แพทย์ แนะ “ไบโพลาร์” รักษาได้อย่างไร ใช้ชีวิตได้เป็นสุข

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

แพทย์ แนะ “ไบโพลาร์” รักษาได้อย่างไร ใช้ชีวิตได้เป็นสุข


เนื่องด้วยทุกวันนี้ คนไทยประมาณร้อยละ 10-15 มีปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่มาพบแพทย์ ในขณะที่ประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนหรือทางการแพทย์เรียกว่า “ไบโพลาร์” เป็นจำนวนมากนับหลายแสนคน  โดยจากรายงานล่าสุดในการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย กรมสุขภาพจิต และคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 พบว่า มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ทั้งสิ้น 32,502 คน จากผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 712,359 คน

ซึ่งยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าตนป่วย หรือไม่กล้ามาพบแพทย์ จึงไม่อยากให้เกิดความชะล่าใจ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่คิดว่าเป็นอาการของโรคแปรปรวน และหากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายได้ทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง คนใกล้ชิด และสังคมรอบข้างได้ เนื่องด้วยผู้ป่วยมักใช้ความรุนแรงทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว บางครั้งก็มาจากการที่มีอารมณ์แบบสุดขั้ว บางรายมีอาการซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไข้ 1 ใน 5 สามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จ

ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “โรคทางจิตเวช” ถือเป็นหนึ่งในกลุ่ม 7 โรค ที่แพทยสมาคมฯ ได้ดำเนินงานอยู่ภายใต้ “โครงการอุ่นใจเมื่อใกล้ แพทยสมาคมฯ” สำหรับปีนี้ ไบโพลาร์หนึ่งในโรคทางจิตเวชได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกระแสในสังคมทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เราจึงเปิดตัว “โครงการอุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์ Healthy mind, Happy life” ขึ้นเพื่อสร้างพลังในเชิงบวกให้กับกลุ่มผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย รวมถึงสะท้อนถึงมุมมองและประสบการณ์ตรงของผู้ป่วยและคนในครอบครัว ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่คนในสังคมได้รับรู้ถึงความรู้สึกและเข้าใจอาการของผู้ป่วยไบโพลาร์ รวมถึงผู้ป่วยทางจิตเวชให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้มีที่ยืนในสังคมได้อย่างเป็นธรรม โดยโครงการดังกล่าวจะมุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านกิจกรรมการสัญจรให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ เพื่อให้สังคมช่วยกันสังเกตพฤติกรรมคนใกล้ชิด เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาได้และสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ

การสร้างความเข้าใจกับสังคมในเรื่องของจิตเวชเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องช่วยกัน เพราะโรคนี้สามารถรักษาได้หากได้รับการติดตามและดูแลอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ถึงร้อยละ 80-90 โดยมีหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น เช่น  เหตุการณ์ที่สะเทือนใจ เหตุการณ์พลิกผันในชีวิตซึ่งไม่เคยคาดคิดมาก่อน ภาวะความเครียดรุมเร้า ตลอดจนการใช้สารเสพติด เป็นต้น”

ด้าน รศ. นพ. ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สาเหตุของการเกิดโรคไบโพลาร์ มีอยู่หลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือการเลี้ยงดู โดยทางพันธุกรรมนั้นในครอบครัวที่พ่อแม่ป่วยโรคนี้ ลูกก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นไบโพลาร์มากกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นกันทุกคน รวมถึงการเลี้ยงดู หากเลี้ยงดูจนทำให้เด็กเกิดความเครียด หรือไม่สามารถปรับตัวได้ ก็เสี่ยงที่จะเกิดการกระตุ้นให้เกิดโรคได้มากขึ้น ส่วนสิ่งแวดล้อม เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสมองทำให้การควบคุมอารมณ์เปลี่ยนไป

สำหรับอาการผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ จะมีอารมณ์แปรปรวนที่ผิดปกติแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อารมณ์เศร้าหรืออารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ  ในช่วงระยะอารมณ์ซึมเศร้าจะมีอาการแบบนี้ติดๆ กันนานถึง 2 สัปดาห์ – 1 เดือน ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า มองตัวเองในแง่ลบ และมีความคิดฆ่าตัวตาย ส่วนในช่วงที่มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกตินานติดๆ กัน 2 สัปดาห์ - 1 เดือนเช่นกัน ผู้ป่วยจะรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดีมากกว่าปกติ คึกคัก มีความมั่นใจมากขึ้น แต่ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดแบบมีพลังวิเศษ หรือมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่น จนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ