกจะเพิ่มขึ้น 30-40% และจะทำให้อำเภอเชียงของกลายเป็นเมืองหลักด้านโลจิสติกส์ หรือ Logistic Hub เป็นอีกหัวใจสำคัญในการแปลงโฉมจังหวัดเชียงราย ให้เป็นโลจิสติกส์ซิตี้ของภูมิภาค พัฒนาให้เป็นประตูการค้าในแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้

ทั้งนี้ ในส่วนของการให้บริการของศูนย์ฯ เชียงของนั้น แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ในระยะที่ 1 จะเน้นการให้บริการเปลี่ยนหัวลาก-หางพ่วง ระหว่างรถบรรทุกไทยกับรถบรรทุกต่างประเทศ มีการให้บริการอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ปลั๊กเสียบตู้แช่เย็น (Reefer) และอุปกรณ์ยกตู้คอนเทนเนอร์ (Reach Stacker) นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่คลังสินค้าศุลกากร คลังสินค้าทัณฑ์บน และอาคารสำหรับบรรจุสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ (CFS) รองรับให้บริการ ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้กว่า 270,000 ทีอียู โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในระยะแรกในปี 2563

ส่วนระยะที่ 2 ศูนย์ฯ เชียงของ จะรองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสู่ระบบราง พร้อมพัฒนาพื้นที่ Container Yard สำหรับการวางตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 2 ได้ในปี 2566 สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ที่เตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.พิจารณาภายในเดือน มี.ค. 2561 และเร่งรัดเริ่มต้นการก่อสร้างภายในสิ้นปีนี้

ในส่วนของรูปแบบการลงทุนของศูนย์ฯ เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP แล้ว อยู่ระหว่างการรอจัดตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ภายในปีนี้จะเริ่มทยอยเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้าง โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเพิ่มอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย นครพนม แม่สอด หนองคาย มุกดาหาร เพื่อทำการศึกษาออกแบบก่อสร้าง เบื้องต้นจะใช้งบประมาณลงทุนเฉลี่ย 800 ล้านบาทต่อแห่ง

ด้าน นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดี กรมการขนส่งทางบก หรือ ขบ. กล่าวว่า ปัจจุบัน ขบ.มีสถานีขนส่งสินค้าที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการและกำกับดูแล จำนวน 3 แห่ง และมีแผนในการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าอีก 19 แห่ง แบ่งเป็น จังหวัดชายแดน 11 แห่ง และเมืองหลัก 8 แห่ง รวมเป็น 22 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงรายนี้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ส่งผลให้จังหวัดชายแดนกลายเป็นศูนย์กลาง (Hub) เชื่อมต่อการขนส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งช่วยอำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชิงบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ