จิบชาแก้หนาวที่เมืองน่าน

วันศุกร์ที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2560

จิบชาแก้หนาวที่เมืองน่าน


หลายปีก่อนผมมีโอกาสไปร่วมโครงการ Think Aseanที่จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) และชุมชนคนรักการถ่ายภาพในนาม Shutterismบรรยากาศการพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างเป็นกันเองภายในร้านกาแฟ”สุดกองดี” ริมน้ำน่านวันนั้นอบอวลไปด้วยมิตรภาพของผู้รักการเดินทางและเรียนรู้โลกผ่านเลนส์...

ไฮไลต์ของงานนี้อยู่ในช่วงบ่ายที่ทุกคนจะเดินทางไปยังหมู่บ้านศรีนาป่าน-ตาแวนเพื่อบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนที่ผูกพันกับไร่ชามากว่าสามร้อยปีพื้นที่แห่งนี้ถือเป็นพื้นที่อนุรักษ์โดยชาที่ปลูกเป็นชาอัสสัมนำมาจากแคว้นสิบสองปันนาและแคว้นสิบสองจุไทตั้งแต่สมัยบรรพบรุษที่อพยพมาตั้งรกรากที่นี่       หมู่บ้านชาแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 15 กิโลเมตรคนในบ้านศรีนาป่านตาแวนล้วนมีความเชื่อและนับถือเจ้าหลวงป่าเมี่ยงมาก(ยอดใบชาอัสสัมหรือชาป่านี้ชาวบ้านจะนำมาทำเป็นเมี่ยงจึงเรียกขานกันว่าป่าเมี่ยง ) ดังนั้นในบริเวณป่าจะไม่มีใครกล้าเข้าไปทำผิดหรือทำการลบหลู่แต่อย่างใด โดยข้อควรปฏิบัติของชุมชนเมื่อจะเข้าไปเดินในป่าต้องทำการนมัสการพระพุทธรูปและบอกกล่าวขอพรจากเจ้าหลวงป่าเมี่ยงก่อน ไม่พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดเวลาเดินป่าไม่ให้เดินออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่น การเซ่นไหว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยงพิธีกรรมหล่อเมี่ยง การเลี้ยงผีขุนน้ำ การแก้มข้าวใหม่ การสะเดาะเคราะห์การสักการะพระเจ้าทองทิพย์ และสืบทอดบริวารเจ้าหลวงป่าเมี่ยงซึ่งหากมองให้ลึกซึ้งแล้วขั้นตอนอันมากมายเหล่านี้ก็คือเครื่องมือในการพิทักษ์ผืนป่าและธรรมชาติในแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นนั่นเอง

            เมื่อถึงขั้นตอนการผลิตตั้งแต่เริ่มเก็บใบชาจนถึงการนึ่งหรือคั่วในกระทะขนาดใหญ่กลางลานบ้านก็เรียกความสนใจจากจากนักถ่ายภาพที่มาร่วมกิจกรรมกันจนต้องแย่งหามุมกันพอสมควร (รวมทั้งวิทยากรและทีมงานก็อดที่จะร่วมวงถ่ายภาพด้วยไม่ได้ )โดยเฉพาะการทำเมี่ยงหรือที่เรียกกันอย่างสนุกๆว่า “โอเล่ดอย” ของว่างขบเคี้ยวตั้งแต่โบราณที่ใช้ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเมี่ยงคือการนำยอดใบชาอ่อนมาผ่านการบ่มในโรงบ่มและเทคนิคต่างๆที่จะช่วยให้เกิดรสชาติแตกต่างกันไป เช่น นำไปแช่ในน้ำกระเทียมดองหรือผสมเกลือลงไป เป็นต้นในสมัยโบราณนั้นของว่างหลังอาหารของคนล้านนาคงไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าเมี่ยงดังนั้นหลังจากรับประทานอาหารแล้ว คนล้านนาก็พากัน "อมเมี่ยง”เพื่อให้รสและกลิ่นของอาหารที่กินเข้าไปและยังติดอยู่ในปากได้เจือจางลงคลายความเผ็ดความเค็มที่ติดปากอยู่ ช่วยเพิ่มบรรยากาศการพูดคุยกันหลังอาหารให้ออกรสออกชาติ โดยเคี้ยวเมี่ยงไปคุยกันไปนับเป็นการย่อยอาหารไปในตัวกาเฟอีนในใบชาที่นำมาทำเมี่ยงก็มีผลให้เกิดความสดชื่นโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องดื่มบำรุงกำลังใดๆทั้งสิ้น

   หลายคนที่อาจคิดว่าเมืองน่านมีเพียงวัดเก่าแก่อยู่ในตัวเมืองครั้งหน้าถ้าไปเยือนอาจได้ลิ้มรสชาเมืองน่าน




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ