ราชบุรีนับเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่องวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะอันงดงาม โดยเฉพาะเรื่องราวของการปั้นโอ่งมังกรที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วมานานหลายสิบปีจนวันนี้ทายาทผู้สืบทอดรุ่นลูกหลานได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาพัฒนาต่อยอดผลงานของคนรุ่นก่อนให้กลายมาเป็นงานศิลปะทรงคุณค่า จากโอ่งน้ำกลายมาเป็นงานเซรามิคสีสันสดสวยมีผู้คนสนใจสั่งซื้อกันทั้งในและต่างประเทศ ราชบุรีจึงคล้ายเป็นเมืองแห่งงานศิลป์ที่ศิลปินหลายแขนงมักจะมาจัดกิจกรรมแสดงความคิดและผลงานให้คนทั้งหลายได้ชม.....
และเช้าวันนึงในตลาดสดโค่ยกี่กลางเมืองราชบุรีท่ามกลางความเคลื่อนไหวอันวุ่นวายของชาวบ้านร้านตลาดที่ออกมาซื้อขายกันตามปกติก็ปรากฏร่างสูงเพรียวของบรรดานางแบบชาวตะวันตกเดินเยื้องย่างเข้าสู่กลางตลาดราวกับว่ามันคือแคทวอล์คหรูหราที่พวกเธอคุ้นเคย กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “ปกติศิลป์ อาร์ท นอร์มอล”ที่มีเสื้อผ้าแบรนด์ดังอย่าง Fly now มาออกแบบให้โดยใช้ดอกราชพฤกษ์อันเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดราชบุรีเป็นแนวคิดหลัก ผู้คนในตลาดหลายคนประหลาดใจหลายคนยิ้มแย้มสนุกสนานพูดจาหยอกล้อประมาณว่า “โอ้โหฝรั่งตัวสูงจังฉันไม่กล้าไปยืนใกล้ๆหรอก” หรือมีบางคนถามขึ้นลอยๆว่า อ้าวทำไมไม่ยิ้มบ้างเลย เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดีไซเนอร์และทีมงานต้องการให้เกิดตามธรรมชาติ ผมโชคดีที่พักอยู่โรงแรมเดียวกับคุณสมชัยแห่ง Fly now จึงได้มีโอกาสพูดคุยในรายละเอียด คุณสมชัยเล่าว่าสิ่งที่คิดมันคือการนำโลกสองใบมาทับซ้อนกันในช่วงเวลาหนึ่ง โดยนางแบบเก้าคนจากทั้งหมดสิบคนนั้นบินมาจากอังกฤษถึงเมืองไทยเวลาตีหนึ่งและมาแต่งหน้าทำผมที่ราชบุรีโดยยังไม่ได้นอนเลย
ขณะที่ทางบรรดาแม่ค้าเราก็ปล่อยให้เขาใช้ชีวิตปกติตามวิถีและเชื่อว่าสิ่งนี้จะสะท้อนบางอย่างของการมีอยู่ของตลาดสดได้ว่ามันมีคุณค่ามากพออย่างน้อยก็เพื่อให้ใครก็ตามที่จะมาจัดการทั้งในเชิงอนุรักษ์หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรจะได้ฉุกคิดถึงเรื่องเหล่านี้บ้าง ผมเองนั้นก็ยอมรับว่ามีความสุขกับการบันทึกภาพที่แปลกตารวมทั้งกริยาท่าทางของผู้คนในตลาดก็เป็นเสน่ห์ที่ปฎิเสธไม่ได้จริงๆ จบการเดินแฟชั่นโชว์ทางคุณอาร์ทผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสนง.เพชรบุรีผู้ชักชวนมางานนี้ก็เสนอว่าเราควรไปลิ้มรสบะหมี่เจ้าเก่าชื่อดังอย่างบะหมี่ ก๋ำเช้งข้างโรงพักให้สดชื่นหลังจากที่เมื่อคืนสนุกสนานอิ่มอร่อยกับร้านเสต็กฟรีเบิร์ดที่มีคุณปานอดีตเชฟโรงแรมห้าดาวมาเปิดบ้านให้บริการแบบกันเองจริงๆ (และรับรองว่าถูกใจคอศิลปะอย่างแน่นอน) ก่อนกลับเมืองกรุงเราแวะที่“ เถ้า ฮง ไถ่” โรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่คู่เมืองราชบุรีโดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ 2476 โดยนายซ่งฮง แซ่เตียและต่อมาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 คุณวศินบุรี(ติ้ว) สุพานิชวรภาชน์(ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในงานแฟชั่นครั้งนี้ด้วยช่วงที่เราไปถึงทางโรงงานกำลังจัดงานโดยมีท่านผู้ว่าราชการมาเป็นประธานด้านนอกมีบรรดาเด็กๆมาหัดทำงานศิลปะหลายอย่างท่ามกลางชิ้นงานเซรามิคที่เรียงรายดูคล้ายสนามเด็กเล่นเลยทีเดียว และทั้งหมดนั้นคือเรื่องราวแห่งเมืองช่างศิลป์อย่างราชบุรีนั่นเอง