ข้อดีของการเที่ยวหน้าฝน หรือ Green Season คือภาพของต้นไม้ใบหญ้า ท้องฟ้าและป่าเขา ที่ชุ่มตา ชื่นใจ มองไปทางไหนก็รู้สึกสดชื่น โดยเฉพาะพื้นที่ราบสูงที่มีภูเขารายล้อมอย่างจังหวัดลำปาง
ลำปางยังไม่หนาว แต่ก็มีเรื่องราวให้ออกเดินทางค้นหา และครั้งนี้ลำปางก็สวยสด สนุกยิ่งกว่า กับเส้นทางท่องเที่ยวที่เหมาะกับทุกคนในครอบครัว โดยเป้าหมายของทริปนี้อยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา เหมืองแม่เมาะ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
เหมืองแม่เมาะ
เชื่อว่าหลายคนจะเคยได้ยินชื่อ“เหมืองแม่เมาะ” เพราะที่นี่เป็นแหล่งถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นผู้ดูแลเหมืองแม่เมาะมาตั้งแต่ปี 2512 ก่อนที่จะเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์เมื่อปี 2515 และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2528 มีกำลังผลิตกว่า 16 ล้านตันต่อปี สำหรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
เมื่อนึกภาพเหมือง ถ่านหิน หรือลิกไนต์ หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันน่าดูน่าชมตรงไหน แต่ด้วยแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรของชุมชนอย่างแท้จริง สภาพแวดล้อมที่เหมืองแม่เมาะ จึงเหมาะกับการท่องเที่ยวแบบสุด ๆ
พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา
ก่อนจะออกไปเที่ยวชมความงดงามของธรรมชาติที่รายล้อม แนะนำให้แวะชมเรื่องราวที่น่าสนใจในแหล่งเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ณ พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา ซึ่งอยู่บนเนินเขาภายในสวนพฤกษชาติของเหมืองแม่เมาะ
โซน 1 “นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ” นำเสนอพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจที่สำคัญในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงบุกเบิกกิจการพลังงานของไทย โดยหลังจากสำรวจพบแหล่งถ่านหินแม่เมาะตั้งแต่ปี 2460 จนมาถึงปี 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้เพื่อใช้ในทางราชการเท่านั้น ถือเป็นการวางรากฐานความมั่นคงด้านพลังงานของไทย
โซน 2 “จักรวาล โลก และถ่านหิน” เล่าเรื่องการกำเนิดจักรวาลจากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ สู่การรวมตัวของมวลสารและพลังงาน จนกลายเป็นกาแล็กซี่และโลก โซน 3 “จากผืนน้ำและแผ่นดิน” บอกเล่าถึงแหล่งถ่านหินลิกไนต์ และเรื่องราวทางธรณีวิทยาของสถานที่แห่งนี้
โซน 4 “พลังงานขับเคลื่อนไทย” นำเสนอศักยภาพของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งทรัพยากรถ่านหินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย นำไปสู่การผลิตกระแสไฟฟ้า หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศมาอย่างยาวนาน โซน 5 “มุ่งสู่อนาคต” เล่าเรื่องการผลิตไฟฟ้าโดยเชื่อเพลิงหลากหลายชนิด
โซน 6 “จุดเปลี่ยนโลกและวิทยาศาสตร์พื้นฐาน” แสดงถึงวิวัฒนาการและการค้นพบไฟฟ้าที่มีมานานนับพันปี วิทยาศาสตร์พื้นฐานเพื่อเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับไฟฟ้า และ โซน 7 “แม่เมาะ และชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” แสดงเรื่องความของ กฟผ. กับกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาชุมชนโดยรอบ
เราอาจจะเล่าเพียงสั้น ๆ แต่ความจริงในแต่ละโซน มีการออกแบบนิทรรศการที่น่าสนใจมาก ๆ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็เพลิดเพลิน วันนี้ได้ชมภาพยนตร์สั้นเล่าเรื่องเหมืองแม่เมาะในโรงหนังแบบ 4D ที่สนุกมากอีกด้วย
ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์ยังมีสกายวอล์กยื่นออกไป เป็นอีกจุดชมวิว และชมการทำงานของเหมืองในมุมไกล ๆ รายล้อมด้วยพันธุ์ไม้และการจัดสวนสวย ๆ
ศาลาชมวิวสวนพฤกษชาติ
ออกจากตัวพิพิธภัณฑ์ไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งของ “ศาลาชมวิวสวนพฤกษชาติ” หากมองไปออกไปไกล ๆ จะเห็นการทำงานของรถขุดเจาะในเหมือง ซึ่งคั่นด้วยแนวป่า เป็นภาพที่ตัดกันอย่างชัดเจน และบริเวณนี้เองที่เราจะใช้เวลากับ “ลานสไลเดอร์แม่เมาะ” กิจกรรมผจญภัยวัยเยาว์ที่ทำให้หลายคนนึกถึงอดีต
ใครเคยมาเที่ยวเหมืองแม่เมาะ จะพบเห็นบรรยากาศของสวนป่าขนาดใหญ่บนเนินเขา หน้าฝนถือเป็นอีกช่วงเวลาดี ๆ ที่จะได้พักสายตาไปกับความเขียวชอุ่มที่รายล้อม ที่นี่ยังมีสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม มีร้านอาหาร และบ้านพักให้บริการ
อีกมุมที่เป็นสัญลักษณ์ของเหมืองแม่เมาะ ทุกคนมาแล้วจะต้องแวะไปถ่ายรูปคือ รถคุณปู่ที่ปลดประจำการไปแล้ว เป็นรถบรรทุกเทท้ายเบอร์ 93 และรถขุดไฟฟ้าสุโขทัย เบอร์ 52 ซึ่งมองแล้วเหมือนกำลังจะแปลงร่างแบบในหนังทรานฟอร์เมอร์ส
สวนเฉลิมพระเกียรติ แม่เมาะ
อีกจุดไฮไลต์ในอาณาจักรของเหมืองแม่เมาะ อยู่ที่ “สวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา” ซึ่ง กฟผ.ได้จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9
บนเนินเขาแห่งนี้มีลานกว้าง มองเห็นทิวเขาที่รายล้อม กับผืนป่าขนาดใหญ่ จุดที่สุดของความชิลอยู่ที่ “สกายวอล์ก” ที่ยื่นออกไป เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากในช่วงหน้าหนาว ซึ่งทุ่งบัวตองจะชูสีสันเหลืองอร่ามไปทั่ว และจะมีการจัดงานประจำปีประมาณเดือนพฤศจิกายน
แต่ที่บอกไปแล้วว่าในช่วงหน้าฝน ก็สวยสดไม่แพ้กัน ขนาดตอนกลางวันยังบรรยากาศดี ลมพัดอ่อน ๆ สบาย ๆ ไม่ร้อน คิดดูว่าถ้าเป็นตอนเช้าและยามเย็นจะฟินขนาดไหน
สัมผัสรสชาติเมืองเหนือที่พรรคกระยาจก
ร้านพรรคกระยาจก เป็นร้านอาหารท้องถิ่นเมืองเหนือที่ตั้งแต่อยู่หน้า กฟผ.แม่เมาะ ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นหนึ่งในร้านที่ชาว กฟผ.โปรดปราน เสิร์ฟอาหารเมืองแท้ ๆ แต่ปรุงมาอย่างเข้มข้น ถูกใจไปตาม ๆ กัน
ร้านเล็ก ๆ ที่มีเมนูไม่มาก แต่คับแน่นด้วยรสชาติที่คิดถึง เรียกน้ำย่อยกับ “รังผึ้งย่าง” เนื้อเนียน หอม ตามมาด้วย “ลาบคั่ว” ซึ่งเป็นลาบทางเหนือ ทางร้านเขาทำพริกลาบเอง หอม เข้มข้น แต่ไม่เผ็ดจนเกินไป กินกับข้าวเหนียวลงตัวมาก ทางร้านเสิร์ฟผักมาอย่างจุใจ นอกจากนั้นก็มี “จอผักกาด” เป็นอีกเมนูพื้นถิ่นที่กินเพลิน
แต่ที่เรียกว่าท้าทายนักชิมต้องยกให้เมนู “แอ๊บอ่องออ” หน้าตาเหมือนห่อหมกย่าง เสิร์ฟมาอย่างสวย ว่ากันว่าเป็นเมนูที่หากินยาก และหาคนกินยากอยู่พอสมควร เพราะวัตถุดิบหลักคือสมองหมูนั่นเอง
วัดรัตนคูหา (ถ้ำผากล้วย)
ด้วยทำเลสวยกลางป่า ทำให้โรงไฟฟ้าเม่เมาะกลายเป็นจุดชมวิวระยะไกลที่เดินสายเที่ยวชมได้หลายจุด และอีกมุมสวยอยู่ที่ “วัดรัตนคูหา” เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขา เดิมเป็นสำนักสงฆ์ชื่อ “สำนักสงฆ์ถ้ำผากล้วย”
พระอุโบสถ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ มีบันไดนาคห้าเศียรและเจ็ดเศียร ภายในประดิษฐานพระไภษัทชยคุรุเขลางค์ (พระกริ่งเขลางค์) เป็นพระประธาน มีหน้าตักกว้างประมาณ 50 นิ้ว หล่อจากทองแดงบริสุทธิ์
บริเวณตีนดอยจะมีบันไดนาค 109 ขั้น ถ้าเดินขึ้นไปจะชมวิวได้สวยงามมาก แต่ปัจจุบันสามารถขับรถขึ้นไปได้
วัดพระธาตุลำปางหลวง
ออกจาก อ.แม่เมาะ มุ่งไป “วัดพระธาตุลำปางหลวง” อ.เกาะคา วัดเก่าแก่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 สถาปัตยกรรมแบบล้านยาที่งดงามมาก ภายในมีเจดีย์กลมทรงระฆังคว่ำ มีการปิดทองจังโกคล้ายแบบพุกาม เนื่องจากเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลู จึงถือเป็นพระธาตุประจำปีฉลู
วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วดอนเต้า” (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชาวลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านนา สลักด้วยหยกสีเขียว นอกจากนั้นยังมี “กู่พระเจ้าล้านทอง” ด้านหน้าวิหารหลวง “ซุ้มประตูโขง” ซึ่งมีศิลปะปูนปั้นอันงดงาม
ไฮไลต์ที่น่าอัศจรรย์ คือ เงาพระธาตุกลับหัว ซึ่งถือเป็น “เงาพระธาตุอันซีน” แห่งเมืองลำปาง ภาพปรากฎการณ์นี้จะลอดผ่านช่องผนังใน “หอพระพุทธ” ที่สร้างครอบรอบพระพุทธบาท ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นไป และช่วงนี้ก็ยังปิดให้เข้าชม อีกจุดในการชมพระธาตุกลับหัวอยู่ที่ “วิหารพระพุทธ” แต่ภาพที่ปรากฎจะไม่ชัดเจนเท่าที่หอพระพุทธ