“เที่ยวชมวิถีชุมชน” คุยกับคนพันธุ์แกร่งเสริมหัวใจแข็งแรง

วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

“เที่ยวชมวิถีชุมชน” คุยกับคนพันธุ์แกร่งเสริมหัวใจแข็งแรง


ได้ฟังข่าวว่าประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในโลกแล้วนึกสะท้อนใจ แต่คำว่า “รวย” หรือ “จน” ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่น่าสนใจ เท่ากับการได้ยินว่า คนไทยสามารถอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเองอย่างมีความสุข

สยามธุรกิจ” ได้เดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เพื่อพบกับชุมชนที่ได้รับการพัฒนาจนมีความเข้มแข็ง และเป็นต้นแบบของการอยู่อย่างสง่างาม ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจนักในทุกวันนี้

มุ่งหน้าสู่ ต.เมืองปัก อ.ปักธงชัย เข้าสู่อาณาบริเวณของ “ฅญาบาติก” โอทอปขึ้นเครื่องบิน1 ใน 8 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจาก กรมการพัฒนาชุมชน  เราได้พบกับการรวมตัวของชาวบ้าน ทั้งผู้ทอผ้าไหม กลุ่มตัดเย็บ รวมทั้งนวัตกรรมการทำผ้าไหมบาติกที่แตกต่างจากการทำบาติกโดยทั่วไปซึ่งใช้น้ำเทียนในการเดินเส้นเพื่อจำกัดพื้นที่ในการลงสี มาเป็นการลงเส้นด้วยกาวนวัตกรรมพิเศษที่คิดค้นขึ้นเอง

ชนัญญา ดรเขื่อนสม” เจ้าของแบรนด์ “ฅญา” กล่าวว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง เธอหันหลังให้กับการเป็นลูกจ้าง มาเย็บผ้าขายส่ง และได้รับการอบรมอาชีพเขียนผ้าบาติก แต่ก็พบว่าการเขียนผ้าบาติกแบบปกติมีความยุ่งยากและใช้เวลานาน จึงมองหาวิธีที่ง่ายกว่านั้น จึงคิดค้นกาวชนิดพิเศษที่สามารถใช้เดินเส้นแทนน้ำเทียนได้ แล้วนำน้ำเทียนมาปิดช่องว่างให้เกิดพื้นของลวดลายแทน เกิดเป็นเส้นสายบาติกที่แปลกตาไปจากบาติกโดยทั่วไปและยังออกแบบลายที่ถ่ายทอดถึงวิถีแห่งวัฒนธรรมอีสานออกมาได้ อย่างลายผืนดินแตกระแหง ลายที่เล่าเรื่องไม้กลายเป็นหิน พัฒนาจนได้รับรางวัลโอทอป 5 ดาว และได้รับการคัดเลือกให้จำหน่ายในแคตตาล็อคสินค้าของการบินไทยในปัจจุบัน

ฅญาไม่ได้ลอกเลียนใคร เพราะเรารู้ว่า ในเส้นทางบาติกทั่วไป เราไม่สามารถสู้ได้ จึงมองหาแนวทางของตัวเอง และนำเอาผ้าไหม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นเข้ามาประยุกต์ เกิดการรวมกลุ่มของเครือข่ายในพื้นที่ และมีผู้เข้ามาขอศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก”

ที่ศูนย์ศึกษาผ้าไหมบาติกแบรนด์ฅญา เราได้ทดลองเขียนผ้าบาติกในรูปแบบของฅญา ซึ่งคณะผู้เข้าชมอื่นๆ สามารถติดต่อเข้ามาขอชมงานและเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ แถมยังได้ชิมอาหารพื้นถิ่นอย่างผัดหมี่โคราชที่เคียงมากับส้มตำ เป็นรสชาติดั้งเดิม หอม สด รสชาติดีเยี่ยม ผู้ที่มาเป็นคณะสามารถติดต่อขอทำกิจกรรมพร้อมอาหารได้แต่ที่พิเศษมากในวันนี้คือ ลูกกอล์ฟ ชาริณีย์ ขุดโพธิ์ มิสแกรนด์นครราชสีมา ปี 2016 ได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมและสวมใส่ชุดผ้าไหมบาติกโชว์ให้ทุกคนได้ชื่นตาชื่นใจอีกด้วย

ปัจจุบันมีชุมชนหลัก 4 แห่ง ร่วมกันเป็นเครือข่ายการผลิตผ้าไหมบาติก เพื่อส่งจำหน่ายในช่องทางต่างๆ เช่น ร้านคิงเพาเวอร์ และตัวแทนจำหน่ายในเมืองท่องเที่ยว ฯลฯ ราคาเริ่มต้น 550-3,000 บาท ได้รับการตอบรับที่ดีมากขึ้นเป็นลำดับ

สิ่งสำคัญที่เราได้พบคือ ความสุขและการพึ่งพาตัวเอง จากที่เคยเป็นลูกจ้าง รับค่าแรงเป็นเงินเดือนที่ไม่เคยพอกับค่าใช้จ่ายในเมืองหลวง มาเป็นการพึ่งพาตัวเองในบ้านของตัวเอง พอกิน พอใช้ พอเก็บ และได้แบ่งปันให้คนในชุมชนได้มีกินมีใช้ไปด้วยกัน

จากปักธงชัย เราเดินทางต่อไปยัง บ้านหลักเขต อ.หนองสาหร่าย ที่นี่ก็เป็นอีกแห่งที่ต่อยอดวิถีชุมชนด้านการเกษตรจนเป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงตัวเองได้ ชาวบ้านหลักเขต ทำเรื่องกล้วยให้เป็นเรื่องกล้วยๆที่แสนอร่อย จากเดิมกล้วยมีราคาตกต่ำมาก ขายได้แค่หวีละ 5 บาท ชาวบ้านได้ร่วมกันแปลงร่างกล้วยให้สวยและมีค่า เพิ่มราคาเป็นลูกละ 6 บาทโดยเฉลี่ย และมีการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกกล้วยพันธุ์ต่างๆ อาทิ “ปากช่อง 50” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีการส่งเสริมการปลูกกันมากในแถบนี้

วรรณวิภา ธุวะชาวสวน” ผู้ช่วยปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่บ้านหลักเขต เล่าว่า เธอเองเคยเป็นพนักงานห้างในกรุงเทพฯที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงลูก 2 คน   วันหนึ่งก็กลับมาบ้าน ได้รับการอบรมและพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  และเริ่มพัฒนาพื้นที่บ้านตัวเองในการเพาะปลูก ทั้งกล้วยที่สามารถแปรรูปในรูปร่วมกับชุมชนได้ และการปลูกต้นไม้รวม 10 ประเภทในพื้นที่ 1 ไร่ ทั้งพืชผักสวนครัวและไม้ผล  ปัจจุบันมีผลผลิตส่งขายทุกวันทั้งกะเพรา กระถิน ใบแมงลัก ฯลฯ โดยมีแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน และเป็นพืชผักที่ไม่มีสารพิษ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างรายได้เข้าครัวเรือนทุกวัน  นับเป็นสองชุมชนที่แข็งแกร่ง เป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆได้ โดยดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้วนำมาออกมาใช้ สร้างเครือข่ายการทำงานแบบพึ่งพาและแบ่งปัน เกิดรายได้หล่อเลี้ยงชุมชน

มาโคราชทั้งที เรายังแวะไปเที่ยวชมและชิมกันอีกหลายที่ บอกได้เลยว่าเป็นจังหวัดที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก มาแล้วไม่มีเบื่อ เพราะมีมุมมองหลากหลายให้ได้แวะเวียน แถมยังมีสภาพอากาศที่ดี เราแวะรับประทานอาหารและซึมซับบรรยากาศที่ร้านดัง “บ้านไม้ชายน้ำ”  เข้าพักที่ “ทองสมบูรณ์ คลับ” พบกิจกรรมสนุกๆ สไตล์คาวบอยและกิจกรรมแอดเวนเจอร์ให้เลือกเล่นกันจนลืมเหนื่อย ขากลับเราแวะร้าน “เป็นลาว” อาหารอีสานแนวใหม่ พร้อมเดินชมร้านค้าผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษในฝั่งตรงกันข้าม นับเป็นช่วงวันหยุดที่ได้ทั้งความสนุกและความรู้ เป็นความสุขใจลึกๆ เมื่อได้ยินว่า กรมการพัฒนาชุมชนยังมีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนให้เติบโตต่อไป เฉพาะสินค้าโอทอป ที่วางเป้าหมายถึง 2 แสนล้านในปี 2562ได้ฟังว่าเป็นเส้นทางที่ทำได้จริง ก็ยิ่งชื่นใจ

นับเป็นทริปท่องเที่ยวที่ได้พบมุมมองใหม่ๆ และยังคงเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกชุมชน ทุกคน ได้ดำรงชีวิตอยู่ในเส้นทางที่เรียกว่า รวยด้วยหัวใจ พออยู่ พอกิน พอใช้ และยิ้มกับชีวิตได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ใดก็ตาม

 

 

  

   

 

  

 

  

 

    

 




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ