ว่าที่คุณแม่ ... รับมืออย่างไร ? เมื่อพบ “เนื้องอกมดลูก” ขณะตั้งครรภ์

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ว่าที่คุณแม่ ... รับมืออย่างไร ?  เมื่อพบ “เนื้องอกมดลูก” ขณะตั้งครรภ์


สารพันความกังวลใจของคุณแม่ หลังพบปัญหาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกขณะตั้งครรภ์ ล้วนเกิดเป็นนานาคำถามที่ต้องการคำตอบ ว่าควรรับมืออย่างไร ปฏิบัติตัวแบบไหน เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์สามารถลืมตาดูโลกได้อย่างปลอดภัย ความจริงแล้ว ผู้หญิงเกือบ 50% มีเนื้องอกกล้ามเนื้อ (Leiomyoma หรือ Uterine Fibroid) เพียงแต่อาจจะไม่มีอาการ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน จึงมักพบเนื้องอกนี้ครั้งแรกเมื่อตรวจอัลตราซาวด์ขณะตั้งครรภ์

ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า โดยการอัลตราซาวด์ระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เป็นช่วงที่สามารถเห็นเนื้องอกในทุกตำแหน่งได้ง่ายที่สุด เนื่องจากมดลูกยังมีขนาดเล็ก เมื่อมดลูกและทารกมีขนาดโตขึ้นตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น การอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูก้อนเนื้องอกก็จะค่อนข้างจำกัดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น หากมีเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกขณะตั้งครรภ์อันตราย หรือภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้จากเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งของก้อน ขนาดของก้อน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเสริมอื่น ๆ ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูกในแต่ละราย จึงมีอาการแสดง และภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน โดยภาวะที่พบได้บ่อย ได้แก่  ก้อนโตเร็วขณะตั้งครรภ์และมีอาการปวด เนื่องจากขณะตั้งครรภ์มีฮอร์โมนสูง ทำให้ก้อนมีขนาดโตขึ้นเร็ว และเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกไม่เพียงพอ การขาดเลือดทำให้เกิดอาการปวด

ก้อนกดเบียดถุงการตั้งครรภ์ มักเกิดจากเนื้องอกชนิดที่ยื่นเข้ามาในโพรงมดลูก ซึ่งอาจขัดขวางการฝังตัวของถุงการตั้งครรภ์ในระยะแรก ทำให้แท้งง่าย หรือหากก้อนมีขนาดใหญ่จนโพรงมดลูกบิดเบี้ยวมาก อาจทำให้ทารกในครรภ์มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว เกิดภาวะข้อติดหรือผิดรูปตามมา  ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ มักพบในกรณีที่รกเกาะอยู่ตรงตำแหน่งของเนื้องอก หรือเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่กดเบียดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกเสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนด หากขนาดเนื้องอกมดลูกโตขึ้นมาก อาจทำให้เกิดเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด

ก้อนเนื้องอกขวางทางคลอด ในกรณีที่ก้อนอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูก หรือบริเวณปากมดลูก ทารกไม่สามารถลอดผ่านออกมาได้ จึงทำให้เสียโอกาสคลอดธรรมชาติ เสี่ยงต่อการมีภาวะตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากเนื้องอก ขัดขวางการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เสียเลือดมากจากภาวะมดลูกไม่หดรัดตัว ต้องตัดมดลูกเพื่อรักษาชีวิตคุณแม่ไว้

นอกเหนือจากการดูแลครรภ์ตามปกติแล้ว คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเนื้องอก หากมีอาการปวดที่ก้อนมาก ๆ อาจต้องใช้ยาช่วย แต่ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการจัดยาที่ปลอดภัย หรือหากมีอาการมดลูกหดรัดตัวก่อนกำหนด ต้องรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยอาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อยับยั้งการคลอดตามความเหมาะสม นอกจากนี้ คุณแม่ต้องมาฝากครรภ์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด เพื่อติดตามสุขภาพของทารก และขนาดของเนื้องอกเป็นระยะ

สำหรับคำถามยอดฮิต มีเนื้องอกแล้วคลอดเองได้หรือไม่? หากก้อนเนื้องอก ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งขวางช่องทางคลอด คุณแม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้เองตามปกติ โดยต้องเฝ้าระวังภาวะตกเลือดหลังคลอด และภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวอย่างใกล้ชิด ขณะตั้งครรภ์มดลูกของคุณแม่ จะมีเลือดมาเลี้ยงปริมาณมาก โดยเส้นเลือดที่เคยมีขนาดเล็กจะขยายใหญ่ขึ้น การผ่าตัดจะทำให้เสียเลือดมากซึ่งไม่เป็นผลดี ฉะนั้นแพทย์จึงไม่แนะนำให้ผ่าเนื้องอกออกพร้อมกับผ่า คลอด นอกจากกรณีจำเพาะบางอย่าง เช่น เนื้องอกมดลูกชนิดอยู่ภายนอกที่มีก้านยาว หากทิ้งไว้อาจมีการบิดขั้วภายหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้ว เนื้องอกมักมีขนาดเล็กลงหลังคลอดแต่ไม่ได้หายไป เพราะไม่มีฮอร์โมนกระตุ้น หากไม่มีอาการของประจำเดือนผิดปกติ และอัลตราซาวด์ติดตามอาการแล้วก้อนไม่โตขึ้น ก็อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแต่อย่างใด

 




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ