สัมผัสลำพูนเมืองรองท่องเที่ยว ลมหายใจแห่งศิลปะวัฒนธรรม

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สัมผัสลำพูนเมืองรองท่องเที่ยว ลมหายใจแห่งศิลปะวัฒนธรรม


จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดเล็กๆ ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงเศษ เดิมทีจังหวัดแห่งนี้ มีฐานะเป็นเพียงแค่ทางผ่านสำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่คนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมักใช้เวลาอยู่ที่ลำพูนเฉลี่ยเพียงแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น นั่นจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อพิจารณาถึงอัตราการพำนักของนักท่องเที่ยว เฉลี่ยอยู่เพียงแค่ 2 วันเท่านั้น

อย่างไรก็ดีภายหลังจากรัฐบาลได้มีนโยบายมาส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยจัดสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีให้ คือ ผู้ที่เดินทางไปเที่ยวยังเมืองรองสามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าที่พัก ค่านำเที่ยว ไม่เกิน 15,000 บาท มาหักภาษีได้ จังหวัดลำพูนเองก็ได้รับผลประโยชน์ตามนโยบายไปด้วย เพราะลำพูนนับว่าเป็น 1 ใน 55 จังหวัดเมืองรองที่รัฐบาลส่งเสริมให้เป็นจังหวัดที่ควรค่าแก่การเดินทางไปท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือตอนบน

ทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยวของลำพูนนั้น มีอยู่หลากหลาย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ด้วยความที่ลำพูนเป็นเมืองเก่าโบราณ และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตคนมาแล้วรุ่นต่อรุ่น ทำให้ในปัจจุบันทุกภาคส่วนได้หันมาทำการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของลำพูนอย่างเต็มที่ เพื่อหวังให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาเยือน เพื่อกระจายรายได้ลงไปยังชุมชนได้มากขึ้น

ก่อนที่จะเดินทางไปสัมผัสลำพูนอย่างลึกซึ้ง ก็อยากจะเล่าประวัติความเป็นมาของลำพูนให้รับทราบกันสักนิด สำหรับจังหวัดลำพูน มีชื่อเดิมว่าเมือง “หริภุญชัย” เป็นเมืองเก่าแก่มีอายุประมาณ 1,300 – 1,400 ปี ตามตำนานเล่าสืบต่อกันว่า ฤาษีวาสุเทพเป็นผู้เกณฑ์ชนชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น เมื่อสร้างเสร็จก็ได้ส่งทูตไปเชิญราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้ คือ “พระนางจามเทวี” มาเป็นกษัตริย์ปกครองเมือง ก่อนสืบวงศ์กษัตริย์ต่อมาอีกหลายพระองค์

จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบา จึงได้เสียการปกครองให้แก่ “พ่อขุนเม็งรายมหาราช” ผู้รวบรวมแว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา แม้ว่าเมืองหริภุญชัยจะถูกปกครองอยู่ภายใต้อาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้มีการถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมให้กับผู้มาปกครอง ดังหลักฐานที่ปรากฏทั่วไปในเมืองเวียงกุมกาม เชียงใหม่ และเชียงราย

และมาจนเมื่อถึงสมัย “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เมืองหริภุญชัยจึงได้เข้ามาอยุ่ในราขอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ “พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์” ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดปกครองจนถึงปัจจุบัน และด้วยความที่จังหวัดลำพูนมีต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่มากแล้ว ดังนั้นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จึงล้วนแต่เต็มไปด้วยความงดงาม โดยเฉพาะ “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน สร้างขึ้นสมัย “พระเจ้าอาทิตยราช” ภายในวัดมี “พระบรมธาตุหริภุญไชย” มีอายุมากกว่า 1,000 ปี เป็นปูชนียสถานสำคัญและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูนมาอย่างยาวนาน ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมธาตุในโกศทองคำ โดยองค์พระธาตุเป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยสีทองอร่าม ตามประวัติกล่าว พระเจ้าอาทิตยราช ได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำบรรจุพระบรมธาตุไว้

ต่อมา “พระเจ้าติโลกราช” กษัตริย์ครองนครเชียงใหม่ได้ทรงกระทำการปฏิสังขรณ์บูรณะ เสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ การสร้างคราวนี้ได้สร้างโครงขึ้นใหม่เป็นรูปแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถการเดินทางมากราบสักการะพระธาตุหริภุญชัยได้ เพราะพระธาตุหริภุญชัย นับเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของปีระกาตามความเชื่อคติทางล้านนา

อีกสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่น่าสนใจ และใครที่มาลำพูนต้องไปเยือนให้ได้สักครั้ง คือ “วัดมหาวันวนาราม” ซึ่งเคยเป็นอารามหลวงของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญไชย ภายในวัดมีพระพุทธสิกขีปฏิมากรเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่พระนางจามเทวีอัญเชิญมากจากเมืองละโว้ ชาวเมืองเรียกระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระรอดหลวง” ซึ่งเป็นต้นแบบของ“พระรอด” ใน “พระเครื่องเบญจภาคี” ที่มีมูลค่าสูง และมีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย

ทั้งนี้ อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ยอมรับว่า ตอนนี้จังหวัดลำพูนพร้อมต้นรับนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเที่ยว โดยได้จัดเตรียมเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภายใต้แพ็กเกจในโครงการ “ไทยเที่ยวไทย...ไทยยั่งยืน” ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ อีกทั้งจังหวัดลำพูนยังได้มีการประกาศให้เป็นเมืองสะอาดปราศจากโฟม ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของประเทศไทยอีกด้วย




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ