“ไจก้า” พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีไฮสปีดเทรนให้ไทย

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

“ไจก้า” พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีไฮสปีดเทรนให้ไทย


เมื่อเอ่ยถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยรถไฟเร็วสูง ทุกคนทั่วโลกต่างรู้ดีว่า เทคโนโลยีจากญี่ปุ่นล้ำสมัยเป็นที่สุด รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ด้วย หลายประเทศทั่วโลกต่างรุมจีบญี่ปุ่นเพื่อให้ได้เทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วมเปิดการสัมมนา “Thailand - Japan Railway Partnership for Connectivity Success Sharing Advanced SHINKANSEN Technologies & Area development” เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยของรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบรถไฟความเร็วสูงของไทยในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมทั้งความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่หรือภูมิภาคที่เหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเกิดประโยชน์แก่คนไทยทุกระดับอย่างแท้จริงและทั่วถึง ตลอดจนเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ

นายอาคม กล่าวว่า การลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ประเทศญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนาหลากหลายโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูง การนำเสนอแผนการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ อย่างบูรณาการ การพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง และการเพิ่มประสิทธิภาพบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ วันนี้จึงเป็นการนำเสนอก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ที่ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกัน

ส่วนความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น นั้น ญี่ปุ่นได้นำเสนอรายงานความเหมาะสมโครงการความร่วมมือการก่อสร้างรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กม. ฉบับสมบูรณ์ ให้ฝ่ายไทยแล้ว โดยจะใช้เงินลงทุนรวม 2.76 แสนล้านบาท ไม่รวมงานระบบเดินรถและตัวรถ สำหรับรูปแบบลงทุนญี่ปุ่นเห็นว่ารัฐบาลควรลงทุนเองทั้งหมด หากต้องการให้โครงการสำเร็จ เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ขณะที่ฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นศึกษารูปแบบการลงทุนเพิ่มเติม โดยไทยได้เสนอให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุนในงานระบบเดินรถ ซ่อมบำรุง ระยะเวลา 30 ปี เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีชินคังเซน โดยไทยจะซื้อขบวนรถจากญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี โดยภายใน 3 เดือน กระทรวงจะนำผลการศึกษาเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการได้ หากครม. เห็นชอบ จะเข้าสู่ขั้นตอนของการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างเส้นทางเฟสที่ 1 ก่อน ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 418 กิโลเมตร

ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้เร็ว จะมีการแบ่งระยะการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง คือ เฟสที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 418 กม. แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 สัญญาคือ จากสถานีบางซื่อ –ดอนเมือง-อยุธยา ระยะทางประมาณ 100 กม. และ ลพบุรี นครสวรรค์ -พิษณุโลก อีกกว่า 300 กม. และเฟส 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 573 กม. เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ก่อนในระยะแรก กทม.-อยุธยา โดยที่ไม่ต้องรอให้การก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งเส้นทาง นอกจากนื้ ฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำเรื่องแนวคิดพัฒนาพื้นที่รอบสถานีด้วย

ด้าน นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ข้อดีของระบบรถไฟชิงกันเซ็งคือมีความตรงต่อเวลาและความปลอดภัย ซึ่งเหมาะสำหรับนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยในอนาคต โดยประเทศญี่ปุ่นพร้อมให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะวิศวกรรถไฟ รวมถึงการจัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยที่ผ่านมา ได้จัดฝึกอบรมแล้วกว่า 10,000 คน ณ ศูนย์ฝึกอบรม กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีประสิทธิผลจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและชนบท

ขณะที่ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การพัฒนารถไฟในประเทศไทย รวมถึงการวางแผนพัฒนาในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นหลากหลายสาขาที่มาร่วมบรรยายและให้ข้อมูล โดยเน้นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการระบบรถไฟความเร็วสูงประสบความสำเร็จ เช่น ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของระบบ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล  การพัฒนาพื้นที่หรือภูมิภาค เพื่อเสริมประสิทธิผลของโครงการและแผนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน        

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ