ปวดไมเกรนออร่า เสี่ยงเส้นเลือดสมองแตก

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

ปวดไมเกรนออร่า เสี่ยงเส้นเลือดสมองแตก


ไม่ว่าใครก็คงเคยเจ็บป่วยด้วยอาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือที่เรียกกันว่า ปวดไมเกรน ซึ่งมักจะสร้างความเจ็บปวดรำคาญได้มาก
พ.ญ.อริยา ทิมา อายุรแพทย์ระบบสมองและประสาทวิทยา โรงพยาบาลรามคำแหง ได้อธิบายว่า อาการปวดศีรษะ คือ ความรู้สึกปวดที่ หน้า ศีรษะ ไปจนถึงคอ
สาเหตุของการปวดศีรษะสามารถแบ่งเป็น ปวดศีรษะที่มีสาเหตุ เช่น ปวดตาต้อหิน ความดันโลหิตสูง อุบัติเหตุทางสมอง เนื้องอกในสมอง ปวดฟัน ปวดกรามข้อต่อขากรรไกร แต่ส่วนใหญ่ประมาณ 90% มักปวดศีรษะแบบไม่ทราบสาเหตุ สามารถรู้สึกปวดแปล๊บเดียว เป็นพักๆ หรือ ปวดเรื้อรังก็ได้
ส่วนการปวดศีรษะแบบไมเกรนและโรคหลอดเลือดสมอง มีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษายืนยันชัดเจนว่า ไมเกรนที่ไม่มีออร่า มีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมอง แต่กลับพบว่า ไมเกรนมีออร่าพบความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นสองเท่า
สมาคม International Headache Society (IHS) แบ่งไมเกรนเป็น 2 ชนิด 1.ไมเกรนที่ไม่มีออร่า 2.ไมเกรนมีออร่า ซึ่งจะพบแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น โดยผู้ป่วย 33% พบว่ามีอาการไมเกรนทั้งสองแบบ
ไมเกรนแบบมีออร่า คือ ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นเช่น เห็นภาพเบลอไม่ชัดเจน หรือเห็นแสงเรืองรองเหมือนแสงออร่าก่อนที่จะมีอาการปวดศีรษะตามมา
กลุ่มที่มีไมเกรนแบบมีออร่าเกี่ยวพันกับการเพิ่มอัตราการเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบ โดยกลุ่มที่เสี่ยงสูงสุดคือ กลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ และสูงมากขึ้นในคนที่สูบบุหรี่และในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดและสูบบุหรี่
พบว่าหากทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็ก หรือ MRI ในคนที่เป็นไมเกรนจะพบจุดเล็กๆ ที่ตำแหน่งปลอกหุ้มประสาทในสมอง มากกว่าคนปกติ 4 เท่า โดยพบว่า จุดพวกนี้มีความสัมพันธ์กับปริมาณการความรุนแรง ความถี่ของการปวดศีรษะไมเกรน
จากผลศึกษาของประเทศฝรั่งเศสพบว่าในผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปี และมีไมเกรนออร่า มีความสัมพันธ์กับเส้น เลือดสมองตีบนอกก้านสมองด้วย
อาการไมเกรนออร่านั้นเกี่ยวข้องกับการยืดหดขยายตัวของเส้นเลือดฝอยทั่วสมอง จึงเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเส้นเลือดสมองแตกตีบ โดยพบว่าผู้เป็นไมเกรนออร่ามีปัจจัยเสี่ยงเส้นเลือดสมองแตกเพิ่มขึ้น 2.25 เท่า โดยเส้นเลือดสมองตีบจะพบเพิ่มขึ้นในคนสูงอายุขึ้น โดยมักเป็นที่ตำแหน่งเส้นเลือดฝอยในสมอง ซึ่งยังต้องรอการศึกษาโดยละเอียดต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นไมเกรน ควร ได้รับการตรวจตา ตรวจระบบประสาท เอกซเรย์สมองและตรวจหลอดเลือดสมอง เช่น อัลตร้าซาวด์หลอดเลือดสมอง (TCD Study) และคอ (Carotid Duplex)
หากพบผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้น (atheroma) การรับประทานแอสไพรินขนาดเล็กน้อยช่วยป้องกันเส้นเลือดสมองตีบได้ และยังพบว่าช่วยลดไมเกรนให้น้อยลงได้ ซึ่งการควบคุมปัจจัยตั้งแต่เนิ่นๆ ที่ยังไม่มีอาการสามารถลดอัมพาตที่รุนแรงได้
ส่วนในผู้ที่อายุน้อย จำเป็นที่ต้อง หาสาเหตุและติดตามใกล้ชิด เช่น ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ประกอบด้วยไขมันในเลือดสูงซึ่งอาจจำเป็นต้องรับประทานยาช่วย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ ดังนั้นจึงควรหยุดสูบบุหรี่และเลิกรับประทานฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิดกลุ่มที่มีเอสโตรเจนโดยเปลี่ยนเป็นชนิดโปรเจสโตเจน
ในผู้ที่ปวดศีรษะเพียงนานๆ ครั้ง มักไม่จำเป็นต้องรับประทานยาป้องกัน และการรับประทานยาป้องกันไมเกรนยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
นอกจากนี้ ยังไม่มี ข้อบ่งชี้ในการให้แอสไพรินในคนที่เป็นไมเกรนออร่าที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อป้องกันเส้นเลือดสมองตีบ เพราะมีโอกาสเลือดออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ