ห่มผ้าเจดีย์ดาธุ สัมผัสศรัทธาคน 2 แผ่นดิน

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ห่มผ้าเจดีย์ดาธุ สัมผัสศรัทธาคน 2 แผ่นดิน


เรื่อง : คเชนทร์ พลประดิษฐ์ ภาพ : Kon Nokkok
ในช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชา ในเมืองฝน แปด แดดสี่ อย่างระนอง มีประเพณีหนึ่งที่ได้รวมเอาศรัทธา ของคน 2 เชื้อชาติจากประเทศไทย-เมียนมาร์เข้าด้วยกัน นั่นก็คือประเพณีการแห่ผ้าห่มพระเจดีย์ดาธุ
"ดาธุ" เป็นภาษาเมียนมาร์ แปลว่า "พระธาตุ" เป็นเจดีย์ที่มีสถาปัตยกรรมแบบพม่า รูปทรงกลมยกฐานสูงจากพื้นประมาณ 80 เซนติเมตร ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมจากฐานถึงยอดฉัตรสูงประมาณ 13 เมตร มีกำแพงโดยรอบทั้งสี่ด้านสูงประมาณ 1 เมตรแต่ละด้านของกำแพงมีประตูทางเข้ากว้างประมาณ 2 เมตร ตัวเจดีย์และกำแพงฉาบด้วยปูนทาสีขาว ส่วนยอดฉัตรของเจดีย์ทำด้วยทองเหลืองและประดับเพชรที่ฉัตรเป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่า สร้างขึ้นมากว่า 100 ปี โดยชาวเมียนมาร์ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่อพยพมาอยู่ในเมืองระนอง ตั้งอยู่ภายในวัดสุวรรณคีรีวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดหน้าเมือง" ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของเมืองระนอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า พระเจดีย์ดาธุ นั่นน่าจะจำลองมาจาก พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ด้วยรูปทรงที่มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งชาวเมียนมาร์ให้ความเคารพนับถือ ในส่วนของเจดีย์ดาธุนั้น ชาวระนองและชาวเมียนมาร์ที่อาศัยอยู่ในเมืองระนองต่างก็ให้ความเคารพนับถือเช่นเดียวกัน และห้ามสตรีเข้าไป ในบริเวณองค์เจดีย์ โดยให้กราบไหว้ได้เพียงรอบนอก
การแห่ผ้าห่มเจดีย์ดาธุ จะเริ่มต้น ก่อนวันวิสาขบูชา โดยประชาชนจาก 2 เชื้อชาติจะร่วมแห่ผ้าไปรอบเมืองก่อนจะไปสิ้นสุดที่บริเวณองค์เจดีย์ โดยในขบวนแห่จะมีการละเล่นทั้งกลองยาว หรือภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า "ทับยาว" และ "ลิเกพม่า" ที่ผู้เฒ่าผู้แก่บอกมาในอดีต ลิเกพม่า นั้นมีการแสดงตลอดทั้งงานตั้งแต่กลางวันถึงกลางคืน แต่ปัจจุบันที่ผู้เขียนเห็นนั้นมีเฉพาะในช่วงขบวนแห่เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการแสดงที่น่าสนใจ อีกอย่างหนึ่ง
จากนั้นประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์ และประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส ว่าที่ร้อยตรี เชิดศักดิ์ จำปาเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง จะเป็นผู้นำขบวนผ้าห่มพระเจดีย์ เดินวนทักษิณาวัตร รอบองค์ เจดีย์ ก่อนจะส่งต่อให้ยังชาย ชาวเมียนมาร์ที่อยู่บนองค์เจดีย์เพื่อนำไปพันรอบองค์เจดีย์ต่อไป
ภาพความสวยงามขณะที่มีการวนรอบองค์เจดีย์ นั้นตราตรึงใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทิวเขาแลเห็นไกลๆ เบื้องหลังพระเจดีย์เกิดรุ้งกินน้ำปรากฏขึ้น พร้อมกับพระจันทร์ที่มองเห็นเลือนรางอยู่กลางท้องฟ้า
ในวันนั้นนอกจากความสวยงามของปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัสอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของผู้คนจาก 2 แผ่นดินที่มาอยู่ร่วมกัน สร้างศรัทธาร่วมกัน ภาพของลูกหลานที่เดินจูงมือคนแก่คนเฒ่ามาร่วมในงานพิธี ปัจจุบันนั้นหาได้ยากยิ่ง และสิ่งเหล่านี้ก็มีให้เห็นน้อยลงเต็มทีในสังคมเมือง ซึ่งเราต่างหมกหมุ่นอยู่กับความศรัทธา ในวัตถุมากกว่าศรัทธาในรูปจิตใจและคุณงามความดี



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ