พระกริ่งคลองตะเคียน (2)

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระกริ่งคลองตะเคียน (2)


ตอนที่แล้วก็ได้เรียนท่านผู้มีเกียรติไปแล้วว่า พระกริ่งคลองตะเคียนนั้น เกี่ยวข้องกับพระสมเด็จ วัดระฆังอย่างไร คราวนี้ก็จะได้กล่าวถึง รูปลักษณ์ และประวัติความเป็นมา ของพระกริ่งคลองตะเคียน ที่ผู้รู้ ได้กล่าวพรรณนากันไว้ในอดีตให้ผู้มีเกียรติได้ทราบเป็นพื้นฐานเบื้องต้นไว้ ก่อนที่จะวิเคราะห์ กันต่อว่า ใครเป็นผู้สร้าง พระกริ่งที่ไม่ใช่พระกริ่งธรรมดานี้
พระกริ่งคลองตะเคียน เป็นพระเนื้อดิน ผสมมวลสารที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ผงใบลาน เนื้อว่านร้อยแปด และเกสรดอกไม้มงคล ไม่เหมือนกับพระเนื้อโลหะที่สร้างเป็นพระกริ่งที่เห็นกันอยู่ทั่วไป แต่จะเป็นพระที่มีพุทธลักษณะเป็นพระประทับนั่งอยู่บนฐานสูง ปางมารวิชัย ภายใต้ต้นโพธิ์ มีใบโพธิ์ปกคลุมคล้ายๆ กับพระคง ลำพูน มียอดเป็นปลีสูง พระพักตร์กลมนูนไม่มีรายละเอียดของหน้าตา แต่เห็นพระกรรณลางๆ ทั้งสองข้าง สำหรับด้านหลังจะเป็นหลังอูม มียันต์จารอักขระที่สวยงาม เข้มขลัง โดยจารด้วยมือทีละองค์ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมทั้งด้านล่าง เอกลักษณ์ของพระกริ่งคลองตะเคียนก็คือ พระทุกองค์จะต้องเจาะและบรรจุเม็ดกริ่งเข้าไป เวลาเขย่าจะเกิดเสียงดัง เป็นที่น่าสังเกตว่า พระกริ่งคลองตะ-เคียนทุกองค์ ลายมือในการจารยันต์อักขระจะเป็นลายมือที่คล้ายกัน จึงเข้าใจได้ว่าผู้สร้างพระทุกองค์ จะเป็นคนเดียวกัน
แหล่งที่พบพระกริ่งคลองตะเคียน อยู่ที่บริเวณตำบลคลองตะเคียน บ้างก็ว่าเจอที่เจดีย์ร้าง และบริเวณข้างเคียงเจดีย์นั้น บ้างก็ว่าเจอกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และที่บริเวณวัดประดู่ บ้างก็ว่าเจอในคุ้งน้ำคลองตะเคียน จึงใช้สวิงตักขึ้น มาไว้บนตลิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม พอจะจับความได้ว่า พระกริ่งคลองตะเคียนได้ถูก พบเฉพาะที่บริเวณคลองตะเคียนแน่ ไม่ได้กระจัดกระจายไปพบหลายวัดหลายแห่ง ดังเช่นพระซุ้มกอ กำแพงเพชร หรือพระคง ลำพูน
พระที่พบมีอยู่หลายพิมพ์ ได้แก่ พิมพ์หน้าใหญ่ไหล่ยก พิมพ์สองหน้า พิมพ์ หน้าเล็ก และพิมพ์พระปิดตา สำหรับเรื่องสีขององค์พระ เท่าที่ผู้เขียนเคยพบ เห็นองค์จริง หรือในหนังสือก็ตาม จะเห็นอยู่สองสี คือสีดำเป็นมันแบบพระเนื้อดินที่ลงรักดำ ซึ่งยิ่งมีอายุความเก่า ก็จะยิ่งดำเป็นมันเงา อีกสีหนึ่งก็จะเป็นสีน้ำตาล ที่รักดำที่ลงไว้ได้หลุดล่อนออกไปแล้ว ส่วนสีเหลืองอมเขียว และสีเขียวอมเทาตามตำราที่ว่ากัน ก็คงจะเป็นสีผิวของพระเนื้อดินตามธรรมชาติ ซึ่งรักสีดำที่เคลือบ อยู่ได้หลุดล่อนออกไปเท่านั้นเอง บทสรุปของผู้เขียนก็คือ พระกริ่งคลองตะเคียน ไม่ใช่พระที่ผสมผงใบลานเผาจึงทำให้เห็นเนื้อเป็นสีดำ แต่สีดำที่เราเห็นบนพระ กริ่งคลองตะเคียน เป็นสีของรักดำที่ลงไว้ เมื่อรักหลุดล่อนออกแล้ว สีของพระก็จะเป็นสีของดินเดิม เช่น พระผงสุพรรณ พระรอด พระคง เหล่านี้ซึ่งจะมีสีอะไรก็ได้ แล้วแต่มวลสารที่ใช้ทำพระ พระกริ่งคลองตะเคียน เป็นพระเครื่องที่มี พุทธคุณเป็นเลิศ ในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี โดยเฉพาะเรื่องเขี้ยวงา กันงูกัด สุนัขกัดนั้นสุดยอด โบราณาจารย์จึงมีคำกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า "หน้าใหญ่ ไหล่ยก อกต่ำ ผิวดำสนิท กันเขี้ยวอสรพิษ ต้องคลองตะเคียน"
พระกริ่งคลองตะเคียนนี้ หากเราได้พิจารณาพระองค์จริงแล้ว เราจะเห็นได้ไม่ยากว่า การทำพระกริ่งคลองตะเคียนแต่ละองค์ จะต้องทำอย่างประณีต เป็นที่สุด จะต้องเตรียมมวลสารเป็นอย่างดี กดพิมพ์แล้วก็จะต้องปั้นให้หลังอูมสวยงามด้วยความประณีตบรรจง แล้วก็ต้องเจาะบรรจุเม็ดกริ่ง มีการจารอักขระจำนวนมากตัวด้วยมือ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังทีละองค์ ลายมือที่จาร เป็นลายมือเดียวกันด้วย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า พระกริ่งคลองตะเคียนนี้ จะต้องถูกสร้างโดยผู้ที่มีคุณวิเศษที่ไม่สามารถหาผู้ที่จะเทียบเคียงได้ เพราะจุดประสงค์ของการสร้างต้องการความแน่นอน มั่นใจได้ทุกองค์
อดุลย์ ฉายอรุณ : โทร.08-8696-5994


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ