โรคกรดไหลย้อน อันตรายจากอาการแสบร้อนกลางอก หลังอาหารมื้อหนัก

วันอังคารที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2562

โรคกรดไหลย้อน อันตรายจากอาการแสบร้อนกลางอก หลังอาหารมื้อหนัก


หลายคนอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณกลางอก หรือลิ้นปี มีอาการเรอเปรี้ยวหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าคืออาการของโรคกรดไหลย้อน อาการทั่วไปของโรคไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายมากนัก เพียงก่อให้เกิดความรำคาญ ไม่สบายตัวบางชั่วขณะ แต่รู้หรือไม่ว่า หากละเลยอาการระคายเคืองเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ อาจมีผลเสียร้ายแรงตามมา

ทำความรู้จัก โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน หรือ GERD เป็นภาวะที่น้ำย่อยซึ่งมีความเป็นกรด ไหลกลับขึ้นไปยังหลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามมาที่บริเวณหน้าอกหรือคอ มีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ที่เรียกว่าอาการเรอเปรี้ยว อาการเหล่านี้เป็นสาเหตุให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นแผลรุนแรง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร

ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการทางระบบ หู คอ จมูก ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง หรือ อาการทางระบบหายใจเช่น หอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ ดังนั้น จึงหมั่นสังเกตตัวเองและปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การวินิจฉัยและรักษาโรคกรดไหลย้อน

นอกจากการซักประวัติคนไข้แล้ว ยังมีอีหลายวิธีที่สามารถวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนได้อย่างแม่นยำ เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การกลืนแป้ง การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลแม่นยำที่สุดในปัจจุบัน

ปฏิบัติตัวอย่างไรห่างไกลกรดไหลย้อน

อาการโรคกรดไหลย้อน โดยทั่วไปถูกกระตุ้นด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ดี ดังนั้นเราสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างต้น และผลร้ายแรงต่างๆ ที่จะตามมาได้โดย

  •  หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
  •  หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้
  •  หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด รวมถึงอาหารไขมันสูง
  •  ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป
  • รับประทานอาหารมื้อเย็นแต่เพียงพอดี ไม่ทานในปริมาณมากเกินไป และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรมีเวลาย่อยก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  •  ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
  •  ไม่สวมเสื้อผ้ารัดรูปมากเกินไป
  •  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาประเภทลดกรดในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPI) โดยระยะเวลาในการให้ยาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของแพทย์ หากไม่สามารรักษาโดยการทานยาแพทย์อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการส่องกล้องผ่าตัด

นพ.สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ