นักลงทุน (Investor)

วันพุธที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นักลงทุน (Investor)


สำหรับนิยามของนักลงทุนนั้นมีได้หลากหลายมาก เพราะทุกคนที่จ่ายเงินซื้อสินทรัพย์ต่างเรียกตัวเองเป็นนักลงทุนทั้งนั้น แต่ไม่เคยรู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นนักลงทุน นักเก็งกำไร หรือนักพนันกันแน่ สำหรับผม นิยามของนักลงทุนคือ (1) ต้องถือสินทรัพย์นั้นในเวลาที่นานพอควร ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงกันอีก บางท่านบอก 1 ปีขึ้นไป บางท่านบอกแค่ 1 วันก็ถือว่านานแล้ว ในมุมมองของผมขอให้มากกว่า 1 เดือน เพื่อให้สินทรัพย์นั้นได้เคลื่อนไหวตามปัจจัยทางด้านอุปสงค์และอุปทานอย่างแท้จริง ไม่ใช่ถูกขับเคลื่อนจากข่าวที่เข้ามากระทบเพียงชั่วขณะเวลา สำหรับตัวเลข 1 เดือนผมนึกคิดเอาเอง เพราะคนส่วนใหญ่มีรายได้เป็นรายเดือน ซึ่งก็น่าจะดีหากมีการพิจารณาปรับพอร์ตซื้อเข้าขายออกอย่างน้อยเดือนละครั้ง

(2) ต้องมีการกำหนดนโยบายการลงทุน ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดจำนวนเงินที่จะลงทุน จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการลงทุน และประเภทสินทรัพย์ที่จะลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หากไม่มีการกำหนดนโยบายการลงทุนตั้งแต่แรก ก็เปรียบเสมือนการท่องมหาสมุทรโดยปราศจากเข็มทิศบอกทาง ซึ่งอาจทำให้เราไขว้เขวหรือไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ได้ อย่างเช่น พอร์ตการลงทุนในทองคำก็ควรมีการจัดสรรเงินลงทุนไปตั้งแต่แรกว่าเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของเงินทั้งหมด และกำหนดล่วงหน้าว่าจะเพิ่มหรือลดสถานะการถือครองเมื่อราคาทองคำปรับตัวลดลงหรือเพิ่มขึ้นถึงระดับใด

(3) ต้องมีการวิเคราะห์การลงทุน เงื่อนไขนี้ไม่บังคับว่านักลงทุนจะต้องวิเคราะห์ ตามปัจจัยพื้นฐาน อย่างเช่น การวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อราคาทองคำเท่านั้น เพราะบางท่านอาจจะถนัดการวิเคราะห์รูปแบบราคาตามปัจจัยทางเทคนิค มากกว่า ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ในรูปแบบใด ผมจัดชั้นให้ท่านเป็นนักลงทุนทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความถนัดของตัวท่านเอง แต่ถ้าสามารถวิเคราะห์ได้ทั้ง 2 วิธีจนกำหนดจุดซื้อจุดขายที่เหมาะสมได้เอง (มีราคาเป้าหมายในใจ) ก็น่าจะช่วยให้ผลลัพธ์การลงทุนของท่านออกมาเป็นที่น่าพอใจมากขึ้น

+ นักเก็งกำไร (Speculator)

นักเก็งกำไรมีความใกล้เคียงกับนักลงทุนค่อนข้างมาก แต่จะต่างกันที่ระยะเวลาในการถือครองทองคำ เพราะบางท่านก็บอกว่ามีการกำหนดนโยบายการลงทุนแต่แรก และสามารถวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางเทคนิคได้อย่างคล่องแคล่วแม่นยำ แต่ด้วยอุปนิสัยส่วนตัวที่ไม่ชอบถือสินทรัพย์นั้นนาน หรือยอมตัดขาดทุนเร็วดีกว่าปล่อยให้เงินจม ทำให้ท่านต้องถูกจัดชั้นเป็นนักเก็งกำไรไปโดยปริยาย ซึ่งถ้าอิงจากหนังสือกลยุทธ์เด็ดเคล็ดการลงทุนใน SET50 Index Futures ของคุณภาคภูมิ ภาคย์วิศาล ได้แบ่งประเภทนักเก็งกำไรไว้อย่างน่าสนใจ คือ

(1) Scalper เป็นนักเก็งกำไรประเภทแบบถือข้ามชั่วโมงไม่เป็น แค่ถือเกิน 5 นาทีก็ใจสั่นแล้ว หรือนานสุดไม่เกินเที่ยงวันถ้าได้ซื้อทองคำมาตั้งแต่ช่วงเช้า และถ้าซื้อตอนบ่ายก็จะถือไม่เกินเย็น คือ เก็งกำไรเฉพาะภาคเช้าหรือภาคบ่ายให้จบในวัน จะไม่ถือข้ามวันอย่างเด็ดขาด และด้วยความที่ถือเพียงช่วงสั้นถึงสั้นมาก จึงทำให้นักลงทุนประเภทนี้คาดหวังผลตอบแทนที่ได้รับแต่ละรอบในระดับต่ำ แต่จะใช้การซื้อขายหลายรอบเพื่อทำให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น

(2) Day Traders เป็นนักเก็งกำไรที่สามารถถือครองทองคำได้นานกว่า Scalper คือซื้อเช้าแล้วมาขายบ่ายหรือขายกลางคืนได้ แต่จะไม่เสี่ยงถือข้ามวันเหมือนกัน ส่วนผลตอบแทนหากเก็งกำไรถูกทาง อาจจะได้เพิ่มขึ้นกว่า Scalper นิดหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำเพราะต้องเจียดไปจ่ายค่าคอมมิสชั่นที่เกิดขึ้นทุกวันด้วย

(3) Position Traders เป็นนักเก็งกำไรที่สามารถถือครองทองคำข้ามวันได้ แต่จะไม่นานเกิน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ถือแค่ 2-3 วันก็ทนไม่ไหวแล้ว การวิเคราะห์จะละเอียดกว่านักเก็งกำไร 2 ประเภทแรก และมักใช้เงินลงทุนในจำนวนที่มากกว่า เพื่อชดเชยกับความถี่ในการซื้อขายที่น้อยลง

หวังว่าบทความภาคต่อฉบับนี้จะทำให้นักลงทุนเห็นภาพมากขึ้นว่าประเภทของนักลงทุนในทองคำแบ่งได้อย่างไร และพฤติกรรมของท่านตรงกับประเภทไหนมากที่สุด หากท่านรู้ตัวแต่แรกว่าท่านเข้ามาในตลาดทองคำด้วยฐานะใด นักเก็งกำไร นักลงทุน หรือผู้ป้องกันความเสี่ยง ท่านก็จะสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้เหมาะสมกับตัวเอง ไม่หลงทางตามกลยุทธ์คนอื่นที่อาจไม่เหมาะกับตัวท่าน เมื่อได้ลงทุนตามที่ตัวเองถนันดแล้ว สุดท้ายก็จะทำให้ท่านลงทุนได้อย่างมีความสุข และบรรลุวัตถุประสงค์ ที่ตั้งใจไว้ได้ง่ายขึ้น


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ