Toggle navigation
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2568
หน้าแรก
ข่าวสาร
วิเคราะห์-บทความ-ต่างประเทศ
ประกัน
ยานยนต์
การเงิน-ธนาคาร
หุ้น-กองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์
พลังงาน-คมนาคม-โลจิสติกส์
อุตสาหกรรม-เออีซี-เอสเอมอี
ไอที
การศึกษา-กทม
การตลาด-ซีเอสอาร์
เกษตรยุคใหม่-ภูมิภาค
บันเทิง
ขายตรง
ประชาสัมพันธ์
PR NEWS -ข่าวประชาสัมพันธ์
ไลฟ์สไตล์
ท่องเที่ยว
แฟชั่นโซไซตี้-ดูดวง
ช๊อป-ชิม-ชิล
สุขภาพ-ความงาม
วิดีโอ-คลิปข่าว
E-Book
นสพ. สยามธุรกิจ
ติดต่อเรา
สามารถส่งข้อมูล ข่าวสาร ทางอีเมลล์ : siamturakijonlinenews@gmail.com และ สำหรับฝ่ายโฆษณา ทางอีเมลล์ : siamturakijadvertising@gmail.com
หน้าแรก
ท่องเที่ยว & วัฒนธรรม
ไต่เขาสัมผัสหนาว “ภูกระดึง” “ลมหายใจบนเส้นทางโขดหิน”
ไต่เขาสัมผัสหนาว “ภูกระดึง” “ลมหายใจบนเส้นทางโขดหิน”
วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
Tweet
by : ทองปาน ศิรินาต
ช่วงลมหนาวปลายปี 2555 ผมกับเพื่อนร่วมทางยืนอยู่ตีนภูกระดึง แหงนหน้ามองเส้นทางเดินเท้าลาดชันขึ้นสู่ยอดภู พวกเราล้วนมาที่นี่เป็นครั้งแรกจึงมิอาจรู้ได้ว่า เส้นทางเดินเท้าเบื้องหน้ามีความยากลำบากเพียงไร
แต่การปีนเขาเดินภูสู่ที่สูงในวัยหนุ่มใหญ่และต้องต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกคอยฉุดดึงด้วยแล้ว....เพียงแค่คิดก็เหนื่อยเอาการ
พวกเราได้รับข้อมูลมาคนละชุดจากหน่วยบริการนักท่องเที่ยว “อุทยานแห่งชาติภูกระดึง” ผมกวาดสายตาอ่านคร่าวๆ แล้วเก็บมันลงในกระเป๋าด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า อยากเผชิญปัญหาและแก้ไขอุปสรรคเฉพาะหน้า
อีกไม่กี่อึดใจข้างหน้านี้ ผมเชื่อว่า คุณค่าของชีวิตอยู่ที่การเผชิญปัญหาและหามาตรการจัดการอุปสรรคให้ทุเลาลงได้อย่างเหมาะสม
ผมมองหน้าเพื่อนร่วมทางครู่หนึ่ง ส่งความหมายทางใจให้รับรู้ แล้วหันไปมองเส้นทางเบื้องหน้าที่เราจะพากันเดินขึ้นไป ขณะนั้นในใจผมคิดว่า เส้นทางเดินเท้าที่เราไม่เคยเดินผ่านราวกับเป็นเส้นทางชีวิตจำลองของมนุษย์ที่มิอาจล่วงรู้อนาคตได้เช่นกัน
แต่มนุษย์ ย่อมมีจุดมุ่งหมายกลบซ่อนไว้ภายในเป็นปัจเจกชนเสมอ...เหมือนพวกเราในขณะนี้ ที่ต้องการฝ่าฟันอุปสรรค ความเหนื่อยยากทั้งปวงเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย “ยอดภูกระดึง”
...และยอดแห่งความสุขชีวิตอันเกิดดุลยภาพในอนาคต
แน่นอน...เมื่ออยากขึ้นสู่ยอดสูงสุด ก็ต้องเริ่มต้นเดินจากพื้นราบทีละก้าวๆ เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง..
พวกเราและนักท่องเที่ยวทุกคนไม่มีทางหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้ เพราะกฎธรรมชาติที่นี่คือ ต้องเดินเท้าทีละก้าวด้วยตัวเอง ไต่ไปตามทางลาดชันที่เต็มไปด้วยโขดหิน ขอนไม้ขวางกั้น พร้อมๆ กับทำร่างกายให้สมดุลกับแรงโน้มถ่วงของโลกเพื่อป้องกันการหกล้มลื่นไถลเจ็บตัว
เวลา 8.30 น. ณ ตีนภู ตรงป้อมยามทางขึ้น หลังจากถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก พวกเราเริ่มก้าวแรกเดินขึ้นสู่ยอดภูกระดึงตามทางเท้าเบื้องหน้า ก่อนมาที่นี่ หมู่มิตรบางคนบอกว่า เส้นทาง 5 กิโลเมตรตลอดการเดินเท้าไต่เขา ค่อนข้างลำบากและโหดร้ายกับร่างกายอันไม่คุ้นชินธรรมชาติมาก ผมยิ้มรับฟังข้อมูล ขณะที่ใจกลับกระหยิ่มและคิดว่า ประสบการณ์เคยเดินป่าเขามาบ้างคงรับศึกภูกระดึงได้สบาย
แต่เมื่อมาสัมผัสของจริง จึงรู้ว่าสิ่งที่คาดไว้นั้นผิดถนัดและได้เรียนรู้ถึง “ความลำบาก” ขณะเดินเท้าขึ้นภูสูงในวัยหนุ่มใหญ่ตอนปลายว่า รสชาติความเหนื่อยกระหายและร่างกายเมื่อยล้าแทบสิ้นเรี่ยวแรงเป็นประการใด
จากตีนภูถึงซำแฮก จุดพักจุดแรกห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร ผมคาดว่า คงเดินมาได้แล้วประมาณ 600 เมตรแต่กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นขาทั้งสองข้างเปล่งตึงปวดร้าว จังหวะก้าวเดินที่เคยกระฉับกระเฉงกลับค่อยๆ ช้าลง ขาเริ่มหนักขึ้น จิตใจมีอาการถดถอย ไม่มุ่งมั่น ขาดความกล้าที่จะทะยานให้ถึงจุดหมายข้างหน้าเสียแล้ว
ผมไม่ฝืนสังขารชายไทยวัยต้น 50 ปี ทรุดตัวลงนั่งพักเหนื่อย หอบแฮกๆ สลับกับสูดอากาศป่าเขาบริสุทธิ์เข้าไปทดแทนที่ขาดหายไประหว่างเดินทาง
...สภาพยามนั้นการสูดอากาศเข้าปอดไปตามจังหวะการเต้นของหัวใจระรัวเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของผม...
มนุษย์นับว่าแปลก พยายามไล่คว้าหาวัตถุสิ่งใหม่ให้ตัวเอง แต่ตัวตนภายในกลับมิค้นหา หรือตรวจสอบสิ่งเก่าที่ถูกกลบซ่อนเพื่อนำออกมาใช้ ซ้ำร้ายกลับมองว่า สิ่งเก่าที่มีอยู่และทำจนเกิดความ “เคยชิน” กลับเป็น “สิ่งไร้คุณค่า”
ราวกับความเคยชินเป็นม่านมืดปิดบังแสงแห่งคุณค่าไม่ให้เล็ดลอดออกมาเปล่งประกาย
ดุจตัวผมในยามนี้ หากไม่เหนื่อยจนหอบแฮกๆ ก็คงไม่รู้จักคุณค่าของอากาศหายใจ หรือนั่นเป็นเพราะผมเคยชินกับการหายใจ จนลืมไปว่ากำลังหายใจและอากาศทำให้มีชีวิตอยู่
ผมหยุดพักได้ประมาณ 10 นาที นักท่องเที่ยวลงจากภูชุดแรกผ่านผมไป บางคนยิ้ม บางคนพูดให้กำลังใจ บางคนเพียงมองผ่าน แต่แววตาทุกคนเต็มไปด้วยประกายมิตรภาพ ให้กำลังใจ บอกให้เราลุกขึ้นแล้วก้าวเดินไปสู่จุดหมายเหมือนพวกเขาที่ทำสำเร็จและเดินลงอย่างผู้ชนะในตัวเอง ผู้คนเหล่านั้นเป็นแรงฮึดให้ผมขยับขาสาวเท้าก้าวเดินต่อไป...
ผมมาถึง “ซำแฮก” พักดื่มน้ำ แล้วนอนแผ่หรา จนหายเหนื่อยจึงลุกนั่งรับลมเย็น ชมธรรมชาติ
ตรงจุดพักผ่านซำแฮก นักท่องเที่ยวสามารถชมทิวทัศน์โดยรอบเมืองภูกระดึงได้ถนัดตา ผมนั่งบนรั้วท่อนไม้ ใกล้หน้าผาด้านหนึ่ง สายตามองผ่านไอแดดยามสาย หุบเขาปกคลุมด้วยต้นไม้เล็กใหญ่ ไม่มีส่วนใดที่บ่งบอกร่องรอยว่า ถูกบุกรุกแผ้วถางทำไร่เหมือนภูเขาทางเหนือ แต่อย่างไรก็ตามภูเขากับป่าไม้ย่อมเป็นแหล่งกำเนิดของสายธารที่ไหลเป็นแอ่งน้ำสู่เมือง
ภูเขา ป่าไม้ และต้นน้ำลำธาร คือ สามสิ่งที่ “สมดุล” ของธรรมชาติ และสัจธรรมแห่งการดำรงอยู่ในบรรณพิภพ มนุษย์แต่ไหนแต่ไรมาอาศัยความสมดุลนี้ดำรงชีวิต มนุษย์ยังชีพด้วยแหล่งชีวิตในพื้นป่า ไม่ทำลายให้ย่อยยับ
แต่เมื่อสังคมเจริญ วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า มนุษย์เชื่อว่าตนเองยิ่งใหญ่อยู่เหนือธรรมชาติ สามารถเอาชนะและควบคุมธรรมชาติได้ พยายามเอาธรรมชาติมารับใช้มนุษย์ สร้างเขื่อนเก็บน้ำเพื่ออนาคต
มนุษย์หารู้ไม่ว่า ธรรมชาติลึกลับมากเกินกว่าจะเข้าถึง แม้การเข้าถึงด้วยฐานะนักท่องเที่ยวก็ได้เพียงอาการเชยชมเปลือกนอก ชื่นชมเพียงความสวยงามของมวลดอกไม้เท่านั้น
สำหรับธรรมชาติแล้ว กลับสร้างความสมดุลใหม่ ในสถานการณ์ใหม่ และหันกลับมาทำร้ายมนุษย์ด้วยภัยพิบัตินานัปการ
นักท่องเที่ยวคนหนึ่งเป็นชายผิวขาว อายุกลางคน บุคลิกบอกได้ว่า เป็นคนมีฐานะดี...เขามาเที่ยวภูกระดึงอาจเป็นด้วยใจอยากสัมผัสธรรมชาติ ป่าเขา และตรวจสอบสมรรถภาพร่างกาย และแล้วสภาพร่างกายของเขาไม่ผ่านการทดสอบบนทางเดินขึ้นภูกระดึง เขาทรุดตัวนั่งลงพักเหนื่อยหลังจากเดินขึ้นภูได้ไม่ไกลนัก ในที่สุดต้องเรียกหาคนหาบสัมภาระเอาแคร่หามนักท่องเที่ยวคนนี้ขึ้นสู่ยอดภูกระดึง
ชายคนนี้ แม้ร่างกายเขามิอาจทนทานต่อแรงดึงดูดของโลก ไม่อาจเดินไปสู่เป้าหมายบนยอดภูสูงได้ด้วยกำลังกายของตัวเอง แต่มนุษย์ย่อมมีหนทางที่แตกต่างกันเพียงขอให้มี “ใจมุ่งมั่นที่จะไปถึง” เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวคนนี้เขามีใจไม่ยอมแพ้ เขามีเป้าหมายบนยอดภู เขาจึงเลือกวิถีทางควักเงิน 2,000 บาท เป็นค่าจ้างชายฉกรรจ์ 4 คนแบกหามเขาไปสู่ยอดภู
ขณะที่ผมหายเหนื่อย กำลังพยุงกายลุกเดินออกจากซำแฮกไปยังจุดหมายอื่น แคร่หามนักท่องเที่ยวคนนี้เพิ่งมาถึง เสียงเพื่อนฝูงต่างตะโกนเย้าแหย่เพื่อนที่นั่งอยู่บนคานหาบอย่างเป็นสุข นักท่องเที่ยวคนอื่นเห็นภาพต่างพากันรุมถ่ายรูป แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้ในบรรยากาศขณะนั้น คือ ไม่มีใครมองชายคนนั้นด้วยสายตาเชิงลบ ทุกคนอาจให้กำลังใจต่อร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยนั้น ขอให้เขาไปถึงที่หมายต้องการตามวิถีทางของเขา ซึ่งมันเป็นวิถีทางที่ไม่ได้เบียดเบียนใคร
ผมละสายตาจากแคร่หามเพื่อนนักท่องเที่ยว ก้าวเดินจากซำแฮก ผ่านป่าไม้เต็งรัง ทางเดินอันขรุขระที่มุ่งไปสู่จุดพักข้างหน้า คือ ซำกกซ่าง ซึ่งห่างไปอีกประมาณหนึ่งกิโลเมตร
ขาผมเริ่มอ่อนล้าอีกครั้ง แต่ต้องเดินต่อไปสลับกับการนั่งพักเหนื่อยเป็นระยะๆ ผมผ่านดงไผ่จากซำกกซ่างแล้วไปถึงจุดพักที่ซำกกโดน ตลอดทางเดินมีทั้งทางราบเรียบและปีนขึ้นเนินชัน แม้ทางเดินจะลำบากเพียงไร แต่ผมก็ไม่โดดเดี่ยว ยังมีเพื่อนนักท่องเที่ยวอีกหลายคนที่เดินขึ้นภูและมีหลายคนที่เดินลงภูสวนทาง ส่งยิ้มให้กำลังใจแก่กันและกัน...แน่นอนในความลำบากมนุษย์ย่อมมีมิตรภาพต่อกันเสมอ ผมรับรู้ถึงความรู้สึกนี้ได้
มาถึงซำกกโดน ผมประมาณว่า เดินมาได้แล้วครึ่งทางการปีนภู ทางข้างหน้าคงโหดมากกว่าที่เดินมาหลายชั่วลมหายใจเหนื่อยหอบ หมู่มิตรเคยบอกว่า เส้นทางเดินนับแต่ซำแคร่ไปถึงหลังแป คือ ความหฤโหดที่สุดของการเดินปีนเขาในเส้นทาง 5 กิโลเมตรของภูกระดึง...และผมกำลังเดินไปสัมผัสความโหดนั้นด้วยความเต็มใจ
แม้ทางข้างหน้าจะลำบากเพียงไรแต่ผมประมาณการว่า ร่างกายเริ่มชินและปรับตัวให้เข้ากับการเดินที่มีแรงดึงดูดของโลกด้วยแล้ว ตลอดการเดินทาง สมองผมคิดถึงความต้องการของเพื่อนนักท่องเที่ยวด้วยกัน พวกเขาต้องการสิ่งใดกันแน่ที่มาภูกระดึง ความสวยงามของธรรมชาติดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่ผานางแอ่น หรือนั่งมองแสงสีส้มของดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในยามเย็นที่ผาหล่มสัก หรือเพียงมาเพราะอยากมาและไม่เคยมาเท่านั้น
นักท่องเที่ยวจะมีความต้องการในใจเช่นไรมิอาจรู้ได้ แต่ในขณะนี้ ตลอดเส้นทางการเดินขึ้นภู ผมรับรู้บางอย่างในความรู้สึก รู้ว่า ลมหายใจของคนเดินทางได้รวยริน หอบระทวยเติมลงไปให้โขดหินตามทางเท้าที่ก้าวเดินมีชีวิตขึ้น
เส้นทางเดิน ลมหายใจของคนเดินทางแต่ละคนที่แตกต่างประสบการณ์ต่างหายใจเข้าออกได้ยินชัดเจนเมื่อเดินเข้าใกล้ เสียงหายใจของนักท่องเที่ยวอยู่ที่จุดมุ่งหมายในการปีนไต่ภูเพื่อไปรับรางวัลความสวยงามของธรรมชาติบนยอด แต่ลมหายใจของคนหาบสัมภาระ คือ รายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว คือการยังชีพของมนุษย์
แต่ทุกลมหายใจนั่น กลับมาผสมผสานกันในเส้นทางเดินเท้าขึ้นภู และเส้นทางสายนี้ได้กลายเป็นสิ่งเชื่อมผสานให้ใจมนุษย์เกิดความสมดุลในวิถีแห่งมนุษย์ขึ้นเพราะทุกคนคือ นักเดินทางที่พ่นลมหายใจให้เติมเต็มกับเส้นทางหฤโหดสายนี้
ผมออกจากซำแคร่เมื่อเวลาบ่ายแล้ว ผมใช้เวลานั่งพักเหนื่อยที่นี่นานกว่าจุดอื่นเพราะต้องเตรียมแรงเพื่อเผชิญหน้ากับเส้นทางข้างหน้า ซึ่งเป็นทางโขดหิน ลาดชัน และต้องไต่บันไดทอดปีนหน้าผาชันแต่ละช่วง ซึ่งผมนับดูแล้วมีบันไดมากถึง 6 แห่ง
เส้นทางตรงจุดนี้หฤโหดสมคำร่ำลือเอาเสียจริง เพียงแค่ออกจากซำแคร่ก็ต้องปีนข้ามโขดหินไปตามทางที่ชันขึ้นภูเสียแล้ว เสียงเพื่อนนักท่องเที่ยวที่เดินลงมาบอกกับเราว่า อีกไม่กี่อึดใจจะถึงหลังแป เป้าหมายสุดท้ายที่เราต้องการ เพราะนั่นหมายถึงการเดินเท้าทางราบ ไม่ต้องได้ปีนภูอีกแล้ว
หลายอึดใจผ่านไป ปีนขึ้นบันไดไปสู่หน้าผาแล้ว หน้าผาเล่า ผมยังมาไม่ถึงหลังแปเสียที ผมยอมรับว่าช่วงนี้เหนื่อยเอามาก ช่วงที่ผมกำลังพยุงตัวเองปีนข้ามแต่ละโขดหิน เพื่อนนักเดินทางที่เดินสวนทางมา พูดให้กำลังใจก่อนเดินจากไปว่า “เหลืออีกไม่ไกลแล้ว” ผมฮึดสู้เพราะรู้ว่ากำลังจะถึงเป้าหมายแล้ว
ผมปีนขึ้นมายืนบนหลังแปเมื่อเวลาบ่ายสองกว่าๆ เสียงตะโกนของเพื่อนนักเดินทางให้ผู้คนที่กำลังปีนป่ายอยู่เบื้องล่างได้รับรู้ถึงความสำเร็จดังขึ้นเป็นระยะๆ บนหลังแปจะมีป้ายเขียนข้อความราวกับให้รางวัลแก่นักท่องเที่ยวที่ไต่มาถึง
ป้ายบนหลังแปเขียนว่า “เราคือผู้พิชิตภูกระดึง สูง 1,288 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง” ส่วนมากนักท่องเที่ยวจะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก และจากจุดนี้ไปต้องเดินทางราบไปอีกประมาณ 3.8 กิโลเมตรจึงถึงจุดบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดพักค้างคืน นอนชมดาว สัมผัสอากาศกลางคืนหนาวเย็นบนยอดภูกระดึง
คืนนี้บนยอดภูกระดึง...ผมนอนหลับยาวด้วยความอ่อนเพลีย เก็บรับความรู้สึกดีๆ ระหว่างเส้นทางเดินเท้าขึ้นสู่ยอด ในความคิดและเป้าหมายนักท่องเที่ยวย่อมแตกต่างกัน หลายคนอาจต้องการเสพสุขกับภาพธรรมชาติสวยงาม ดูน้ำตก ชมดอกไม้หลากสีและหลายชนิด ตื่นเช้าเฝ้านั่งชมพระอาทิตย์ขึ้นอยู่หน้าผานางแอ่น
ธรรมชาติสวยงามเหล่านั้น อาจเป็นรางวัลที่สร้างพลังให้นักท่องเที่ยวมาถึงยอดภูกระดึง แต่ท่ามกลางความสวยงามของธรรมชาติย่อมมีอันตรายเสมอ เจ้าหน้าที่อุทยานเล่าว่า ที่ผาหล่มสัก กับผานางแอ่น ได้ลากดึงชีวิตนักท่องเที่ยวให้ดำดิ่งสู่ก้นเหวมาแล้ว 2 คน เพียงเพราะตื่นเต้นกับธรรมชาติสวยงามจนขาดความระมัดระวังในการหาจุดยืนถ่ายรูปเป็นที่ระลึก แล้วลื่นพลัดตกลงไป โชคดีไม่ตายเพียงพิการเท่านั้น
แต่สำหรับผมแล้ว คุณค่าการมาภูกระดึงอยู่ที่การใช้พลังทุกสรรพส่วนของร่างกายไต่ปีนภูข้ามโขดหิน ขึ้นสู่ยอด ตลอดเส้นทาง 5 กิโลเมตร ราวกับเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยลมหายใจของผู้คน เป็นลมหายที่ใช้พลังระบายออกมาให้หมดไส้หมดพุงและสูดรับอากาศใหม่เข้าแทนที่และเพื่อการมีชีวิตในวันหน้า
เส้นทางปีนภู ช่างเป็นเส้นทางชีวิตที่ก้าวเดิน เป็นเส้นทางที่ฝึกให้เราได้สร้างความสมดุลระหว่างร่างกาย ธรรมชาติ และแรงโน้มถ่วงของโลก แน่นอน...ความสมดุลที่ร่างกายกระทำขึ้นระหว่างเดินทางนั้น มันอยู่ที่การโน้มตัวลงต่ำ หน้าก้มมองดินเพื่อเดินขึ้นสู่ที่สูง
มนุษย์หากต้องการเดินไปให้สูง ต้องก้มหน้ามองดินเสมอ
ดินคือรากของชีวิตที่ประสบความสำเร็จ คุณค่าของดิน ของประชาชนรากหญ้าจึงมีค่ามากกว่าหอคอยงาช้างที่อยู่ในห้องแอร์โอ่โถง เย็นฉ่ำ
มนุษย์เมื่ออยู่ที่สูง หากไม่เหลียวแล และลืมดิน ย่อมไม่มีคุณค่าให้นับถือ จดจำ
...................................................................................................................................................
+ สู่ “ภูกระดึง” ชมทะเลภูเขา หนาวสุดในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู
การเดินทางไปภูกระดึงแหล่งท่องเที่ยวที่ได้ชื่อว่า “ดินแดนแห่งทะเลภูเขา หนาวสุดในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู” สะดวกง่ายดายทุกเส้นทาง ถ้าไปจากกรุงเทพฯนั่งรถสาย “กรุงเทพ-เลย” ที่สถานีขนส่งหมอชิต ไปลงที่ “ผานกเค้า” แล้วต่อรถสองแถวสีแดงค่าโดยสารคนละ 20 บาท เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
หากมาจากภาคเหนือ ควรนั่งรถมาลงที่จังหวัดขอนแก่นแล้วต่อรถโดยสารสาย “ขอนแก่น-เลย” ซึ่งรถสายนี้จะเข้าสู่อำเภอภูกระดึงทันที จากนั้นต่อรถไปสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อีกประมาณ 5 กิโลเมตร ส่วนราคาค่าโดยสารเจรจากันเอาเอง แต่เช่าเหมาไม่น่าเกิน 100 บาท
อำเภอภูกระดึงเป็นเมืองเล็กๆ สถานที่ราชการและย่านค้าขายตั้งยาวไปตามริมถนนที่ทอดไปสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง สิ่งสำคัญนักท่องเที่ยวควรเตรียมเงินให้พร้อมไว้ยังจุดหมายสุดท้ายที่สามารถเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็มได้คือ อำเภอชุมแพ หากหวังไปกดเงินที่อำเภอภูกระดึงอาจผิดหวังได้
ในแต่ละปีอุทยานแห่งชาติภูกระดึงจะเปิดบริการนักท่องเที่ยวเพียง 8 เดือน คือตั้งแต่ตุลาคม-พฤษภาคมของทุกปี นอกนั้นทำการปิดเพื่อปรับปรุง แต่ช่วงอันเหมาะสมกับการขึ้นเที่ยวยอดภูคงจะเป็นเดือนพฤศจิกายน-สิ้นเดือนมกราคม เพราะเป็นหน้าหนาว ธรรมชาติบนยอดภูจะสวยงามเป็นพิเศษ หนำซ้ำผิวกายยังได้สัมผัสปุยหมอกหนาวบางเบา เย็นชื่นใจ
ข้อมูลจากเอกสารอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ระบุว่า ภูกระดึงมีพื้นที่ประมาณ 348 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 217,500 ไร่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย 1,200 เมตร จุดสูงสุดคือ บริเวณคอกเมย สูง 1,316 เมตร ภูมิประเทศเป็นภูเขาทรายหินตัดลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้ลำห้วยสายต่างๆ ที่เกิดจากแหล่งน้ำบนภูเขาไหลไปรวมกันทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วไหลผ่านร่องเขาด้านล่างของฐานภูกระดึงไปบรรจบกับลำน้ำพองโคเป็นต้นน้ำของลำน้ำพอง แล้วไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ในจังหวัดขอนแก่น
ด้วยการไม่เคยมาเที่ยวภูกระดึงเลย ก่อนมาพวกเราได้รับข้อมูลจากหมู่มิตรที่ผ่านการเดินเท้าไต่เขาลูกนี้มาแล้วว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องสวมรองเท้าผ้าใบรัดส้นให้กระชับเพื่อสะดวกต่อการเดินเท้าและป้องกันเท้าพลิกแพลงเมื่อยามก้าวข้ามโขดหินผิดพลาด หรือกันฝ่าเท้าเจ็บบวมจากแรงกระแทกเดินขึ้น-ลงภูเขา
เราเลือกมาเยือนภูกระดึงในช่วงหน้าหนาวกลางเดือนธันวาคม โดยตั้งความหวังในใจอยากสัมผัสอากาศหนาวเย็นบนยอดภูให้สมกับคำร่ำลือว่า “หนาวสุดในสยาม” ซึ่งพวกเราไม่ผิดหวัง เพราะช่วงที่มานั้น แม้เป็นกลางวันแต่อากาศตีนภูยังเย็นสบายๆ ยิ่งเป็นกลางคืนบนยอดภูด้วยแล้วถึงกับหนาวสั่น มีลมหนาวพัดวูบต้องผิวกาย ขนลุกชัน แล้วผ่านเลย และสรรพสิ่งสงบนิ่งกับความเย็นชื้นของธรรมชาติท่ามกลางแสงจันทร์ครึ่งดวง หมู่ดาวระยับเต็มม่านฟ้า
บริเวณตีนภู ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งที่ทำการของเจ้าหน้าที่ ข้อมูลจากเอกสารอุทยานฯ บอกว่า นอกจากมีเจ้าหน้าที่ชาย-หญิงประมาณ 40 คน (แบ่งเป็นข้าราชการ 3 คนนอกนั้นเป็นลูกจ้าง) คอยบริการนักท่องเที่ยวตามภารกิจด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพแล้ว สถานที่โดยรวมดูสะอาดสวยงาม และมีห้องน้ำ ห้องสุขาสะอาดๆ จัดไว้ทุกทิศทางเพื่อความสะดวกของนักเที่ยวแดนไกล
ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเฉียดแสนคนมาไต่เขาขึ้นภู ข้อมูลของอุทยานฯย้อนหลัง 5 ปีมีนักท่องเที่ยวรวมแล้วมากกว่า 4 แสนคน ดังนั้นจึงมิแปลกใจเลยว่า ทำไมต้องมีห้องน้ำ ห้องสุขาตั้งอยู่โดยรอบ และมีชาวบ้านมายึดอาชีพรับจ้างแบกหามสัมภาระอีกประมาณ 400 คน เอาหยาดเหงื่อแลกรายได้ประมาณวันละ 500 บาทต่อเที่ยวหาม (แต่ไม่ได้ทุกวัน)
เจ้าหน้าที่ภูกระดึงอนุญาตให้นักเที่ยวขึ้นสู่ยอดภูได้ทุกวันตั้งแต่เช้าถึงบ่ายสองโมง หลังจากนั้น ทางขึ้นภูจะถูกปิดด้วยเหตุผลไม่ปลอดภัยกับการเดินเท้าและเกรงจะไปรบกวนเวลาหาอาหารของสัตว์ป่ายามค่ำคืน นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าผ่านทางขึ้นภูคนละ 20 บาท
ขอเตือนไว้ตรงนี้ว่า สัมภาระหนักทุกชิ้นควรจ้างลูกหาบขึ้นไปจะสะดวกกว่า เพียงเสียค่าบริการกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งจัดว่าคุ้มค่ากับการเดินตัวเปล่าบนเส้นทางไต่เขาอันยากลำบากข้างหน้า
ก่อนมาเที่ยวผมได้รับข้อมูลจากหมู่มิตรว่า เส้นทางเดินเท้าจากนี้ไปประมาณ 5 กิโลเมตร จะต้องไต่ข้ามโขดหินเป็นบางช่วง จึงจะถึงจุดหมายยอดภูตรงที่เรียกว่า “หลังแป” รวมใช้เวลาเดินราวๆ 6-8 ชั่วโมงตามสภาพสังขาร กำลังและความคุ้นชินของแต่ละคน
นักท่องเที่ยวหน้าใหม่ในการเยือนภูกระดึงอย่าได้กังวลไปเลย เพราะตลอดเส้นทางสูงลาดชันประมาณ 60-70 องศา จนต้องใช้ไม้ไผ่ค้ำยันการทรงตัวนั้น จะมีจุดพักให้ชมทิวทัศน์ มีร้านค้าขายอาหารเครื่องดื่มไว้บริการนักท่องเที่ยวยามหิวและเหนื่อยล้า เช่น ซำแฮก ซำกกซาง ซำกกโดน และชำแคร่ แล้วก็ถึงหลังแปที่อยู่บนความสูงประมาณ 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ข้อมูลของอุทยานบอกว่า หลังแปเป็นลานกว้างประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 37,500 ไร่ เป็นที่ราบคล้ายใบบอน ลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นจุดกำเนิดลำห้วยสายต่างๆไหลทอดผ่านซอกโขดหินลงสู่เบื้องล่างเป็นสายน้ำ ลำธารหล่อเลี้ยงชีวิต
ลานกว้างของหลังแปเต็มไปด้วยต้นสนทั้งชนิดสามใบกับสองใบ สลับกันต้นเฟิร์นเล็กๆ ที่ขึ้นอยู่กับพื้นดิน ต้นสนทอดตัวแทรกผ่านหมอกบางเบาปกคลุมเป็นภาพที่สวยงามของนักท่องเที่ยวมาก นี่คงเป็นภาพประทับใจแรกๆ หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการปีนภู
เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงเขตพักบนยอดภู (ซึ่งอยู่ห่างจากหลังแป ประมาณ 3.8 กิโลเมตร) ต้องไปรายงานตัวกับจุดบริการนักท่องเที่ยวก่อน เพื่อจะได้รับรู้กฎเกณฑ์ต่างๆ รับกุญแจเข้าบ้านพัก และสถานที่สำหรับให้กางเต็นท์นอน
ผมไปรับสัมภาระ เดินเข้าสู่ที่พักตั้งใจจะเอนหลังนอนสักตื่น แล้วจะไปผาล่มสักดูอาทิตย์ตกลับยอดเขา แต่เมื่อดูเวลาใกล้ค่ำ ผมต้องเปลี่ยนใจเป็นการพักเหนื่อยสักครู่เท่านั้นเพราะกลัวไม่ได้ไปผาหล่มสักที่อยู่ห่างออกไปถึง 9 กิโลเมตร เพื่อชมพระอาทิตย์ตกดิน
ผมเป็นเด็กบ้านนอก เห็นพระอาทิตย์ตกดินมาแต่เล็กจนโต ถึงอย่างไรผมก็ไม่ตื่นเต้นกับลำแสงสีส้มที่ค่อยๆ กลายเป็นสีดำมืดของกาลเวลากลางคืน การที่เราเห็นในบรรยากาศอันเคยชินจึงไม่รู้ถึงความแตกต่างของจิตใจภายใน...แต่ครั้งนี้ ในบรรยากาศธรรมชาติ มีเพื่อนนักท่องเที่ยวมากมาย มีความเงียบ ได้ยินเสียงลมหนาวพัดผ่าน พระอาทิตย์ที่อยู่เบื้องหน้าผาหล่มสักช่างสวยงามยิ่งนัก และมันสวยยิ่งกว่าพระอาทิตย์ที่ผมเคยเห็นมา จนแทบไม่น่าเชื่อว่า นี่คือพระอาทิตย์ดวงเดิมที่เราเห็นอยู่เหนือหัวทุกพื้นที่ที่เราย่างกรายไปเที่ยว
บรรยากาศ ความตื่นเต้นภายในใจของนักท่องเที่ยว อาจเป็นเครื่องปรุงแต่งให้อาทิตย์ดวงเดิมเปลี่ยนเป็นดวงใหม่ที่ทอแสงออกมาอย่างมีพลัง ช่างเป็นภาพสะท้อนชีวิตคนเสียกระไร เป็นชีวิตเดิมๆ เส็งเคร็ง น่าเบื่อจำเจในแต่ละห้วงวัน หากได้เปลี่ยนสถานที่ พบบรรยากาศใหม่ พลังชีวิตใหม่ย่อมเกิดขึ้น ราวกับเติมเชื้อไฟชีวิตให้กลับมาเต็มอีกครั้ง
บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ
×
เว็บไซต์ “สยามธุรกิจ” ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)
กดยอมรับ