“เมาค้าง” ส่งท้ายปี ... หาวิธีแก้อย่างไร?

วันศุกร์ที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2562

“เมาค้าง” ส่งท้ายปี ... หาวิธีแก้อย่างไร?


ผ่านช่วงเวลาแห่งความสุข กันไปแล้ว สำหรับ เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แน่นอนว่าเทศกาลแบบนี้ถือเป็นช่วงแห่งการมีปาร์ตี้ สังสรรค์ อย่างสนุกสาน เพลิดเพลินใจ ด้วยการดื่มเครื่องแอลกฮอลล์ ของมึนเมากันเป็นเป็นธรรมดา แต่เมื่องานเลี้ยงและการดื่มสังสรรค์จะเลิกลาไปแล้ว แต่หลายๆ คน อาจมีอาการเหล่านี้หลงเหลืออยู่ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ กระหายน้ำ ใจสั่น อ่อนเพลีย ตัวเย็น กล้ามเนื้อเกร็ง หรืออาจเป็นตะคริวร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า คุณกำลังอยู่ในภาวะ “เมาค้าง”

โดย ศูนย์บริการข่าวสารด้านยา ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า อาการเมาค้าง เกิดจากแอลกอฮอล์ไปลดการดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุจากทางเดินอาหาร และยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ยิ่งปัสสาวะบ่อยยิ่งทำให้ร่างกายเสียน้ำ โดยมีการขับวิตามินและแร่ธาตุสำคัญออกไปพร้อมกับปัสสาวะ จึงทำให้รู้สึกอ่อนล้า

สำหรับวิตามินที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมาค้าง 

  • วิตามิน บี1 และ บี6: ช่วยลดอาการ มึนงง เวียนศีรษะ ชาปลายมือปลายเท้า พบได้ในผัก ถัวลิสง ถั่วเหลือง นม ไข่แดง ปลา และตับ เป็นต้น
  • วิตามินซี: ช่วยเร่งการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย และทำให้สดชื่น พบได้ในน้ำส้ม หรือน้ำมะนาว
  • กรดโฟลิก: ช่วยนำส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ลดอาการอ่อนเพลีย ช่วยฟื้นฟูเซลล์ที่จะถูกทำลายโดยแอลกอฮอล์ พบได้ในกะหล่ำปลี และบร็อคโคลี่
  • แมกนีเซียม: บรรเทาอาการปวดศีรษะ หงุดหงิด ช่วยลดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาการอ่อนเพลียได้ พบได้ในเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี และผักใบเขียว
  • โพแทสเซียม: ช่วยลดอาการขาดน้ำ เพิ่มเกลือแร่ พบได้ในกล้วย และน้ำมะพร้าว

ทั้งนี้ ยาแก้เมาค้างมีจริงหรือไม่? นั้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ยาที่ขึ้นทะเบียนว่าเป็นยาแก้เมาค้างไม่มีอยู่จริง มีเพียงแต่ยาที่ใช้รักษาตามอาการ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมวิตามินเพื่อช่วยให้เรารู้สึกสดชื่น และหายจากการเมาค้างได้ เช่น การรับประทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียน, การรับประทานยาบรรเทาการปวดศีรษะ และ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมวิตามิน หรือเครื่องดื่มเสริมวิตามิน

อย่างไรก็ตามอาการเมาค้าง อาจไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาเสมอไป เราอาจใช้การรับประทานอาหาร หรือ ดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทาอาการเมาค้างได้ รวมถึงการนอนพักผ่อนก็จะช่วยให้อาการเมาค้างดีขึ้นได้ด้วย นอกจากการขาดวิตามินแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการเมาค้างได้อีก เช่น ภาวะการเสียน้ำ จึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และอย่าปล่อยให้ท้องว่าง อาจรับประทานอาหารเบาๆ เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารระคายเคืองจากน้ำย่อย แต่หากต้องการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มเติมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกใช้ยา




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ