CKP ขายไฟฟ้าพลังน้ำเต็มสูบปี 62
เล็งลงทุน สปป.ลาว-เมียนมา เพิ่ม

วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

CKP ขายไฟฟ้าพลังน้ำเต็มสูบปี 62 <br> เล็งลงทุน สปป.ลาว-เมียนมา เพิ่ม


CKP เร่งเครื่องก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เผยคืบหน้าแล้ว 89% คาดพ.ย. 61 ขายไฟให้ กฟผ. ได้ เชื่อต.ค. 62 ขายไฟฟ้าพลังงานน้ำเต็มสูบ เล็งลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ ในสปป.ลาว เพิ่ม วางงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท มั่นใจกลางปี 61 ผลเจรจารัฐบาลลาวชัดเจนขึ้น พร้อมสนใจลงทุนในเมียนมาศักยภาพด้านพลังงานสูง ทนรอ 5-10 ปี เพื่อให้กฎหมายการลงทุนชัดเจน

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) สปป.ลาว วงเงินก่อสร้าง 1.5 แสนล้านบาท ว่า งานก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 89% โดยในเดือน มี.ค. 2561 มีกำหนดวันเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้า ซึ่งบริษัทจะก่อสร้างเสาไฟฟ้าขนาด 500 KV และเชื่อมโยงกับเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ฝั่งไทยที่อ.ท่าลี่ จ.เลย ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ และเดือน พ.ค. 2561 กำหนดวันรับไฟฟ้าจาก กฟผ.

ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ต.ค. 2561 กังหันชุดแรกจะเริ่มหมุน และวันที่ 24 พ.ย. 2561 ทดสอบเดินเครื่องชุด 1 (Commissioning unit 1) แล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.รับซื้อตามสัญญา และเดือน พ.ย. 2561-ก.ย. 2562 ทดสอบเดินเครื่องชุด 1-8 โดยรายได้จาก กฟผ.ช่วงทดสอบจะได้ 75% ของรายได้โดยเครื่องชุด 1-7 มีกำลังการผลิต 175 เมกะวัตต์/ชุด ส่วนชุดที่ 8 มีกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ และบริษัทได้กำหนดวันที่ 29 ต.ค. 2562 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)

“โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์จะสามารถ COD ได้ในเดือน ต.ค. 2562 ขายให้กับกฟผ. 1,225 เมกะวัตต์ในราคา 2 บาทกว่าต่อหน่วย และอีก 60 เมกะวัตต์ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง สปป.ลาว โดยจะมีรายได้ราว 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท CKP จะรับรู้กำไรตามสัดส่วนถือหุ้น 30% มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปีนับจากวันที่ COD โดยใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี (ปี 55-62) จุดเด่นของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีออกแบบก่อสร้างในรูปแบบฝายน้ำล้น (Run-of-River) ที่มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโครงการ ไม่มีการกักเก็บน้ำ หรือเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง”

สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี มีทุนจดทะเบียน 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย CKP ถือหุ้นอยู่ 30%, บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (NSC) ถือหุ้นอยู่ 25%, รัฐวิสาหกิจลาว ถือหุ้นอยู่ 20%, บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ถือหุ้นอยู่ 12.50%, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถือหุ้นอยู่ 7.5% และบริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) ถือหุ้นอยู่ 5%

นายธนวัฒน์ กล่าวถึงโครงการในอนาคตว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจาการลงทุนโครงการพลังงานน้ำบริเวณลุ่มน้ำโขงในเขต สปป.ลาว ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตและเงินลงทุนใกล้เคียงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่มีขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ (MW)และมูลค่าลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยการเจรจาการลงทุนกับรัฐบาล สปป.ลาว คาดว่า จะมีความชัดเจนในกลางปี 2561 หากการเจรจาเสร็จสิ้นจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ใช้เวลาประมาณ 1-1 ปีครึ่ง ใช้งบศึกษาประมาณ 100-200 ล้านบาท และคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 7-8 ปี ส่วนอายุสัมปทานต้องขึ้นอยู่กับการเจรจา

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งงบลงทุนปี 2561-2562 ประมาณ 1,700-1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนสำหรับโครงการไซยะบุรี ส่วนที่เหลือ 1,000 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 500 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในประเทศ ปี 2561 นี้ บริษัทจะลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (SOLAR) ขนาดกำลังการผลิต 10-20 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็น Solar Rooftop ที่จะซื้อขายไฟฟ้าเองในกลุ่ม บมจ.ช.การช่าง (CK) และขายให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี และจะรับรู้รายได้ในปี 2562

ส่วนในประเทศเมียนมานั้น บริษัทฯ มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในหลายโครงการ เนื่องจากเห็นศักยภาพของพลังงานน้ำในเมียนมามีศักยภาพสูงมาก โดยอาจจะต้องรอ 5-10 ปี เพื่อให้ได้ความชัดเจนนโยบายของรัฐบาลเมียนมา และกฎหมายการลงทุนในเมียนมา

อย่างไรก็ดี บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลัก คือ การเป็นโฮลดิ้ง คอมปานี (Holding Company) ลงทุนในบริษัท ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ 3 ประเภท ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเชียงราย รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมโคเจนเนอเรชั่น ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยปัจจุบัน CKP มีกำลังการผลิตไฟฟ้า จาก 6 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำงึม 2 กำลังการผลิต615 เมกะวัตต์ 2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (BIC1) กำลังการผลิต 117.50 เมกะวัตต์ 3.โครงการ BIC2 กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ 4.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางใน จ.นครราชสีมา กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ 5.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Multi-Crystalline cells ใน จ.เชียงราย กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ และ 6.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางใน จ.นครราชสีมา กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ